เวทีผู้นำเยาวชนอาเซียน ระดมสมองหาทางแนวทางแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำยุคโควิด-19

เวทีผู้นำเยาวชนอาเซียน ระดมสมองหาทางแนวทางแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำยุคโควิด-19

เวทีผู้นําเยาวชนอาเซียน ระดมสมองเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในยุคโควิด-19 ชี้ถ้าไม่แก้ปัญหาการศึกษาก่อน ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นแก้ไขไม่ได้ยั่งยืน  ด้านกสศ. หนุนเครือข่ายเยาวชนอาเซียน ขยายผลโครงการนำร่อง นำการศึกษาไปให้ถึงเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ลดผลกระทบ COVID SLIDE  

เมื่อวันที่ 23-24 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมผู้นําเยาวชนอาเซียนเพื่อการริเริ่มนโยบาย ครั้งที่ 5 (Young ASEAN Leader Policy Initiative: YALPI) ภายใต้หัวข้อ “ผนึกกำลังผู้นำเยาวชนร่วมรับมือความเหลื่อมล้ำทางสังคมยุคโควิด-19” ซึ่งจัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

น.ส.อาทิมา สมเพาะ (ผักบุ้ง) หนึ่งในทีมผู้แทน YALPI ไทย กล่าวว่า YALPI  เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำเยาวชนอายุระหว่าง 18 – 25 ปีจากทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมที่หลากหลาย ภายใต้กรอบความร่วมมือภายในภูมิภาค ซึ่งในปีนี้เราชวนเยาวชนอาเซียนมาร่วมพัฒนาโครงการและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชุมชน มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งปรากฎขึ้นอย่างชัดเจน จากการระบาดของโรคโควิด-19 ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่  1) เด็กเยาวชนด้อยโอกาส 2) แรงงานสตรี และ 3) แรงงานข้ามชาติ 

การระบาดไม่เพียงคุกคามสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนเปราะบาง  แต่ยังสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต นโยบายป้องกันและตอบโต้โควิท-19 ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความจําเป็นและความต้องการของกลุ่มคนชายขอบต่างๆได้นําไปสู่ผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นต่อกลุ่มคนดังกล่าว และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาในกลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาส การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาเข้าสูระบบออนไลน์ซึ่งเป็นผลจากการแพร่กระจายของโรคโควิด-19

“โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่มีอยู่แล้วนั้นชัดเจนมากขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่กระทบชัดเจนที่สุด เพราะต้องหันไปเรียนออนไลน์กันหมด ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนอุปกรณ์ที่จําเป็นต่อการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ของครอบครัวยากจน ส่งผลให้อัตราผู้เลิกเรียนกลางคันในโรงเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นและเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มเยาวชนของอาเซียน มากไปกว่านั้นการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้เกิดการว่างงานจํานวนมาก ทําให้บางครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญในการพัฒนาแผนของทีมผู้นำเยาวชนอีกด้วย” น.ส.อาทิมา กล่าว

น.ส.อาทิมา กล่าวว่า ทีมเยาวชนจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย  สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 43 ทีม คัดเลือกจนได้  12 ทีมสุดท้าย ที่อยู่ระหว่างพัฒนาแผนปฏิบัติการ (Initiative Plan)  โดยแผนของทีมหรือ “white paper” ที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จะถูกนำไปพัฒนาต่อโดยองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วม ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร (NGO) ซึ่งปีนี้ประกอบด้วย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), มูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation), เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. – Equitable Education Fund : EEF)   

น.ส.กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี หรือ เน หนึ่งในตัวแทน YALPI ไทย กล่าวว่า การศึกษาเป็นพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน YALPI จึงตระหนักได้ว่า “ถ้าปัญหาการศึกษายังไม่ถูกแก้ไข ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุขหรือสังคมต่างๆ ทั้งยังจะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ไม่ยั่งยืน แล้วก็จะไม่มีประสิทธิภาพด้วย

“การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน (all for education) และการทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ต้องได้รับการผลักดันร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ขณะที่การระบาดของโควิด-19  ทำให้การศึกษาขยายขอบเขตออกไป เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีพรมแดน เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างได้กลายเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่กลายเป็นพรมแดนขวางกั้นไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งได้เข้าถึงการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น  การออกมาแสดงความเห็นของเยาวชนก็คือเสียงของอนาคตที่่ผู้ใหญ่ในสังคมสมควรจะรับฟัง อย่างน้อย ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมต้องเผชิญ เพราะเยาวชนก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นเดียวกัน” น.ส.กนิฎฐ์อาภา กล่าว

ด้าน Chheu Suymeang  ผู้แทนโครงการ YALPI 2021 จากประเทศกัมพูชา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมวางแนวทางริเริ่มแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาสในสังคม กล่าวว่า แม้จะเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในเมือง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมของกัมพูชา แค่เดินไปตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองหลวงของประเทศ หรือตามริมแม่น้ำ จะเห็นเด็กยากจน และเด็กด้อยโอกาสมากมายดิ้นรนกัดฟันขายของเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว บางรายสถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดต้องสละโอกาสทางการศึกษาของตนเองเพื่อมาทำงานจุนเจือครอบครัวเต็มตัว ทั้งที่่อยู่ในวัยที่ต้องเรียน

“ตนเองอยากนำเวลาของตัวเองมาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ซึ่งสถานะดังกล่าว ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ค่อนข้างมาก การให้ความสำคัญลำดับแรกๆ ก็คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การศึกษาคือโอกาสพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สุด

และการมีระบบโครงสร้างสวัสดิการของรัฐที่ดีให้กับพลเรือนของประเทศ และบทบาทของพ่อแม่มีความสำคัญที่สุดในการสนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาซึ่งนอกจากหาทางสื่อสารกับพ่อแม่ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญโดยที่ต้องรับการผลักดันร่วมมือจากภาครัฐแล้ว และยังเชื่อมั่นว่ารัฐยังต้องช่วยในเรื่องของจัดสรรอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เพื่อช่วยให้เด็กๆ เผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำได้”

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า อาเซียนถือเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (Jomtien Declaration: Education for All) ที่หาดจอมเทียน ประเทศไทย เมื่อปี 2533 นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้ร่วมกันประกาศความร่วมมือของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ASEAN Declaration on Strengthening Education for out-of-school Children and Youth (OOSCY)

เมื่อปี 2559 แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของประชาคมอาเซียนต่อเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา กสศ. มีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนพลังของเยาวชนอาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวาระการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ประชากรรุ่นน้องในอาเซียน (0-14 ปี) ที่มีสัดส่วนมากกว่า

1 ใน 4 ของประชากรรวมในอาเซียน โดย กสศ. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ และประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาของไทยจากผลกระทบของ COVID-19 ในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา ทั้งมาตรการช่วยเหลือนักเรียนและครัวเรือนยากจนพิเศษ และการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศในการกำหนดเป้าหมาย

และยุทธศาสตร์การทำงาน และการระดมการมีส่วนร่วมด้วยระบบ iSEE เป็นต้น โดยกสศ.ได้กำหนดโจทย์การสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อนำการศึกษาไปให้ถึงเด็กด้อยโอกาส ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากปรากฎการณ์ COVID SLIDE  สำหรับทีมที่ได้รับการคัดเลือก กสศ.จะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ให้เกิดการขยายผล เป็นโครงการทดลองในพื้นที่นำร่องต่อไปภายในปีนี้ 

“กสศ.เชื่อมั่นในพลังและความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และพร้อมจะสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ และองค์ความรู้เพื่อการต่อยอดขยายผล  ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัยในประชาคมอาเซียน เพื่อร่วมกันออกแบบทิศทางของเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคตของอาเซียน และรับมือกับปัญหาที่ท้าทายด้วยความรู้ความสามารถ ความมีจิตสาธารณะ และการเป็นพลเมืองของโลกนี้ร่วมกัน” ดร.ไกรยส กล่าว

YewLee Wong ผู้แทนโครงการ YALPI 2021 จากมาเลเซีย ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมวางแนวทางริเริ่มแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาสในสังคมกล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการก็เพื่อต้องการเป็นกระบอกเสียงในฐานะที่ตนเคยเป็นเด็กด้อยโอกาสเหมือนกัน โดย YewLee Wong กล่าวว่า ตนเองเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมตัดใจจากสิทธิพื้นฐานหลายอย่าง รวมถึงการศึกษาเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่สุดท้ายก็โชคดีว่าตนเองมีโอกาสได้เข้าร่วมในโครงการการศึกษาเพื่อเด็กชายขอบ ทำให้ตระหนักได้ว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นรากฐานของปัญหาหลายอย่างในชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างไร และการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ 

ทั้งนี้ เด็กด้อยโอกาสเพราะความยากจนหรือเงื่อนไขยากลำบากต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามความฝันที่ตนเองวาดหวัง เพราะมีสิ่งสำคัญกว่าอย่างชีวิตและปากท้องที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เนื่องจากตระหนักและเข้าใจถึงความเจ็บปวดที่ว่านี้เป็นอย่างดี YewLee Wong จึงต้องการที่จะหาแนวทางช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสมีพื้นที่ได้ยืนบชในสังคม ไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และหวังว่าความรู้และมุมมองของตนจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เปิดระบบการศึกษาที่เท่าเทียมไม่แบ่งแยก เป็นการศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน การเข้าร่วม YALPI ในปีนี้ทำให้ตนเองได้รับโอกาสที่ดีในการทำความรู้จักกับกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ของประเทศไทย ซึ่งในฐานะนักศึกษาด้าน Data Science, YewLee Wong ยอมรับว่า รู้สึกประทับใจอย่างมากที่ได้เห็นการทำงานของกสศ. โดยเฉพาะการคิดค้นแอพลิเคชั่นเพื่อบริหารจัดการบิ๊กดาต้า แล้วนำบิ๊ก ดาต้าที่ได้มาประมวลวิเคราะห์เพื่อส่งความช่วยเหลือไปถึงมือเด็กที่ด้อยโอกาส ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าในมาเลเซียไม่ได้มีกองทุนในลักษณะดังกล่าว ทั้งๆ ที่มีเด็กหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี รวมถึงเด็กไร้สัญชาติและเด็กจากพ่อแม่แรงงานข้ามชาติ อย่างแรงงานอุตสาหกรรมปาล์มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา หรือเด็กจากกลุ่ม Bajau People หรือยิปซีทะเลทางตะวันออกของมาเลเซีย ตลอดจนเด็กจากกลุ่มผู้อพยพ

YewLee Wong กล่าวว่า การได้เห็นตัวอย่างการทำงานแบบเป็นระบบของไทย นับเป็นการเปิดมุมมองของตนอย่างมาก และได้แบบอย่างในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศของตนเอง ที่การแก้ปัญหาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่มที่มุ่งไปที่การจัดสรรครูอาสาลงพื้นที่สอนเด็กๆ กลุ่มนี้ ยังไม่นับรวมตัวอย่างโครงการอาหารฟรี และโครงการฝึกอบรมทักษะแรงงานให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่ง YewLee Wong เชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่มาเลเซียสามารถนำไปศึกษาต่อยอดประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมาเลเซียได้