เคนยาจัดวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

เคนยาจัดวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

ที่มาภาพ : World Economic Forum

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

เมื่อโรงเรียนต้องปิดรั้วโรงเรียนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเรียนทางไกลจึงกลายเป็นทางบังคับเลือกไปโดยปริยายสำหรับนักเรียนชาวเคนยาทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความพร้อมในการเรียนทางไกล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหา โดยหนึ่งในโซลูชั่นส์ หรือทางออกที่นำมาใช้ก็คือ “วิทยุพลังงานแสงอาทิตย์” (Solar Radios) 

ลึกลงไปในเขตเมือง Tana River County ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเคนยา นักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังล้อมวงอยู่รอบครูครูของพวกเขา และคอยจดโน้ตลงบนสมุดขณะกำลังฟังบทเรียนภาษาสวาฮิลี (Swahili) ซึ่งดังออกมาจากวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์ที่คุณครูถืออยู่บนตัก

โดยวิทยุที่เด็กนักเรียนโรงเรียนประถม Dida Ade ล้อมวงนั่งฟังกันอยู่นี้คือหนึ่งในวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์หลายร้อยเครื่องที่ทางการแจกจ่ายให้ฟรีกับครัวเรือนยากจน หรือโรงเรียนในพื้นที่แร้นแค้นห่างไกลทางตะวันออกของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา 

วิทยุโซลาร์เหล่านี้ คือช่องทางสำคัญที่เปิดให้เด็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าใช้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือในช่วงที่โรงเรียนต้องเปิดเพราะไวรัสโควิด-19 ระบาด โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ ตลอดจนลดความเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ โครงการวิทยุโซลาร์ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Zizi Afrique Fondation องค์กรเอ็นจีโอในเคนยา ซึ่งมุ่งเน้นการทำวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษาของประเทศ โดยวิทยุโซลาร์ จะแจกจ่ายไปยังครอบครัวยากจนและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ควบคู่กับหลอดไฟและแท่นชาร์จโทรศัพท์

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนมี.ค.ปีที่แล้วที่มีการปิดโรงเรียนใหม่ๆ มูลนิธิ Zizi Afrique ได้ดำเนินการสำรวจในชุมชนเขตพื้นที่แถบลุ่มน้ำ Tana Delta จนพบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของครัวเรือนเท่านั้นที่มีวิทยุใช้ และมีเพียง 18% เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ 

ที่มาภาพ : World Economic Forum

Sara Ruto หัวหน้าโครงการกระตุ้นส่งเสิรมการเรียนรู้ของมูลนิธิ Zizi Afrique กล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบทำให้ทีมงานตระหนักทันทีว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งในทางแก้ไขที่นำมาใช้ก็คือการแจกจ่าย วิทยุโซลาร์ 1,660 เครื่องในเขตที่อยู่อาศัยแถบแม่น้ำ Tana และ Turkana ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการในเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการราว 165,000 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยคุณสมบัติของวิทยุโซลาร์ที่พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์จะใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอร์รี่ให้เต็ม 1 วัน และการชาร์จเต็มแต่ละครั้งสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 3 วัน 

ขณะเดียวกัน Zarah Abude นักเรียนวัย 11 ปีจากโรงเรียนประถม Imani ในเขตลุ่มแม่น้ำ Tana กล่าวว่า หลอดไฟโซลาร์ที่มาพร้อมกับวิทยุยังมีส่วนช่วยให้การเรียนในยามค่ำคืนสะดวกยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งพาตะเกียงน้ำมันก๊าด ที่ทำให้อากาศเป็นมลพิษเพราะควันเยอะแถมยังมีกลิ่นเหม็น

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในแต่ละปี มีประชาชนเกือบ 4 คนเสียชีวิตจากอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศภายในบ้านเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพิษ

ด้าน James Nyagah ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาเขตเมือง Tana River กล่าวว่าโครงการวิทยุโซลาร์มีความสาคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนริเริ่มของรัฐบาลในการแจกจ่ายแท็บเล็ตในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนของเด็กมากนัก

ที่มาภาพ : The African Mirror

ทั้งนี้ รัฐบาลเคนยาได้แจกจ่ายแท็บเล็ตส์เกือบ 1.2 ล้านเครื่องในโรงเรียนประถมทั่วเคนยา ภายใต้โครงการ Digital Learning Project ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2016 แต่ทว่า เมื่อเกิดการระบาดที่ทำให้ต้องปิดโรงเรียน แท็บเล็ตส์ที่แจกไปก็โดนล็อกอยู่ภายในโรงเรียนด้วยเช่นกัน อีกทั้ง คุณครูที่เก็บรักษากุญแจห้องส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ครูในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อโรงเรียนปิดแล้วครูต้องกลับบ้าน ครูก็นำกุญแจติดตัวไปด้วย ทำให้เข้าไม่ถึงแท็บเล็ตส์ อีกทั้งนักเรียนเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำแท็บเล็ตส์กลับบ้าน ดังนั้น โครงการวิทยุโซลาร์จึงเป็นหนทางบรรเทาผลกระทบจากความท้าทายที่เกิดขึ้น 

ขณะที่ Douglas Mainga ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคของคณะกรรมาธิการบริการครูแห่งพื้นที่ปากแม่น้ำTana ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่รับสม้ครครูให้กับโรงเรียนรัฐ กล่าวว่า การแจกจ่ายวิทยุเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างคุณครูกับมูลนิธิ ที่ครูจะเป็นคนช่วยค้นหาและระบุตัวนักเรียนยากจนที่จำเป็นต้องมีวิทยุโซลาร์

รายงานระบุว่า ครัวเรือนที่ได้รับวิทยุจะเปิดวิทยุรับฟังบทเรียนของตนเอง โดยมีเด็กนักเรียนในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมนั่งฟังด้วย ซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีคุณครูเข้ามาช่วยเหลือดูแลด้วย 

ส่วนทางมูลนิธิ Zizi Afrique ได้ติดต่อสถานีวิทยุท้องถิ่น Amani ซึ่งบรรดานักจัดรายการวิทยุต่างเห็นด้วยที่จะช่วยอ่านและจัดเตรียมบทเรียนตามหลักสูตรการศึกษาของประเทศเคนยาเพื่อออกอากาศ โดยในระหว่างสัปดาห์ ทางสถานีจะออกอากาศบทเรียนเป็นภาษาสวาฮิลีและภาษาอังกฤษ ขณะที่วันเสาร์ จะออกอากาศเป็นภาษาสวาฮิลีเพียงอย่างเดียวให้กับนักเรียนที่ไม่คล่องหรือไม่ถนัดภาษาอังกฤษ 

มูลนิธิ Zizi Afrique มีแผนที่จะขยายช่องทางการแจกจ่ายวิทยุโซลาร์เพิ่มอีกในพื้นที่ 8 เมืองทั่วประเทศ หลังจากที่มีการเปิดโรงเรียนแล้วในช่วงเดือน ม.ค. นี้ และทางมูลนิธิยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันแนวคิดและแนวทางการดำเนินดังกล่าวไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั่วทวีปแอริฟริกา รวมถึงองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาทั่วโลก ในการทำให้เด็กนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 

ด้าน Athman หัวหน้าครูจาก Dida Ade กล่าวชื่นชมโครงการดังกล่าว ก่อนให้คำแนะนำว่า โครงการดังกล่าวจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้หากรัฐบาลจะจัดการว่าจ้างครูให้เข้าถึงนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น เพื่อให้คำแนะนำหรือให้บทเรียนเสริมจากที่เผยแพร่ทางวิทยุ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเรียนกับเด็กๆ ได้มากขึ้น เพราะในช่วงที่ปิดโรงเรียน เด็กในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้เกือบทั้งหมดต้องช่วยทำงานที่บ้าน อย่างการต้อนฝูงสัตว์ไปรอบๆ ทุ่ง ทำให้จำนวนครูที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กๆ

Zakaria Abdula เด็กนักเรียนวัย 10 ขวบจากเขต Dida Ade กล่าวว่า วิทยุโซลาร์มีความหมายกับเจ้าตัวอย่างมาก เพราะอย่างน้อยก็ได้มีเวลาเรียนหนังสือ แทนที่จะต้องหมดไปกับทำงานเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว 

 

ที่มา : With schools closed by the pandemic, solar radios keep Kenyan children learning