“พม.” “กสศ.” และ “ซีพี ออลล์”  ลงนาม MOU ขยายผล ประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ

“พม.” “กสศ.” และ “ซีพี ออลล์”  ลงนาม MOU ขยายผล ประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ

เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เพื่อการประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Service : ESS Help Me)” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)และนางสาวสุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมลงนาม

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงาน อาทิ  ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ดร.ธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวง พม. นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ระบบ : ESS Help Me ให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง เพื่อลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นแบบฉุกเฉิน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอด ขยายผล และการประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ‘ESS Help Me’ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ทั้งภายในและภายนอก เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริหารตลอดจนพนักงานบริษัทฯ นักเรียน นักศึกษา สังกัดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตลอดจนลูกค้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้เข้าถึงช่องทางการรับแจ้งและระงับเหตุด่วนผ่านช่องทางการสื่อสารภายใน เช่น Application CP ALL Connect,  Desktop (All Users), Line Group (for commu) สำหรับกลุ่มพนักงาน และหน้าจอ POS, หน้าจอ Plan B  สำหรับกลุ่มลูกค้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังวางแผนประชาสัมพันธ์ผ่านวงประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดกิจกรรม Roadshow ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวง พม. และ กสศ. พร้อมด้วยภาคีที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพัฒนาระบบส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาส และประชากรกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ การช่วยเหลือ และการคุ้มครองที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นการสร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการคุ้มครองดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายหรือประชากรกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส

สำหรับระบบ ESS Help Me ถูกจัดทำและพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ  พม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสศ. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการรับแจ้งและระงับเหตุด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน Line เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 5 ประการ ได้แก่ 1. ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย 2. กักขังหน่วงเหนี่ยว 3. เสี่ยงถูกละเมิดทางเพศ 4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5. มั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้าย 

สำหรับการแจ้งเหตุสามารถทำได้โดยเข้าไปกด ‘เพิ่มเพื่อน’ ทางแอปพลิเคชัน Line ในช่องค้นหา และพิมพ์คำว่า @esshelpme เข้าในช่องแชท จากนั้นสามารถกดแจ้งเหตุร้าย (เลือกเพียงหนึ่งเหตุการณ์) กดแชร์พิกัดตำแหน่งเกิดเหตุ และกรอกเบอร์ติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอน ระบบจะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนสถานะการปฏิบัติงานมายังผู้แจ้งเหตุอีกครั้ง เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวของของสถานการณ์ให้ทราบ เช่น ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากระบบ ESS Help Me จะทำหน้าที่ช่วยชี้เป้า เฝ้าระวัง และป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ระบบนี้ยังมีส่วนในการประสานสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปร่วมดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนและตามความต้องการเป็นรายบุคคล ด้วยความตระหนักว่า ปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่โยงใยกับอีกหลายมิติ ทั้งวงจรความยากจนข้ามรุ่น การหย่าร้าง ภาวะสิ้นหวังในชีวิตและการใช้ชีวิตเร่ร่อนของพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง รวมทั้งคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การพนัน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการศึกษาของเด็กโดยตรง 

การดูแลปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกใน 2 ส่วน คือ หนึ่ง-พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงานในระดับชุมชน ท้องถิ่น ให้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง ดูแล คุ้มครองเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ครอบครัว สังคม และการศึกษา โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัย ซึ่งส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง สอง-มีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนสามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้

มีรายงานว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ตุลาคม 2566 ได้รับการแจ้งเหตุแล้วเกือบ 1,300 กรณี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกัน ‘ปักหมุด หยุดเหตุ’ ผ่านระบบ ESS Help Me กว่า 400,000 จุด