ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน แนะศธ.รับมือ “เรียนออนไลน์” หลังโควิด-19 ระบาดหนัก ห่วงเด็กเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน แนะศธ.รับมือ “เรียนออนไลน์” หลังโควิด-19 ระบาดหนัก ห่วงเด็กเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร.กนกแนะจัดชั้นเรียนพิเศษช่วยเด็กด้อยโอกาส หากจำเป็นต้องปิดโรงเรียน ชี้ ความเสี่ยงจากการปิดสถานศึกษา เด็กถูกใช้แรงงานเพิ่ม-หลุดจากระบบการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม ที่จะส่งผลต่อการศึกษาของเด็กไทยว่า ประเทศไทยเผชิญหน้ากับการออกอาละวาดของโควิด-19 มาแล้วสองครั้ง ทุกครั้งเราแก้ปัญหาด้วยการปิดสถานศึกษาให้เรียนออนไลน์ และแนวโน้มก็คงจะใช้วิธีนี้อีกหากยังควบคุมไม่อยู่ คำถามคือกระทรวงศึกษาธิการได้แก้ปัญหาที่มีเสียงสะท้อนผ่านทั้งนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์หรือยัง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในเด็กที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเครื่องมือหลักในการเรียนออนไลน์

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรออกมาแถลงความชัดเจนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม รวมถึงแนวทางแก้ปัญหา หากต้องกลับไปสู่การเรียนออนไลน์ ว่าจะรับมืออย่างไร ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเด็กที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จะมีการจัดชั้นเรียนพิเศษเพื่อช่วยเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์อย่างไร ที่สำคัญคือ การปิดโรงเรียน อาจส่งผลทางอ้อมที่ทำให้เด็กด้อยโอกาส ถูกกดดันให้ไปใช้แรงงานแทนการเรียน จนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องทำการบ้านเพิ่มเติมในเรี่องนี้ด้วย” ศ.ดร.กนก กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ยูนิเซฟ ได้ออกแถลงการณ์ ห่วงเด็กได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนเพราะพิษโควิด-19 โดยให้ข้อมูลว่านักเรียน 1 ใน 3 เรียนทางไกลไม่ได้ เสี่ยงถูกทำร้าย และหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติล่าสุดพบเด็กทั่วโลกออกจากระบบการศึกษาเพิ่มถึง 24 ล้านคน และเสนอว่าการปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย