นายกฯ กล่าวบนเวที UN ไทยมุ่งมั่นพัฒนายั่งยืน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ช่วยกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน

นายกฯ กล่าวบนเวที UN ไทยมุ่งมั่นพัฒนายั่งยืน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ช่วยกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน

ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

พร้อมมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (SDGs Summit 2023) ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยจะสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนี้

1. มุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (Reaching Those Furthest Behind First) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

2. มุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ เช่น ตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนที่จะต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health Impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027

3. มุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนทุกระดับในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (Modern Energy Services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทุกประเทศกำลังเผชิญหน้าความท้าทายร่วมกันในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs 2030) ของสหประชาชาติ ประเทศไทยจึงสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้ จะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป