กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว เชิญคณะกรรมการ 3 ภาคส่วนพิจารณามอบทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง ปีที่ 3’ หลังบอดี้สแลมจัด ‘พูดในใจ THE B SIDE CONCERT’
มอบรายได้จากบัตรเป็นทุนการศึกษาส่งเสริมเยาวชนเรียนต่อ ม.ปลาย - ปวช.

กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว เชิญคณะกรรมการ 3 ภาคส่วนพิจารณามอบทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง ปีที่ 3’ หลังบอดี้สแลมจัด ‘พูดในใจ THE B SIDE CONCERT’

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว จัดประชุมพิจารณากลั่นกรองแบบเสนอชื่อโครงการทุนการศึกษา ‘ก้าวเพื่อน้อง’ ปี 2566 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน ร่วมกันเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกน้อง ๆ ที่สมัครขอรับทุนการศึกษา

สำหรับทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ เป็นทุนการศึกษาที่มูลนิธิก้าวคนละก้าว ประสานการทำงานกับ กสศ. มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ โดยเป็น ‘ทุนต่อเนื่อง’ ม.4-ม.6 หรือ ปวช.1-ปวช.3 จนสำเร็จการศึกษาแบบไม่ต้องชดใช้ทุน

ในปีที่ 3 ของโครงการฯ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้ร่วมกับ วงบอดี้สแลม จัดคอนเสิร์ต ‘พูดในใจ THE B SIDE CONCERT’ มอบรายได้จากการจำหน่ายบัตรทั้งหมด 5 รอบ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายรวมกับยอดบริจาคให้ กสศ. เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้น้อง ๆ ในโครงการก้าวเพื่อน้อง ซึ่งขณะนี้มียอดระดมทุนประมาณ 9,306,435 บาท และมีแผนการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อระดมความร่วมมือสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างน้อย 40 ทุน ในปีการศึกษา 2566

นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เสียสละเวลามาช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้องปีที่ 3 ความก้าวหน้าจาก 2 ปีแรกได้ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ ไปแล้วราว 150 คน ซึ่งการมาทำงานร่วมกันได้ช่วยตอกย้ำความสำคัญของทุนการศึกษา ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงมูลค่าเงินตั้งต้น แต่ยังให้ความสำคัญกับขั้นตอนการพิจารณาเพื่อจัดสรรทุนให้ไปถึงเด็กเยาวชนตรงตามวัตถุประสงค์

“ในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกผู้รับทุน จะแสดงให้เห็นว่าทุนที่เรามีจะไปสร้างคุณค่าและความเปลี่ยนแปลงให้กับน้อง ๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์แค่ไหน ผมเชื่อว่าผลตอบแทนของการทำงานครั้งนี้ จะเป็นความสุขที่ทุกท่านซึ่งสละเวลามาช่วยกัน ส่งไปถึงผู้รับตรงปลายทางที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่างานของพวกเราจะสิ้นสุดลงแค่วันนี้ แต่จะเป็นอีกหลายปี ที่ผมและทีมงานมูลนิธิก้าวคนละก้าว จะมีแรงมีพลังเพื่อช่วยกันทำให้ทุนก้าวเพื่อน้องดำเนินต่อไป

นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม
ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว

“สิ่งที่คาดหวังจากนี้ คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะทำให้น้อง ๆ ทุกคนที่มีรายชื่อส่งเข้ามา มีโอกาสและมีเส้นทางการเรียนต่อไป เนื่องจากผมเชื่อในเรื่องการศึกษา ว่าไม่ได้เป็นแค่หนทางสร้างความรู้ แต่หมายถึงการบ่มเพาะกระบวนการคิดที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอนการต่อยอดที่ช่วยเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จในการทำงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบสังคม ที่น้อง ๆ จะได้มีเพื่อน ผู้นำมาซึ่งการแบ่งปันความรู้ แบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ระหว่างกัน เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตจะได้เรียนรู้ในทุกเรื่องราวเพื่อหล่อหลอมให้เกิดทักษะทางสังคมที่ดี และนี่คือโอกาสที่น้อง ๆ จะได้รับหากมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระบบ ซึ่งน่าจะดีกว่าการต้องออกมาทำงานเต็มตัวก่อนถึงวัยอันควร อย่างไรก็ตามในระหว่างการศึกษาเด็กเยาวชนทุกคนสามารถพัฒนาทักษะอาชีพหรือกิจกรรมที่ตนเองสนใจเสริมไปด้วยได้ สำหรับผมจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ถ้าเราช่วยกันประคับประคองให้น้อง ๆ ยังอยู่บนเส้นทางการศึกษาต่อไปได้”

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.ได้เล่าถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ กสศ. ที่ได้จัดสรรทุนเสมอภาคให้จนจบการศึกษาภาคบังคับชั้น ม.3 โดยพบว่านักเรียนกลุ่มนี้มีสถิติไม่เรียนต่อ จากการติดตามเส้นทางการศึกษาของนักเรียนชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2561 ที่ กสศ. เริ่มสนับสนุนทุนเสมอภาคจำนวน 148,021 คน เมื่อถึงปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนเหลืออยู่ในชั้น ม.6 จำนวน 62,042 คน และเมื่อติดตามจากฐานข้อมูลการสอบ TCAS ปี 2565 พบว่า มีรายชื่อของนักเรียนกลุ่มนี้ยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียง 20,018 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 จาก 148,021 คน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“แม้การเรียนมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่รูปแบบเดียวสำหรับเด็กเยาวชนในการพัฒนาศักยภาพตนเอง หรือเป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้ไปถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ข้อมูลนี้ก็บ่งชี้ว่าเด็กจากครอบครัวยากจนด้อยโอกาสถึง 9 ใน 10 คน หรือราวร้อยละ 90 ต้องออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ม.ต้น ไปสู่ ม.ปลาย ตัวเลขที่ปรากฏถือว่ามีนัยสำคัญและฉายให้เห็นภาพสถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยโดยรวม

“ประเด็นสำคัญคือเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนยากจนด้อยโอกาส แต่มีศักยภาพ มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง เขาต้องเผชิญกับช่องว่างความแตกต่างของโอกาสที่มากกว่าเด็กทั่วไปเกือบ 3 เท่า และยิ่งเทียบกับเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนรายได้สูง ช่องว่างยิ่งถ่างออกไปมากกว่า 5-10 เท่า เหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาฉบับย่อที่การทำงานของ กสศ. กับมูลนิธิก้าวคนละก้าว กำลังเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความร่วมมือเปลี่ยนแปลงทิศทางอนาคตของประเทศ”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า มูลนิธิก้าวคนละก้าวกำลังเป็นตัวอย่างของการระดมทุนทางสังคมที่เรียกว่า Social Finance ที่ภาคธุรกิจจัดบริการเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่ง กสศ. ได้ระดมความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ โดยใช้นวัตกรรมการระดมทุนที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

“มูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้ทำ Social Finance หรือการลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางสังคม ด้วยการจัดกิจกรรมวิ่งเก็บสะสมระยะทาง หรือ Virtual Run ในปีที่ผ่านมา ในปีนี้ได้จัดคอนเสิร์ตถึง 5 รอบการแสดง เป็นการซื้อขายบริการที่ยินดีทั้งผู้ให้และผู้รับที่ยินดีจ่าย ทำให้คนทั้งสังคมเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งโมเดลการลดความเหลื่อมล้ำลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. ได้พยายามสร้างโอกาสในการขยับขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต”

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อไปว่า การลงทุนของมูลนิธิก้าวคนละก้าว กำลังทำงานไปสู่ขั้นตอนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรมนุษย์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า แรงงานที่ใช้วุฒิประถมศึกษาจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 9,000 บาท ถ้ามีวุฒิ ม.3 จะขยับเป็น 10,000 บาท ขณะที่หากมีวุฒิ ม.6 หรือเทียบเท่า รายได้จะอยู่ที่ 13,000 บาท หากมองไปภาพใหญ่กว่านั้น คือมีวุฒิปริญญาตรีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ รายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ราวเดือนละ 27,000 บาท และเพิ่มขึ้นทุกปี

“วันนี้เรากำลังร่วมกันหาหนทางเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ทุนก้าวเพื่อน้อง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ในการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนมาสนับสนุนด้านการศึกษา จะทำให้ประเทศไทยสามารถยุติวงจรความยากจนข้ามชั่วรุ่น รวมถึงเป็นหนทางในการพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด เพราะแม้ว่าเด็กเยาวชนที่ได้รับทุนก้าวเพื่อน้องจะมีจำนวนไม่มากในแต่ละปี แต่การทำงานครั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังเพียงช่วยเหลือเด็กแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในระยะยาว กสศ. และ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ต้องการยกระดับความช่วยเหลือให้เป็นโมเดลต้นแบบ ที่จะเหนี่ยวนำสังคมให้เห็นความสำคัญและมาร่วมด้วยช่วยกันจับชีพจรการศึกษาประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออื่น ๆ ในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษา ดังเช่นในการดำเนินงานทุกปี การทำงานกับภาคีทุกภาคส่วนในการพิจารณาทุน ได้ช่วยให้น้อง ๆ ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาและหลุดไปจากทุนก้าวเพื่อน้อง สามารถเข้าถึงทุนอื่น ๆ และมีเส้นทางการศึกษาต่อเนื่องได้เช่นกัน”

ด้าน นายนพพร สุวรรณรุจิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกนักเรียนเพื่อรับทุนการศึกษาทุนก้าวเพื่อน้องอธิบายแนวทางการพิจารณากลั่นกรองนักเรียนทุนนี้ว่าคือการค้นหาเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2565 หรือในช่วงระหว่างปีการศึกษา 2562-2565 มีเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดช่วงชั้นไม่ต่ำกว่า 2.00 และไม่ได้ศึกษาต่อหรือมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ศึกษาต่อเนื่องด้วยความยากจนด้อยโอกาส โดยเยาวชนเหล่านี้ผ่านการพิจารณาสถานะครัวเรือนแล้วว่ามีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ประสบปัญหาเดือดร้อนและได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา โดยเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกทุกคนได้แสดงเจตจำนงแน่วแน่ว่าต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพในปีการศึกษา 2566 นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองจากครูว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร มีจิตสาธารณะ รวมถึงมีความสามารถพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา

นายนพพร สุวรรณรุจิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกนักเรียน
เพื่อรับทุนการศึกษาทุนก้าวเพื่อน้อง

“เราเชื่อมั่นว่าแม้ในความขาดโอกาส มีเด็กกลุ่มหนึ่งยังมีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพาตนเองไปสู่ความสำเร็จ วันนี้เรามีเด็กเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากสถานศึกษา 492 แห่งทั่วประเทศที่มีสัดส่วนของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 100% จนมาถึงมือของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาวิชาชีพ และเราพร้อมแล้วที่จะลงมือพิจารณาโดยยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม กระจายโอกาสอย่างเต็มที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค”