เบื้องหลังความสำเร็จ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คว้า 3 รางวัล การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ

เบื้องหลังความสำเร็จ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คว้า 3 รางวัล การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ

อาจารย์ณรงค์ศักดิ์ แสงเงิน อาจารย์ผู้ฝึกสอนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ World Skill Thailand ครั้งที่ 29 ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่านักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กศส. สาขาอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ชนะการแข่งขันประกอบด้วย

  1. การแข่งขันสาขาแมคคาทรอนิกส์ (ประเภททีม) ได้รางวัลชนะเลิศ
    นายศุวิล ตาสว่าง นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาแมคคาทรอนิกส์
    นายภูวดิท วงศ์ศรีทา นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาแมคคาทรอนิกส์
  2. การแข่งขันสาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (ประเภททีม) ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
    นายดปัสวิน วิไลวรรณ นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาแมคคาทรอนิกส์
    นายธนพล เสียงใส นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาแมคคาทรอนิกส์
  3. การแข่งขันสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (ประเภทบุคคล)
    นายศิลปพันธ์ ทรงศิลป์ นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ได้รางวัลชนะเลิศ
    นายเอกสิทธิ์ สุขประเสริฐ นักศึกษาระดับ ปวส.1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

โดยนักศึกษา ทั้ง 6 คนนี้ จะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับชาติ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียน ที่ประเทศสิงค์โป ต่อไป 

อาจารย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงความสำเร็จของนักศึกษากลุ่มนี้ว่า ก่อนเข้าทำการแข่งขัน นักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียนตามปกติตามแผนการเรียนการสอนของวิทยาลัย แต่จะอาศัยช่วงเวลาหลังเลิกเรียนมาติวเพิ่มในทักษะตามสาขาวิชาที่จะเข้าทำการแข่งขัน 

“การจะไปแข่งขันทักษะเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะเอาเด็กมาติว เอาเด็กมาเทรนเฉพาะคนที่จะไปแข่งประมาณเดือนหนึ่งแบบนี้มันไม่ได้ผล มันจะต้องวางรากฐานตั้งแต่เขาเริ่มเรียนปีแรกคือในช่วง ปวช.1 ต่อเนื่องมาจนถึง ปวส. จะต้องเป็นทั้งระบบ อย่างคนที่ไปแข่งที่เรียนอยู่ ปวส. 1 ตอนนี้ แสดงว่าเขาได้รับการปลูกฝังด้วยระบบการเรียนแบบนี้มา 4 ปีแล้ว สิ่งที่มีผลต่อความสำเร็จเป็นเรื่องแผนการเรียนการสอนที่ต่อเนื่องมากกว่าการมาติวเด็กในช่วงเวลาสั้น ๆ” 

ในขณะที่ทุนการศึกษาซึ่ง กสศ. สนับสนุนให้นักศึกษากลุ่มนี้ในชื่อทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงก็ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จของนักศึกษาในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

“ทุนจาก กสศ.มีส่วนมาสนับสนุนเยอะครับ เพราะว่านอกจากจะให้เด็กเดือนละ 7,500 บาทแล้ว ยังให้ทุนกับทางวิทยาลัย ซึ่งทางวิทยาลัยเทคเทคนิคสิงห์บุรีเรานำไปจัดเป็นกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน คือในรายวิชาจะมีการทำโครงงานกันอยู่แล้ว เราก็เอางบประมาณที่ กสศ.ให้มา มาบูรณาการการจัดการเรียนการสอน ทั้งค่าวัสดุ ค่าอุปกรณ์ อะไรที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เด็กกลุ่มนี้ด้วย งบประมาณมาช่วยเสริมได้เยอะครับ ทำให้เด็กมีของที่จะฝึก มีของที่จะเล่นอะไรที่มันใหม่ ๆ ครับ”

อาจารย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนต่อไปก็คงต้องรอการแข่งขันในระดับชาติในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนและหาเวลามาฝึกทักษะเพิ่มเติมหลังเลิกเรียนอยู่อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเชื่อว่าเขาอาจจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและสร้างชื่อเสียงให้กับ กสศ. ได้ 

“ประกาศนียบัตรที่เขาได้รับจะเป็นใบเบิกทางให้เขาได้ทำงานดี ๆ คิดว่าหลาย ๆ บริษัทคงอยากได้ตัวพวกเขาไปทำงาน ในขณะที่บางส่วนก็มีแผนที่จะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วยครับ”