กสศ. และภาคี เปิด ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ ช่วยแก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอมนี้
ด้าน ‘ศ.ดร.สมพงษ์’ แนะรัฐบาลใหม่ชูนโยบาย “การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” ปฏิรูปโครงสร้างสวัสดิการครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ยึดความหลากหลายของเด็กเป็นที่ตั้ง

กสศ. และภาคี เปิด ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ ช่วยแก้วิกฤตเด็กหลุดนอกระบบรับเปิดเทอมนี้

แม้การศึกษาจะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในการเลือกเส้นทางการศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และความจำเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกยังคงเป็นภาพฝันในสังคมไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม สมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และตัวแทนนักขับเคลื่อนการศึกษาหลายองค์กร เปิดตัวความร่วมมือภายใต้ชื่อ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ นำเสนอการออกแบบนโยบายเพื่อพาเด็กและเยาวชนจำนวน 2.5 ล้านคน จากครัวเรือนยากจน 20% ล่างของประเทศ รวมถึงเยาวชนและแรงงานนอกระบบสะสมอีกราว 20 ล้านคน ก้าวออกจากวงจรความยากจนข้ามรุ่นด้วยภาพฝันการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก ทำให้ประเทศไทยไม่มีคำว่า “เด็กนอกระบบ”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า วิกฤตทางที่เป็นโจทย์ใหญ่รับเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2566  คือการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นกำลังขยายตัวครั้งใหญ่ โดยมีเด็กจากครอบครัวยากจนเพิ่มขึ้น 3-4 แสนคน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 2-3 แสนคน เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า และภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง  ถ้าแก้ไขไม่ได้ไทยจะสูญเสียเด็กทั้งรุ่นที่ต้องประสบปัญหาทั้งเรื่องอ่านออกเขียนได้และสุขภาพจิตในอนาคต

ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ศ.ดร.สมพงษ์ มีมุมมองต่อนโยบายแก้วิกฤตทางการศึกษาของพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง 2566 ว่านักการเมืองส่วนใหญ่ยังมองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างผิวเผิน ขาดการมองอย่างวิเคราะห์รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการหลุดออกนอกระบบของเด็กที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและหาวิธีช่วยเหลือให้ได้

“นโยบายที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการคือการตามเด็กกลับมาเรียน จากจำนวนเด็ก 238,707 คน สามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้ 200,000 กว่าคน แต่สภาพปัจจุบันที่เป็นผลมาจากโควิด-19 ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษา 2566 ถ้าไม่จัดการหรือไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อย่างเช่นสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางการศึกษาที่เหมาะกับเด็กจริงๆ  เด็กจะหลุดออกจากระบบวนซ้ำถึง 85%”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุถึง 1 ในข้อเสนอถึงพรรคการเมืองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายปฏิรูปโครงสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุมการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ชูแนวคิดการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ปรับระบบราชการกระทรวงศึกษาฯ ให้มีวิธีคิดและหลักการที่ทันสมัย สนับสนุนเครือข่ายให้มีโอกาสร่วมพัฒนาการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตรและวิธีบริหารจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายได้

“กสศ. มีเป้าหมายสำคัญเรื่องการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) การขับเคลื่อนในอีก 3 ปีข้างหน้า เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก จะเป็นตัวแบบการศึกษาแบบเปิด (Open Education) ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน หากกระทรวงศึกษาธิการหันมาปฏิรูปโครงสร้างระบบ โดยมองเด็กเป็นที่ตั้ง มองเห็นถึงความหลากหลายแตกต่าง จัดการการศึกษาให้มีหลากรูปแบบหลายระบบ ก็จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้อย่างดียิ่ง ฉะนั้นอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ และหันมาร่วมมือกัน ซึ่งการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มทางเลือกหรือทางออกทางการศึกษาให้กับเด็กได้ เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมามีกำแพง กฎเกณฑ์มากมาย จึงอยากให้ผ่อนปรนลดกฎระเบียบเหล่านี้ลงบ้าง เพราะเมื่อเด็กออกกลางคัน เขาจะเป็นแรงงานด้อยทักษะ ไปตลอดชีวิต” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

“ภาพฝัน” การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก วันที่ประเทศไทยจะไม่มีคำว่า “เด็กนอกระบบ”

นายวิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน กล่าวว่า เป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องพูดถึงเรื่องการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต เนื่องจากเด็กที่หลุดออกจากการศึกษากระแสหลักก่อนจบชั้นมัธยมต้น จะยังไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยหรือ กศน. ได้ เนื่องจากอายุไม่ถึง 15 ปี อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่าสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาคละรูปแบบได้คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างกันได้ การสนับสนุนโดยรัฐก็ควรเกิดขึ้นทุกรูปแบบ

“หากรูปแบบการศึกษาทางเลือกได้รับความสนใจและพัฒนาต่อเนื่อง จนสามารถตอบโจทย์ชีวิตของเด็กและเยาวชนทุกคนได้ในระดับเดียวกับการศึกษากระแสหลัก เมื่อถึงวันนั้นเราจะไม่มีเด็กนอกระบบการศึกษาอีกต่อไป”

ด้าน นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวเสริมว่า 24 ปีผ่านมา การยอมรับและสวัสดิการที่ควรจะครอบคลุมการศึกษาทางเลือกแทบไม่เกิดขึ้น เด็กและเยาวชนที่เรียนในศูนย์การเรียนไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานเท่าเทียมกับเด็กที่เรียนอยู่ในระบบโรงเรียน ครูในระบบการศึกษาทางเลือกยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านสวัสดิการอบรมความรู้ และเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับ 

“การศึกษาทางเลือกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้มีพื้นที่ มีการเติบโตที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของนิเวศการเรียนรู้และภูมิทัศน์ทางการศึกษาในปัจจุบัน เนื่องจากบริบทความต้องการของเด็กและเยาวชนมีความหลากหลายซับซ้อน รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังต่างไปจากอดีต ดังนั้นทิศทางของการศึกษายุคถัดไป ต้องทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติได้ โดยสามารถเรียนรู้ได้จากทุกหนทุกแห่ง รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาจากรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม หากทำได้ถึงจุดนั้น การศึกษาทางเลือกจะเป็นอีกลู่หนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในภาพรวม” นายเทวินฏฐ์ กล่าว

ข้อมูลสถานพินิจฯ ปี 2561-2565 พบเด็กกระทำผิด 134,747 คดี  ในจำนวนนี้  70% หลุดจากระบบการศึกษา

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวเสริมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า มีมิติที่กว้างกว่าเรื่องความยากจน การทำงานของกรมพินิจฯ จึงมีโจทย์ตั้งต้นว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้อย่างไร 

“สำหรับกรมพินิจฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือดูแลฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมช่วงอายุ 12-18 ปี มีข้อมูลพบว่ามากกว่า 70% ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษาระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือต่ำกว่าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นหน้าที่ของกรมพินิจฯ จึงต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาตัวเองภายใต้สิทธิพื้นฐานที่เด็กพึงมี ด้วยเครื่องมือสำคัญคือการศึกษา และการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำ” 

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์
อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมพินิจฯ ทำงานกับเครือข่ายศูนย์การเรียน สถาบันการศึกษาสายอาชีพ และภาคส่วนต่าง ๆ นำนวัตกรรมและรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมเข้าไปให้เด็กในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ผ่านกลไกการทำงาน 3 ส่วนหลัก คือด้านวิชาการ จิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งคืนเด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับสู่สังคมอีกครั้ง ได้รับการพัฒนาตนเองต่อเนื่อง มีทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ

“กรมพินิจฯ วางแผนการทำงานโดยแสวงหานวัตกรรมที่มีอยู่แล้วมาใช้ และได้ร่วมงานกับ กสศ. เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงทางเลือกทางการศึกษาที่หลากหลาย  ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการเปิดประตูที่เคยปิดกั้น ให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาได้ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษากระแสหลัก แต่มีช่องทางมากมายให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและถนัด แล้ววันที่กลับออกไป เขาจะมีทักษะอาชีพ มีวุฒิการศึกษาเป็นเครื่องมือนำทางให้พบพื้นที่ของตนในสังคม” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าว

เปิด 6 ข้อเสนอเร่งด่วนจาก ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’  ในวาระเลือกตั้ง 2566

  1. สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายทางเลือก ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา ไม่ยึดติดกับกรอบเวลา แต่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม การค้นพบตัวเอง และเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ตามความถนัดหรือความสนใจเป็นสำคัญ ตัวอย่างนวัตกรรมหน่วยจัดการเรียนรู้หลากหลายทางเลือก  อาทิ หนึ่งโรงเรียนหลายระบบ, หนึ่งตำบลหรือชุมชนหนึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้ทางเลือก, หลักสูตรอาชีพระยะสั้น Upskill Reskill, โรงเรียนมือถือ, Open Education, Online Learning Platform, บ้านเรียน, ศูนย์การเรียน, ช้างเผือก Academy 

    ทั้งนี้ กสศ. ได้ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก แสวงหาข้อค้นพบและทางออกใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาอยู่ในขณะนี้ ตัวอย่างเช่น

    1.1 กรุงเทพมหานคร/Free From School ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา ทางเลือกที่ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการศึกษาและเศรษฐกิจจนต้องหลุดจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้าห้องเรียนเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงานและได้รับวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น-ปลาย

    1.2 เชียงใหม่/ไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนที่ออกแบบการศึกษาบนเงื่อนไขชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไร่ส้ม เด็กๆ สามารถพาน้องมาเลี้ยงและมาเรียนด้วยได้ 

    1.3 นครพนม/โรงเรียนมือถือ โรงเรียนที่สามารถเคลื่อนที่ไปหากลุ่มเป้าหมาย ช่วยผู้เรียนให้เลือกเรียนได้ตามความสนใจในทุกที่ทุกเวลา โดยศูนย์การเรียน CYF  (Children and Youth Development Foundation) ร่วมกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม (ศธจ.) สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม

    1.4 น่าน/ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน สถานศึกษาที่เกิดจากชาวบ้านในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาด้วยตัวเอง นอกจากลูกหลานไม่ต้องลำบากเดินทางไกลแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด และได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชีวิตจริงในชุมชน

    1.5 กาญจนบุรี/นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 ระบบ ที่โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ พื้นที่ที่เด็กในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัยเรียนร่วมกัน โดยการจัดการเรียนการสอนนั้นมีความคล้ายกับการเรียนแบบโฮมสคูล
  2. ระบบติดตามค้นหาและฐานข้อมูลรายบุคคลที่ไร้รอยต่อ ขยายผลระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาวิจัยพัฒนาขึ้น  เพื่อใช้ในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ โดยนำทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจำนวนนักเรียนตามระดับการศึกษาจากหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดมาเปรียบเทียบ ให้สามารถชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบในเบื้องต้นได้
  3. ปิดช่องว่างของกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ อาศัยโอกาสการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เป็นจุดเปลี่ยนพาประเทศไทยให้ไปสู่การมีระบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตให้สามารถดำเนินงานได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยคลี่คลายช่องว่างหรือปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาทางเลือก รวมถึงการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปยังหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม
  4. ระบบสวัสดิการครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษา นโยบายเรียนฟรี 15 ปี  ควรเพิ่มงบประมาณให้ครอบคลุมการเรียนรู้ในทุกเส้นทาง เช่น ศูนย์การเรียนของสถาบันทางสังคมที่ดำเนินการโดยบุคคล องค์กรชุมชนหรือองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนสถานประกอบการเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียน ขณะที่ศูนย์การเรียนประเภทอื่นที่เป็นที่ทางเลือกของเด็กและเยาวชนที่มีข้อจำกัดในชีวิต กลับยังไม่มีระเบียบใด ๆ ออกมาสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เรียน เช่น การได้รับอาหารเสริมนม อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้า/ยูนิฟอร์ม การได้รับวัคซีน การตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาล  นอกจากนี้ ควรพัฒนาการจัดชุดสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นรายคน  เช่น กลุ่มแม่วัยใส เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กพิการ หรือ ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น

    ทั้งนี้ยังรวมถึงงบประมาณสำหรับบริหารจัดการสถานศึกษา และงบประมาณ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ สำหรับครูและผู้จัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายอีกด้วย  ควรมีโอกาสได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทน และการฝึกอบรมทักษะความรู้ในการจัดการศึกษาตามสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมายอย่างเหมาะสมเท่าเทียม
  5. พัฒนาคูปองส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้านการศึกษา หรือ Education Credit ID เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา ซึ่งรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไปยังเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาสโดยตรง ให้สามารถใช้คูปองหรือ Credit ดังกล่าวในการเลือกเรียนรู้ ฝึกอบรม ได้ทุกที่ ทุกเวลาตามความต้องการ โดยจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนอุดหนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเลข 13 หลัก และ Prompt Pay ของเยาวชนทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งใช้ในการเก็บข้อมูลเครดิตการเรียนไปใช้ในการสมัครงานและศึกษาต่อในอนาคตได้ นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการลงทุน (เงินและไม่ใช่เงิน) เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาหลากหลายเส้นทางที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียนเป็นรายบุคคล ทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ  เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) การทำ CSR ของภาคเอกชน  สถานประกอบการเพื่อการฝึกอาชีพและการจ้างงาน  ทั้งนี้อาจมีมาตรการแรงจูงใจทางภาษีร่วมด้วย
  6. พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งของชุมชนเท่านั้น  และสนับสนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กเยาวชนวัยเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสผ่านการสนับสนุน  Sim / E-Sim แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-18 ปี) หรือเยาวชนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนการเข้าถึงโปรแกรมและช่องทางการศึกษาที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ได้ฟรี สนับสนุนอุปกรณ์เข้าถึง เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีการ Trade-in ในโปรโมชันเครื่องเก่าแลกใหม่ที่ยังสามารถใช้งานได้ ให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่ยังไม่มีอุปกรณ์