ลดช่องว่างการศึกษา ดัน อปท. เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ลดช่องว่างการศึกษา ดัน อปท. เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กสศ. สนับสนุนท้องถิ่นเดินหน้าเร่งเชื่อมโยงชุมชน เชื่อเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดสร้างโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา ด้านสถาบันพระปกเกล้าเป็นห่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 หวัง ความเหลื่อมล้ำแทรกซึมทุกมิติสังคม มั่นใจ อปท.มีศักยภาพสามารถยกระดับการจัดการปัญหาเท่าโรงเรียนใน กทม.

วิทยาลัยพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น, สถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation) ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ “โครงการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”  

ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของท้องถิ่นกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ ทำให้การศึกษาต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนในโรงเรียน มาเป็นการสอนทางออนไลน์ ที่ไม่ได้หมายถึงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก สัญญาณ wifi เท่านั้น แต่ยังต้องการวิธีการจัดการเรียนการสอนและวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ดีด้วย

“การเรียนหนังสือถ้าอยู่โรงเรียนครูคือผู้สนับสนุน แต่วันนี้เมื่อการศึกษาอยู่ที่บ้านการสนับสนุนอยู่ที่ผู้ปกครอง คำถามคือความสามารถในการสนับสนุนของผู้ปกครองเท่ากันหรือไม่ ครอบครัวที่มีความพร้อมผู้ปกครองมีเวลาช่วยสอนได้ ในขณะที่บางครอบครัวซึ่งพ่อแม่ต้องค้าขาย ไม่ได้มีเวลาหรือความรู้ที่สูงมากนักเริ่มมีปัญหา เมื่อครูให้การบ้านในการช่วยสอน ผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร นี่เป็นปัญหาของคนจำนวนมาก คำถามคือกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนได้รับทราบปัญหานี้หรือไม่ คำถามนี้จะส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษา คุณภาพของการเรียน รวมไปถึงมาตรฐานการศึกษาในอนาคต ยิ่งมีการบอกว่าเรียนออนไลน์ไม่ต้องสอบให้เลื่อนขึ้นชั้นได้เลยโดยอัตโนมัติ นี่ยิ่งเป็นคำถามใหญ่ของคุณภาพการศึกษาว่าเรียนออนไลน์จบได้ปริญญา ได้ประกาศนียบัตร จบระดับชั้นประถม จะได้มาตรฐานเหมือนกับเรียนที่โรงเรียนหรือไม่” ศ.วุฒิสาร กล่าว

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ปัญหาที่มีความสำคัญในวันนี้ คือหลังโควิดไปแล้วจะทำให้จุดเริ่มต้นของปัญหาความเหลื่อมล้ำเข้าไปอยู่ในทุกมิติ ทุกพื้นที่ ทุกชุมชน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเหมือนสึนามิที่กวาดอะไรไปบางอย่าง และเมื่อสถานการณ์เริ่มสงบเราคิดว่าสวยงามแต่ความจริงแล้วไม่ใช่

“เมื่อก่อนเราบอกว่าคนจนคือคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการ พอมีโควิดระบาดคนจนในเมืองกลายเป็นคนจนกลุ่มใหม่ ร้านเสริมสวย พนักงานนวด คนทำงานในโรงแรม เชฟจากโรงแรมห้าดาวเป็นคนตกงานที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ถ้าไม่มีครอบครัวอยู่ในชนบท คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่และมีอยู่ในทุกพื้นที่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การให้ทุกคนได้เท่ากัน แต่เป็นความพยายามในการลดความแตกต่าง การให้ทุกคนได้เข้าถึงสุขภาวะที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม” ศ.วุฒิสาร ระบุ

ทั้งนี้ ศ.วุฒิสาร มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและเท่าเทียม มี 2 ประเด็น ที่ต้องพูดถึงคือ 1.คือการสร้างโอกาส ยกตัวอย่างเด็กที่จบ ป.6 ทุกคนสามารถได้เรียนต่อในชั้นมัธยมหรือไม่ คำตอบในทางกฎหมายและปฏิบัติคือใช่เพราะมีโรงเรียนมัธยมอยู่ที่อำเภอ แต่ปัญหาอยู่ที่ทุกคนได้ใช้โอกาสนี้เท่ากันหรือไม่ 2.ความสามารถในการใช้โอกาสของทุกคนที่ไม่เท่ากัน

“หลังโควิดเศรษฐกิจที่จะถดถอยอย่างรุนแรงแต่การใช้จ่ายในด้านสุขภาพจะแพงขึ้น รายจ่ายของรัฐบาลเกือบทั้งหมดจะเป็นการเตรียมเพื่อสุขภาพ เตรียมวัคซีน เตรียมด้านการตรวจ และการเยียวยา ในขณะที่การจัดเก็บภาษีขยายเวลาออกไป ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินก็ถูกลดหย่อนลง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นไปเพื่อการเยียวยาแก้ไข ในขณะที่รายได้ลดลง แล้ววเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร เราจะอยู่อย่างไร ภาคการท่องเที่ยวที่เคยมีรายได้สูงสุดวันนี้ทำรายได้น้อยมาก”

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังเป็นปัญหาหลัก และสถานการณ์โควิดทำให้ ความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น มีหลายมิติ เห็นคความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงมากขึ้น เห็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงกลุ่มเปราะบางใหม่ สาเหตุที่ท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำ มี 3 ประการ 1.เป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย เป็นหน้าที่ 2.ความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นความสมัครใจที่ไม่มีใครบังคับ 3.ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้อง ลูกหลานและญาติมิตร คนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดการกับการศึกษา ด้วยการทำให้มีความยืดหยุ่น เชื่อมโยงกิจกรรมการศึกษาไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ การศึกษาของท้องถิ่นช่วยลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นและสังคมได้ และค้นหาจัดการการศึกษาให้ครบถ้วน หากลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึง เป็นการลงทุนที่จะมีผลระยะยาว

“เด็กที่ไม่มีที่เรียน ไปสมัครโรงเรียนเทศบาลอย่างไรก็ต้องได้เรียน นี่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งจะปล่อยให้เด็กไม่มีที่เรียนไม่ได้ เด็กต้องได้รับอาหารกลางวัน อุปกรณ์ต้องทันสมัย ผมสนับสนุนให้โรงเรียนเทศบาลซื้ออุปกรณ์ที่ดีเหมือนโรงเรียนในกรุงเทพ คนตรวจสอบต้องไม่มาตั้งคำถามว่าทำไมถึงแพง แต่ต้องตั้งคำถามว่าเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดจะเรียนและมีคุณภาพที่ดีเท่ากับเด็กในกรุงเทพหรือไม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ สนับสนุนให้ผู้ที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงมากขึ้น ในด้านการศึกษา อปท. ได้รับการคัดเลือกในปี 2562 ถึง 48 แห่ง ท้องถิ่นต้องทำการศึกษาที่เป็นมิติชีวิตทั้งหมด และตั้งเป้าหมายทางการศึกษาท้องถิ่นต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสม การสร้างระบบสนับสนุนที่เอื้ออำนวย โดยให้อิสระกับโรงเรียนในการแก้ปัญหาแล้วรายงานกลับไปยังผู้ปกครอง” ศ.วุฒิสาร กล่าว

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในหัวข้อ “ลดช่องว่างการศึกษา ท้องถิ่นทำได้แค่ไหน อย่างไร?” ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย ปัจจุบันมีนักเรียนยากจน ด้อยโอกาสจำนวน 2.1 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 29.9 จากนักเรียนทั้งหมด มีเด็กนอกระบบ ซึ่งอายุระหว่าง 6-14 ปี จำนวน 4.3 แสนคน และคุณภาพโรงเรียนในชนบทล้าหลัง 2 ปีการศึกษาเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมือง

ดร.ไกรยส กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้มีเด็กยากจนเพิ่มขึ้น 3 แสนคน และเด็กยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพียง ร้อยละ 5 ต่อรุ่น  โดยช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาระหว่างคนรายได้น้อยกับปานกลางห่างกันถึง 20 เท่า แม้จะมีกฎหมายระบุว่าต้องมีการจัดการศึกษาภาคบังคับให้กับเด็ก ไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในปัจจุบันมีเด็กประมาณ 1.1 ล้านคนที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลาเพราะความยากจน บางคนอยู่ในวัยที่ต้องขึ้นชั้นประถมแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เข้าเรียน ส่วนเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาแล้วมีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน นอกจากนี้เด็กที่อยู่ในช่วงวัยหลังการศึกษาภาคบังคับ อายุ 15-25 ปี ล่าสุดจำนวนที่หลุดออกมาจากการศึกษาแล้วประมาณ 1 ล้านคน

“ท้องถิ่นสามารถทำได้เลย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใน 2 ขวบปีแรกสามารถดูแลได้เต็มที่ ท้องถิ่นเป็นสะพานที่สำคัญที่สุดในชีวิตเด็กเหล่านี้ เพราะถ้าเด็กจะไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เข้าอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะเป็นประตูบานแรกของเด็กเหล่านี้ เช่นเดียวกับเด็กหลังวัยการศึกษาภาคบังคับที่อยากจะเรียนแต่ยากจน ระดับอาชีวะ อุดมศึกษา ท้องถิ่นก็เป็นกลไกสำคัญให้เด็กเหล่านี้สามารถมีอาชีพ มีทักษะที่จะเป็นผู้ประกอบการเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โจทย์คือการเข้าถึงโอกาส เด็กอยู่ในระบบเราต้องป้องกันไม่ให้เขาออกไปจากระบบการศึกษา เพราะถ้าเขาออกไปแล้วยากมากและแพงมากที่จะดึงกลับเข้ามา เป้าหมายของเราคือส่งให้เด็กเหล่านี้ไปถึงชั้นมัธยมปลายหรือสูงกว่านั้น”

ดร.ไกรยส  กล่าวอีกว่า โรงเรียนเทศบาลหลายแห่งในท้องถิ่นมีศักยภาพที่สูง ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและคุณภาพของการศึกษา ยังคงเป็นปัญหาที่จะอยู่ในสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง

“หลายคนเชื่อว่าเด็กต้องได้ของเท่ากัน ต้องได้เงินเท่ากัน เด็กที่ จ.นราธิวาสต้องได้เงินเท่ากับเด็กที่ กทม. ความเป็นจริงเด็กแต่ละคนเกิดมาต้นทุนไม่เท่ากัน คนที่อยู่ในพื้นที่จะเห็นว่ามีใครที่ขาดแคลน มีเด็กพิการกี่คน ซึ่งท้องถิ่นจึงสามารถเข้าไปเติมในสิ่งที่ขาดได้ทันที ไม่ใช่ถม ท้องถิ่นได้เจอเด็กทุกวัน คนที่อยู่ในกระทรวงส่วนกลางอยู่ห่างไกลไม่สามารถรู้ได้ว่าเด็กคนไหนขาดอะไร ขาดเท่าไร แล้วจะเติมให้ใคร กลไกท้องถิ่นจึงเป็นความหวังเดียวของประเทศไทยที่จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดได้อย่างใกล้ชิดดีที่สุด”

รองผู้จัดการ กสศ. ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ มีแนวทางเพื่อความยั่งยืนคือต้องป้องกันไม่ให้เด็กที่อยู่ในระบบหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากเด็กที่หลุดออกไปเพราะเป็นแม่วัยใสหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่สามารถกลับมาเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกเลย ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรทำควบคู่ไปพร้อมกับการเข้าไปในพื้นที่เพื่อเติมให้กับคนที่ขาด

“ยูเนสโกประเมินความเสียหายจากปัญหาเด็กนอกระบบ ปัจจุบันสูงถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไทย หรือ 2 แสนล้านบาทต่อไป ประเทศไทยปีนี้ยังไม่แน่เลยว่าจีดีพีจะโตถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ถ้าเราสามารถมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือปัญหาความมั่นคงในเศรษฐกิจเช่นกัน การนำเงินไปแก้ปัญหาความยากจนในปลายทางมีแต่จะใช้เงินเป็นจำนวนมากและได้ผลจำกัด ถ้าปีนี้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น แล้วท่านสามารถทำให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเชื่อมกับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่นของท่านมีความมั่นคง อ้างตัวเลขยูเนสโกตัวนี้ได้ว่าการที่มีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามันเกี่ยวข้องกันอย่างจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องมากังวลว่าวันนี้แก้ปัญหาปากท้องก่อน อย่าเพิ่งแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมไม่อยากเห็นวิวาทะอย่างนั้น เรื่องปากท้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามันเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้กับเรื่องที่จะเกิดขึ้นวันหน้า อย่าแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกัน ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้นที่จะสามารถบอกประชาชนได้ว่า2เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องทำตั้งแต่วันนี้เลย” ดร.ไกรยส กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ไกรยส ย้ำว่า การสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ใกล้ขิดกับประชาชนที่สุดจึงมีศักยภาพที่สุดในการประสานความร่วมมือของคนในพื้นที่ ทั้งหน่วยราชการ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อร่วมสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น