ภาคีเครือข่ายตรวจวัดสายตา-ตัดแว่นตาให้นักเรียนฟรี สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี

ภาคีเครือข่ายตรวจวัดสายตา-ตัดแว่นตาให้นักเรียนฟรี สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี

กสศ. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สปสช. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  แถลงข่าว “เเว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี” ตรวจคัดกรองความผิดปติของสายตาในเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ และตัดแว่นให้ฟรี

เมื่อวันที่ 6 มกราคม​ 2565 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ได้มีการจัดงานแถลงข่าว “แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อ เด็กไทยสายตาดี” โดยโครงการนี้เป็นการรณรงค์ตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.1 ทุกคนเพื่อค้นหาความ ผิดปกติทางสายตาแล้วรักษาหรือตัดแว่นสายตาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และภายในงานยังได้มีการมอบแว่นสายตาให้กับ เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นการประสานงานโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี​ เพื่อให้ เครือข่ายได้รับแว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาเด็กสายตาผิดปกติ หากไม่ได้รับการ แก้ไขจะส่งผลต่อการเรียนรู้และสุขภาพ การดำเนินงานตามโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปี ที่ 1 ทุกคน ได้รับการคัดกรองสายตา และเพิ่มการเข้าถึงบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีนักเรียนได้รับการคัดกรองสายตา 245,150 คน (คิดเป็น ร้อยละ 32) จากนักเรียนทั้งหมดกว่า 7 แสนคน พบสายตาผิดปกติ 6,217 คน (คิดเป็นร้อยละ 2.5) ได้รับการตรวจ วินิจฉัยโดยจักษุแพทย์และได้รับแว่นสายตาจากภาคเอกชน (ห้างแว่นท็อปเจริญ) จำนวนทั้งสิ้น 2,929 คน ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงเรียน ปิดทำการเรียนการสอน นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน จึงยังคงมี นักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองสายตา

สำหรับเป้าหมาย ปี 2565 นี้ มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวนทั้งหมด 752,884 คน จะได้รับการคัดกรองสายตาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (602,307 คน) คาดว่าจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติ ร้อยละ 3 (18,069 คน) และจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 (10,841 คน)

นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังสุขภาพสายตานักเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายจะพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขงานอนามัยโรงเรียนเพื่ออบรมครูประจำชั้นทุกโรงเรียน ดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ในโรงเรียนทุกสังกัด ตลอดจนนักเรียนชั้นอื่นที่สงสัยว่าสายตาผิดปกติ ภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจาก สปสช. และสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก​ อปท.ในการนำพานักเรียนมาพบจักษุแพทย์​ โดยได้จัดกิจกรรมรณรงค์ตรวจคัดกรองสายตาและมอบแว่นสายตานักเรียนในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 ระหว่างวันที่ 4 – 14 มกราคม 2565 ณ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยมาตรการเข้ม UP และ CFS ตามบริบทและสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ จะร่วมกับสถานศึกษาทุกสังกัด ดำเนินการให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) สาขาตา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบบริการตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กจะเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนโดยมีการอบรม ครูเพื่อคัดกรองสายตาเด็ก เมื่อครูพบความผิดปกติ จะมีการยืนยันซ้ำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช. จากนั้นเมื่อยืนยันความผิดปกติทางสายตาแล้ว จะส่งตัวไปที่ Refraction unit หรือ หน่วยวัดแว่น​ ซึ่งส่วนมากอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลทั่วไปและทำการตัดแว่นตาให้

นพ.ไชยสิทธิ์กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาอาศัยจากการบริจาค เช่น จากห้างแว่น หรือมูลนิธิต่างๆ แต่ปีนี้ สปสช.ให้ความสำคัญและจัดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถสั่งตัดแว่นจาก ร้านแว่นแล้วเบิกจ่ายไปที่ สปสช.ได้ ขณะเดียวกัน สปสช.ยังมีกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการเพื่อนำส่งเด็กที่มีสายตาผิดปกติมาตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ในปีนี้เมื่อโรงเรียนไหนที่เริ่มเปิดเทอมได้แล้ว ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ก็จะ ดำเนินการคัดกรองทันที

ศ.​พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความผิดปกติของ สายตาในเด็กจะส่งผลต่อทั้งการอ่าน เขียน เรียน เล่น การรับรู้​ และการมองเห็น เพราะเมื่อตามีการพัฒนาก็จะเชื่อม ไปกับการเรียนรู้และพัฒนาสมอง แต่เมื่อตามีความผิดปกติ เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น เช่น การฟัง เข้ามาแทนที่ ดังนั้นช่วงอายุที่ควรทำการคัดกรอง จริงๆ​ แล้วควรทำการคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด โดยผู้ปกครองเป็นผู้สังเกต เช่น เด็ก อายุ 2 เดือน ไม่จ้องหน้าแม่ หรือเด็กโตมีอาการปวดหัวง่าย ไม่มีสมาธิเวลาเรียนเอาแต่เล่น ปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจาก สายตาผิดปกติก็ได้ ส่วนการตรวจคัดกรองในเด็ก ป.1 จะเป็นการคัดกรองในกรณีสายตาสั้นหรือสายตายาว เพราะถ้า เลยช่วงอายุนี้ไปแล้วเด็กจะมีภาวะสายตาขี้เกียจและไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าคัดกรองในช่วงอายุนี้ก็ยังสามารถกระตุ้น ให้กลับมาทำงานได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรคัดกรองตั้งแต่เกิดไปจนถึงทุกช่วงอายุ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ สปสช. ตั้งงบประมาณเพื่อ สนับสนุนเป็นค่าแว่นตาให้กับหน่วยบริการที่ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา และสั่งตัดแว่นตาให้กับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ทุกสิทธิ์การรักษา โดยจะจ่ายค่าแว่นตาให้เป็นการเฉพาะ ตามรายการบริการหรือ Fee Schedule เพื่อสนับสนุนให้ เด็กอายุ 3-12 ปีทุกคนที่มีภาวะสายตาผิดปกติให้สามารถเข้าถึงแว่นตาได้ โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม​ 2565 เป็นต้นไป เป็นของขวัญเพื่อให้เด็กไทยสายตาดี ขณะเดียวกัน สปสช.จะสนับสนุนให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรภาคการศึกษา​ ตลอดจนภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ จัดบริการ เพื่อช่วยให้นำตัวเด็กนักเรียนเข้ามารับบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​(กสศ.) กล่าวว่า การบูรณา การความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ ยากลำบาก​ ซึ่งมี 15% ของทั้งประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาสายตาไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น จนอาจส่งผลต่อ การดำเนินชีวิตและการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว โดย กสศ.ให้ความสำคัญกับการในการช่วยเหลือนักเรียนและ วางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป็นรายบุคคล โดยเน้นการทำงานแบบ Area Based Education ร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ขณะเดียวกัน กสศ.ยังใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอ ภาคทางการศึกษา หรือระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายนักเรียน ยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เพื่อการค้นหาและแก้ไขปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการ เรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพได้ต่อไป และ​ กสศ.ยังใช้การทำงานโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อสนับสนุนครูและโรงเรียน ผ่านศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ

ดร.ไกรยสกล่าวว่า มีเด็กถึง 4.1% ของเด็กอายุ 3-12 ปี ที่มีภาวะผิดปกติทางสายตาและต้องได้รับแว่นตาเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มเป้าหมาย กสศ.ในช่วงวัยดังกล่าว จากข้อมูลปี 2563 ประมาณการว่ามีเด็กยากจนและยากจนพิเศษในช่วงอายุ 3-14 ปี ประมาณ 50,000-70,000 คน ที่ต้องได้รับการตัดแว่นเร่งด่วน