ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาไทยบนเวทีสัมมนานานาชาติภายใต้หัวข้อ “Intersectionality in the Classroom: Addressing Overlapping Identities across All Levels” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 โดยนำเสนอแนวทางเชิงระบบของ กสศ. ในการป้องกันไม่ให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา และตอบโจทย์ปัญหาซับซ้อนที่เชื่อมโยงกับความเปราะบางของกลุ่มผู้เรียนในสังคมไทย
เวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระหว่างประเทศ CU-KU International Symposium in Education 2025 ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมหาทางออกต่อความท้าทายร่วมสมัยด้านการศึกษาที่ครอบคลุม

ดร.ไกรยส ได้นำเสนอกรอบวิเคราะห์ ‘7 มิติของการถูกกีดกันทางการศึกษา’ หรือ 7 Dimensions of Exclusion ที่ กสศ. ทำการศึกษาโดยอิงจากแนวคิดขององค์การยูนิเซฟและองค์การยูเนสโก ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย
“เรามีนักเรียนนอกระบบการศึกษามากกว่า 500,000 คน และมีผู้ที่หลุดออกก่อนจะเข้าสู่การศึกษาระดับสูงถึง 1.9 ล้านคน” ดร.ไกรยสอธิบาย “นี่ไม่ใช่เพียงโศกนาฏกรรมส่วนบุคคล แต่เป็นการสูญเสียทุนมนุษย์ขนาดใหญ่ที่คุกคามต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของไทย”
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 3–24 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษารวมกว่า 982,000 คน ทำให้ กสศ. เร่งขับเคลื่อนเป้าหมาย “Thailand Zero Dropout” ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์
ดร.ไกรยส กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ กสศ. ในการขับเคลื่อนมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยได้เริ่มต้นใน 25 จังหวัด และขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2568 ยุทธศาสตร์นี้ขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไกสำคัญ ได้แก่
- การบูรณาการข้อมูลและการระบุตัวตน: กสศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระดับบุคคล ระบุตัวเด็กนอกระบบ 9.8 แสนคน ผ่านการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างศูนย์ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการกับฐานทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย
- การประสานงานแบบบูรณาการหลายหน่วยงาน: สร้างระบบส่งต่อรายกรณีที่เชื่อมโยงหน่วยงานด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาสังคม และแรงงาน เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนแบบองค์รวม
- พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุน: เช่นแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ขยายสู่ “1 อำเภอ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ประกอบด้วยการศึกษาในระบบ ศูนย์การเรียนนอกระบบ และโรงเรียนเคลื่อนที่
- การเรียนรู้ที่เสริมด้วยเทคโนโลยี: พัฒนาระบบ “ธนาคารหน่วยกิต” และ “Learn to Earn” (เรียนพร้อมหาเงิน) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเลือกเส้นทางเรียนรู้ได้หลากหลาย ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนและการฝึกงานในสถานประกอบการ
ข้อมูลเดือนมีนาคม 2568 แสดงให้เห็นว่า จำนวนเด็กนอกระบบเริ่มมีแนวโน้มลดลง ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกของการขับเคลื่อนนโยบายสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน: เปลี่ยนแปลงชีวิตแรงงานนอกระบบกว่า 50,000 คน

อีกหนึ่งโครงการที่ดร.ไกรยสนำเสนอ คือ “ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” ของ กสศ. ที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่ม NEET (ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกอบรม) เช่น แม่วัยใส ผู้ว่างงาน และผู้หลุดจากระบบการศึกษากลางคัน โดยได้เข้าไปพัฒนาศักยภาพกว่า 50,000 คน จาก 670 หน่วยใน 71 จังหวัด โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ไปสู่การศึกษาที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง
“เราไม่ได้เพียงให้การศึกษา แต่เรากำลังสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืน” ดร.ไกรยส เน้นย้ำ โครงการนี้เน้นการเสริมสร้างทักษะ 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ทักษะอาชีพ ความรู้ด้านสุขภาพ ความรู้ด้านการเงิน และทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
ความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษา: ผลตอบแทนสูงจากการลงทุน
ขณะที่โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของ กสศ. แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น โดยได้ช่วยยกระดับชีวิตของผู้เรียนรวม 13,924 คน โดยมีผู้จบการศึกษาแล้ว 6,956 คน ได้งานทันที 82.1% ด้วยรายได้เฉลี่ย 12,000 บาทต่อเดือน สูงกว่ารายได้ครัวเรือนเดิมของพ่อแม่ถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ของโครงการ พบว่าในการลงทุน 1 บาท สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 1.93 บาท และในบางสาขาสามารถสร้างผลตอบแทนดังนี้ ผู้ช่วยพยาบาล 2.73 บาท ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ 4.14 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (หลักสูตร 2 ปี) 1.78 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (หลักสูตร 5 ปี) 1.62 บาท

การศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ: โอกาสเปลี่ยนชีวิตครอบครัวทั้งครัวเรือน
กสศ. ครอบคลุมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ร่วมกับสถานศึกษา 12 แห่งใน 9 จังหวัด สนับสนุนนักเรียนทุน 573 คน โดย 96.8% จบการศึกษาและได้งานทำ มีเกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.22
“พ่อแม่ของนักเรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษา และมีรายได้ครัวเรือนเพียง 8,000 บาทต่อเดือน การสนับสนุนทุนที่ตรงจุด ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตของแต่ละคน แต่เรากำลังเปลี่ยนแปลงทั้งครอบครัวและชุมชน” ดร.ไกรยสกล่าว
การศึกษาคือกุญแจสู่ประเทศรายได้สูง
ดร.ไกรยสยังได้นำเสนอข้อมูลเชิงเศรษฐกิจว่า หากประเทศไทยต้องการขยับจาก “ประเทศรายได้ปานกลาง” สู่ “ประเทศรายได้สูง” รายได้เฉลี่ยต้องเพิ่มจาก 22,000 บาทในปัจจุบัน เป็น 40,000 บาทต่อเดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งกุญแจสำคัญของการทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงก็คือเพิ่มโอกาส “การศึกษา” ในฐานะปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยได้เปรียบเทียบจำนวนปีการศึกษาของไทยกับประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยที่ 12.76 ปี รายได้เฉลี่ยประชากรต่อเดือนอยู่ที่ 240,080 บาท ขณะที่ไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 8.35 ปี รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากร 20,349 บาท ตามหลังสิงคโปร์กว่า 10 เท่า
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางการศึกษาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับบุคคลและในระดับประเทศ และสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ พ่อแม่ที่เข้าไม่ถึงการศึกษาระดับสูงไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ และความยากจนนั้นก็จะสืบทอดส่งต่อไปยังลูกหลาน
“นี่คือวงจรความยากจนข้ามรุ่น พ่อแม่ที่จบเพียงประถมศึกษามีโอกาสทางสถิติที่ลูกจะจบเพียงประถมศึกษาเช่นกัน โดย 49% มีความน่าจะเป็นที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำดำเนินต่อไป”

มุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่ครอบคลุม
ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างเห็นพ้องกับมุมมองของ กสศ. โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรพิไล บัวสุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ย้ำว่าการเข้าถึงการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ระบบการศึกษาต้อง “เข้าใจตัวตน” ของผู้เรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษและเยาวชน LGBTQ+ ที่อาจเผชิญกับการแบ่งแยกตัวตนแม้จะมีการคุ้มครองทางกฎหมาย ดังนั้นระบบการศึกษาที่ครอบคลุม จึงต้องเปิดกว้างและเข้าใจตัวตนของกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษหรืออัตลักษณ์พิเศษด้วย
ด้านศาสตราจารย์ ดร.เคนเน็ธ คิน ลุง พูน แห่ง National Institute of Education, Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ ได้เน้นให้ครูตระหนักถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เรียน และความเข้าใจในความสามารถที่แตกต่างกันของพ่อแม่ โดยยกตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การศึกษาหยุดชะงักครั้งใหญ่
ส่วน ดร.ริกะ โยโรซุ ผู้ชำนาญการพิเศษโครงการการศึกษา แห่งสำนักงานภูมิภาคยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ ได้ แบ่งปันโครงการความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น โครงการ Learning Coin เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ กสศ. และโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กข้ามชาติในไทย เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกันระหว่างยูเนสโกและพันธมิตรการศึกษาที่เท่าเทียม
ความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อระบบการศึกษาที่เท่าเทียม
ดร.ไกรยสกล่าวสรุปด้วยข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบร่วมกัน “เราต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เท่าเทียมต้องใช้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และยืนหยัดไปด้วยกัน”
ดร.ไกรยส ปิดท้ายด้วยการเน้นย้ำว่า ในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวล้ำสมัยและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI)
ยังชี้ให้เห็นว่า ในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวล้ำสมัยและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ทำให้ทุกฝ่ายที่ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษาต้องเร่งขบคิดถึงแนวทางการปรับโครงสร้างทางการศึกษาที่ไม่เพียงแต่ต้องฟูมฟักคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะมนุษย์ที่จำเป็นต่อโลกอนาคตที่ “คนอาจไม่ได้เก่งเกินกว่า AI ในหลายด้าน”
ภายใต้แนวทางการศึกษาที่ครอบคลุมของ กสศ. ซึ่งผสมผสานการระบุตัวตนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น นวัตกรรมฐานชุมชน ฐานอาชีพ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยได้วางรากฐานที่กำลังเข้าใกล้วิสัยทัศน์ของระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาค ซึ่งจะช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้เต็มตามศักยภาพของตนเองอย่างแท้จริง