กสศ. จัด Workshop หนุนภาคเอกชน เครือข่ายการศึกษา เข้าใช้งานฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำเชิงลึกในระบบ iSEE 3.0
ทดลองค้นหา ระบุเป้าหมายการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแบบมีส่วนร่วม

กสศ. จัด Workshop หนุนภาคเอกชน เครือข่ายการศึกษา เข้าใช้งานฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำเชิงลึกในระบบ iSEE 3.0

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘All for Education – iSEE 3.0 Workshop สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม’ สาธิตการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ‘iSEE’ ที่พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 3 เพื่อรองรับภารกิจการขยายเครือข่ายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา (All for Education) โดยมีภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับ กสศ. อย่างต่อเนื่องเข้าร่วม ได้แก่ มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิยุวพัฒน์, มูลนิธิกำลังใจ, มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย, มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย, มูลนิธิเกียรตินาคินภัทร, มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย, บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group), เคพีเอ็มจี ประเทศไทย และมูลนิธิดวงประทีป ร่วมทดลองใช้งานระบบพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอคำแนะนำหลังทดลองใช้งาน

การวิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE: Information System for Equitable Education เป็นโครงการที่สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ สพฐ. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงสถิติขนาดใหญ่ (BIG Data) ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน ผ่านโรงเรียนมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ผ่านการทำงานของคุณครูราว 400,000 คน ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลสภาพความเป็นอยู่ของเด็กเยาวชนตามหลักเกณฑ์ Proxy Means Test โดยเชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐรวม 6 กระทรวง และข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ที่จะช่วยค้นหา คัดกรองเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างละเอียด ด้วยการสำรวจมิติแวดล้อมของเด็กและการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้มองเห็นและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กรายคนได้ทั้งในสภาวะปัจจุบันและระยะยาว 

ขณะเดียวกัน กสศ. ในฐานะองค์กรซึ่งมีภารกิจเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม คาดหวังว่า iSEE จะไม่ได้เป็นเพียงระบบฐานข้อมูลสำหรับการทำงานของ กสศ. ผ่านไปยังโรงเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น แต่ข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายผู้ทำงานด้านการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ จะร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

และเนื่องในโอกาสที่ระบบ iSEE ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 3 กสศ. จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตการใช้งาน หลังจากที่ผ่านมา iSEE ในเวอร์ชัน 1.0 และ 2.0 ได้ทำประโยชน์ต่องานของเครือข่ายการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลายหน่วยงานทำงานร่วมกับ กสศ. มาอย่างยาวนานผ่าน iSEE ตั้งแต่เวอร์ชัน 1.0 ต่างทราบดีว่า การทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ตั้งต้นจาก iSEE สามารถชี้เป้าและนำการดูแลช่วยเหลือเข้าไปถึงเด็กและเยาวชนได้อย่างทันท่วงที จนหลายโครงการที่มาจากความตั้งใจของหน่วยงานภาคีเกิดขึ้นและยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นไปตามความตั้งใจของการพัฒนาระบบ iSEE ณ จุดเริ่มต้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีข้อจำกัดเรื่องการมีเครื่องมือที่ช่วยให้มองเห็นสถานการณ์เชิงลึก iSEE จึงถือเป็นความพยายามของ กสศ. ที่จะนำข้อมูลปัญหาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาวางแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงตามบริบท ผ่านการระดมความร่วมมือ ระดมทรัพยากร และสานพลังภาคีเครือข่าย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ข้อมูล iSEE ทำให้ทราบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศว่า ‘จุดรอยต่อ’ ทางการศึกษาทำให้มีเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อระบบการศึกษาทั้ง ‘ระหว่างพื้นที่’ หรือ ‘ระหว่างช่วงชั้นการศึกษา’ โดยเฉพาะรอยต่อช่วงชั้น ป.6 ขึ้นชั้น ม.1 และช่วงชั้น ม.3 ต่อ ม.4 หรือ ปวช. ที่เด็กเยาวชนจำนวนมากต้องย้ายไปเรียนต่อยังสถานศึกษาที่อยู่ไกลจากบ้านมากขึ้นราว 10-50 กิโลเมตร กลายเป็นอุปสรรคให้เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษาไป   

“สำหรับ กสศ. ที่ทำงานกับเด็กเยาวชนที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับเป็นหลัก การสนับสนุนผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายข้ามช่วงชั้นสู่การศึกษาระดับสูงขึ้น จำเป็นต้องดึงความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาช่วย ซึ่ง iSEE จะแสดงข้อมูลของเด็ก โรงเรียน และสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ เชิงลึก ว่ายังมีน้อง ๆ ที่รอคอยการช่วยเหลือสนับสนุนอยู่ที่จุดใดของประเทศบ้าง มีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อพาทุนต่าง ๆ ไปให้ถึงตัวเด็ก”

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบ iSEE เผยว่านับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ครอบครัวจำนวนมากยังคงประสบกับปัญหารายได้ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายได้น้อยที่ไม่มีสัญญาจ้าง หรือทำงานผ่านสัญญาจ้างระยะสั้น โดยรายได้เฉลี่ยในปี 2566 ของประชากรกลุ่มนี้อยู่ที่ 1,039 บาท/เดือน ปัญหานี้สะท้อนโดยตรงไปถึงเด็กเยาวชนในระบบการศึกษา ที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งมีราว 1.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การที่ข้อมูลของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในระบบ iSEE โดยจำแนกตามพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และระดับโรงเรียน ได้เป็นต้นทางของการพบตัวเด็ก และเชื่อมโยงความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่สนใจเข้ามามอบทุนการศึกษา หรือหาแนวทางดูแลช่วยเหลือให้กลุ่มเป้าหมายไปต่อได้

“สภาพการณ์จริงจากหน้างานที่เที่ยงตรงนอกจากจะเป็นข้อมูลในการทำงาน ยังมีประโยชน์มหาศาลกับครูในการดูแลช่วยเหลือเด็ก ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนกับเด็ก ส่งผลต่อการพาไปสู่ความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่จะตามมาในพื้นที่ เช่นการระดมความร่วมมือจากชุมชน ภาคเอกชน บุคคลที่มีใจมีกำลังอยากมีส่วนร่วม ทั้งนี้ข้อมูลจากระบบ iSEE ที่ระบุว่าเด็กเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวนมาก อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ พ่อแม่หย่าร้าง หลายคนเผชิญปัญหาซ้ำซ้อนมากกว่าหนึ่งมิติ ข้อมูลเหล่านี้บอกกับเราว่าการสนับสนุนเงินทุนลงไปที่ตัวเด็กอย่างเดียวนั้นไม่พอ หากการจะลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ต้องมีการทำงานกับครอบครัวของเด็กด้วย     

“ประเด็นสำคัญคือ 50% ของผู้ปกครองของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ มีการศึกษาสูงสุดแค่ชั้นประถมฯ อันเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวงจรความยากจนที่ส่งต่อไปยังสมาชิกรุ่นนลูก หรือเป็น ‘การส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น’ ดังนั้นถ้ามีการผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และเชื่อมต่อการศึกษาไปถึงมัธยมปลายหรือ ปวช. ได้มากขึ้น เด็กกลุ่มนี้จะเป็นคนรุ่นนแรกที่จบการศึกษาสูงที่สุดในครอบครัว และเป็นความก้าวหน้าในการยกระดับรายได้ประชากรไปพร้อมกันทั้งประเทศ นี่เองที่ระบบ iSEE จะเป็นเครื่องมือพาเราไปถึง”

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า นอกจากเด็ก 1.2 ล้านคนที่ผ่านการคัดกรองเพื่อนำสู่ความช่วยเหลือ ข้อมูลปี 2566 ยังระบุว่ามีเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาอีกราว 1 ล้านคนจากครอบครัวรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนซึ่งยังเข้าไม่ถึงงบประมาณจากภาครัฐ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. พยายามระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยการติดตามกลุ่มเป้าหมายพบว่าในจำนวนนี้มี 168,307 คนจบการศึกษาภาคบังคับและไปต่อในชั้น ม.4 หรือ ปวช. ได้ 1.3 แสนคน เท่ากับมีคนที่หลุดไปประมาณ 20% หรือราว 3.3 หมื่นคน และนี่คือ ‘ช่องว่างของรอยต่อ’ ซึ่งจำเป็นต้องมี Quick Wins หรือกลยุทธ์เร่งด่วนมาช่วยรองรับ ดังนั้นการปรับปรุงพัฒนา iSEE อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความตั้งใจของ กสศ. เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมใช้งาน โดยนอกจากฐานข้อมูลเด็กและตัวเลขสถิติต่าง ๆ iSEE ยังถือเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทุนและการทำงานทั้งหมดของ กสศ. โดยผู้ใช้งานสามารถค้นหาพื้นที่หรือปักหมุดไปยังสถานศึกษาที่มีเด็กยากจนเข้มข้นในแต่ละระดับ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดงานระดมทุน มอบทุนการศึกษา หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตรงตามจุดประสงค์

ส่วนหนึ่งของโครงการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยภาคเอกชน ที่มีข้อมูลจากระบบ iSEE เป็นจุดเริ่มต้น

  •  ‘โครงการสู้วิกฤตให้น้องอิ่ม …คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ โดย บริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป มอบทุน 1,500,000 บาท พร้อมถุงยังชีพ 1,700 ถุง ให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) 24 โรงเรียนใน 9 จังหวัด
  • ‘โครงการทุนสานฝันเพื่อน้อง’ โดย บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มอบทุนสนับสนุนมูลค่า 2,000,000 บาท ให้นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นสูงขึ้นจนจบการศึกษา
  • ‘โครงการราชบุรี Zero Dropout’ โดย บริษัท แสนสิริ จำกัด มหาชน ออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท เพื่อทำให้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบของการลดจำนวนเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็น ‘ศูนย์’ ในระยะเวลา 3 ปี
  • ‘โครงการ KFC Bucket Search’ โดย มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย สนับสนุนทุนการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพแก่เยาวชน พร้อมมอบโอกาสฝึกงานกับ KFC เพื่อเป็นต้นแบบการสร้างเส้นทางการศึกษาสู่การมีงานทำ     
  • ‘โครงการทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง’ โดย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 8,000,000 บาท ให้นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นสูงขึ้นจนจบการศึกษา
  • ‘โครงการ KPMG Care and Shere’ โดย บริษัท เคพีเอ็มจี จำกัด บริจาคคอมพิวเตอร์ Laptop ให้กับ กสศ. เพื่อส่งต่อไปยังสถานศึกษาในถิ่นทุรกันดาร และมอบทุนสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ยังมีโครงการและกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ มูลนิธิก้าวคนละก้าว มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท Exxon Mobil บริษัท การีน่า จำกัด ประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิดวงประทีป และ มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น

เจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager Brand Communication มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย

หลังทดลองใช้งาน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วม Workshop iSEE 3.0 ได้กล่าวถึงการนำประโยชน์จากระบบฐานข้อมูล iSEE ไปใช้ในภารกิจงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย เจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager Brand Communication มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวว่า iSEE ทำให้เห็นความต้องการของกลุ่มเป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นมากสำหรับมูลนิธิเคเอฟซี ที่ตั้งใจมุ่งให้ความช่วยเหลือไปที่การสร้างเส้นทางอาชีพรองรับ เพื่อให้เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสมีช่องทางสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวในระยะยาว นอกจากนี้ข้อมูลยังทำให้สามารถวางแนวทางทำงานกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมทำหลักสูตรเสริมทักษะอาชีพ อันเป็นหนึ่งในเส้นทางการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ความต้องการของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล

อำนาจ หงษ์โต เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เคพีเอ็มจี จำกัด

ด้าน อำนาจ หงษ์โต เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เคพีเอ็มจี จำกัด กล่าวว่า iSEE ตอบโจทย์การทำงานของ KPMG ที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกเพื่อค้นหากลุ่มเปราะบาง และใช้ประเมินความเร่งด่วนของสถานการณ์ปัญหาด้านการศึกษาในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหา ว่าควรมีแนวทางการทำงานอย่างไรในการแก้ปัญหาให้ถูกจุดและเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

สายรุ้ง รักษาชอบ หัวหน้าโครงการทุน มูลนิธิดวงประทีป

สายรุ้ง รักษาชอบ หัวหน้าโครงการทุน มูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า iSEE แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาของประเทศจะระดมทรัพยากร และความช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมลงไปได้ถูกจุดและถูกคนได้อย่างไร โดยนอกจากทุนการศึกษา ทางมูลนิธิยังมีแผนการส่งเสริมทักษะต่าง ๆ โดยชักชวนองค์กรที่มีศักยภาพเข้าไปเติมเต็มในพื้นที่หนึ่งหรือในเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมองว่าการฝึกอบรมอาชีพจะเป็นความรู้ติดตัวและช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสมีทักษะ มีอาชีพ มีเส้นทางเติบโตในสายงาน รวมถึงนำความรู้พื้นฐานไปใช้ต่อยอดได้ในอนาคต