กสศ. จับมือ 12 หน่วยงาน ร่วมป้องกันปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ลดความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

กสศ. จับมือ 12 หน่วยงาน ร่วมป้องกันปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ลดความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ‘จังหวัดชายแดนใต้ไร้ครรภ์วัยรุ่นภายในปี พ.ศ. 2570’ เพื่อร่วมดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ความร่วมมือครั้งนี้ มาจากข้อค้นพบสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ําในหญิงอายุไม่เกิน 20 ปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งมารดาและบุตร ปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา หรืออาจไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร เกิดปัญหาการทอดทิ้งบุตร คุณภาพชีวิตของครอบครัว และเกิดการหย่าร้างในอัตราที่สูงขึ้น สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงดําเนินโครงการพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมีส่วนร่วมในการดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กล่าวถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งส่งผลถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าประชากรกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ กลายเป็นแรงงานเยาวชนที่ตกอยู่ในวงจรความยากจน และอยู่นอกระบบการศึกษา โดย กสศ. ได้ทำงานผ่านกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งเน้นสร้างตัวแบบการบริหารกับปัญหาโดยให้ภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา และร่วมบริหารจัดการในรูปแบบที่จะนำไปสู่การเป็นตัวแบบเชิงนโยบายในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังระดับพื้นที่ในอนาคต

ดร.มุทริกา จินากุล นักวิชาการสาธารณสุขชํานาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ให้กำเนิดบุตรมากกว่า 1,200 คนต่อปี หมายความว่า มีวัยรุ่นให้กำเนิดบุตรอย่างน้อยวันละ 1-2 คน

แม้อัตราการคลอดของวัยรุ่นใน 3 จังหวัด นับตั้งแต่ปี 2564-2566 จะมีแนวโน้มลดลงจาก 16.26 เป็น 6.84 ต่อประชากร 1,000 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังนับว่าค่อนข้างสูง คือสูงเป็น 2 เท่าของประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และสูงเป็น 3 เท่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยพบว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ต้องสูญเสีย ‘ปีสุขภาวะ’ หมายถึง ช่วงเวลาที่ควรมีสุขภาพดีมีจำนวนลดลง และเป็น 1 ใน 5 สาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น

มากไปกว่านั้น วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในปัจจุบัน ร้อยละ 77 ไม่ตั้งใจที่จะตั้งครรภ์ และร้อยละ 47 ไม่ได้ตั้งใจมีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ และกว่าร้อยละ 50 ของแม่วัยรุ่นที่คลอดบุตรแล้ว จำเป็นต้องลาออกจากงานหรือออกจากระบบการศึกษาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งหมายถึงการเสียโอกาสในชีวิต กลายเป็นผู้มีรายได้น้อย และกว่าร้อยละ 20 ไม่มีรายได้

ดร.มุทริกา ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้แม่วัยรุ่นกลับเข้าสู่ระบบสาธารณสุข เพื่อให้มีอนาคตที่สดใสและคุณภาพชีวิตไม่ลดลงเพียงเพราะตั้งครรภ์

สำหรับทิศทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่พหุวัฒนธรรม 3 จังหวัดชายแดนใต้ นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความเชื่อที่ต่างกันระหว่างชาวมุสลิม ชาวพุทธ และชาวจีน ย่อมส่งผลต่อมุมมองการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ต่างกัน ฉะนั้น การรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจึงควรสะท้อนความเข้าใจพื้นที่ชุมชนนั้น ๆ เครื่องมือการแก้ไขปัญหาต้องเป็นมุมมองจากล่างขึ้นบน ถูกที่ ถูกทาง ตามบริบทพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนที่อาศัยกลไกของคนในพื้นที่เป็นหลัก

เครือข่ายทั้ง 13 ฝ่าย จึงเห็นชอบร่วมกันในการดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้ โดยแต่ละฝ่ายมีแนวทางโดยสังเขป ดังนี้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีหน้าที่จัดการระบบการคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ขณะเป็นนักศึกษา ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนางานวิชาการและศักยภาพของภาคีเครือข่าย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีหน้าที่ส่งเสริมภาคีเครือข่ายด้านการจัดการศึกษา บูรณาการเชื่อมโยงการดําเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาการตั้งครรภ์และเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กํากับและติดตามผลการดําเนินงานของหน่วยงานที่สังกัด 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา มีหน้าที่อํานวยสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 มีหน้าที่เชื่อมโยงความร่วมมือในการดําเนินงานจากองค์กรต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา มีบทบาทหน้าที่สื่อสาร ถ่ายทอดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดําเนินงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 สู่ระดับจังหวัด ติดตามและประเมินตามมาตรฐานหน่วยบริการอนามัยสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนใต้

จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีหน้าที่กําหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การดําเนินงานในระดับจังหวัดที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาศัยการดําเนินงานที่สอดคล้องตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และยุทธศาสตร์การดําเนินงานระดับชาติ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส มีหน้าที่จัดทําแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนงบประมาณดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหรือดําเนินงานส่งเสริมพัฒนาสุขภาพวัยรุ่น โดยการมีส่วนร่วมของตัวแทนชุมชน

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีกําหนดระยะเวลา 5 ปี เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2570