“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เรียนฟรี ได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและชีวิตผู้เรียน

“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เรียนฟรี ได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและชีวิตผู้เรียน

ร่วมทางกันมากว่า 4 ปีแล้ว สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่นผ่านโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ได้ร่วมเดินทางกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สร้างโอกาสให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้เรียนต่อในสายอาชีพตามสาขาที่เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศอย่างอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) หลังเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อการดำเนินงานส่งเสริมผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง และสร้างความเข้มแข็งสถานศึกษาในการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน” โดยได้กำหนดระยะเวลาให้มีความต่อเนื่องไปอีก 12 ปี เพื่อร่วมกันป้องกันเยาวชนหลุดจากระบบด้วยโมเดลการศึกษายุติความยากจนข้ามรุ่น สร้างกำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง “เรียนฟรีแล้วได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน” ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและชีวิตผู้เรียนต่อไป

เพื่อให้วาระสำคัญในการสร้างกำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง ถูกขับเคลื่อนไปอย่างเข้มแข็ง ช่วงหนึ่งได้มีการเปิดวงคุยทางวิชาการที่ว่าด้วย “นวัตกรรมการทำงานและแนวทางการขยายผลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสายอาชีพและพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน” โดยมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณพรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมวงเสวนา

กสศ. ชวนลงลึกในรายละเอียดจากการสรุปจากบทสนทนาดังต่อไปนี้

‘อาชีวะ’ คือการศึกษาแห่งอนาคต

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ.

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. กล่าวว่า สอศ. เป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ อาชีวศึกษาจึงเป็นการศึกษาแห่งอนาคตที่จะเติบโตไปบนพื้นฐานของการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาคและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันจะมีการจัดการศึกษาที่หลากหลายและเข้าถึงคนทุกกลุ่มมากขึ้น หากผลวิจัยยังชี้ว่ามีเยาวชนวัย 15-24 ปี ราว 1 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงโอกาส วิสัยทัศน์ของ สอศ. จึงมุ่งไปที่การนำเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีความสนใจและมีศักยภาพ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตและพัฒนา ‘คนสายอาชีวะสมรรถนะสูง’ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ และนำมาสู่การจับมือกับ กสศ. ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

“เพราะโลกกำลังเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วในทุกทาง อาชีพต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานเปลี่ยนไป โครงการนี้จึงเป็นโมเดลที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ 

“สำหรับอาชีวศึกษาที่มีกำลังคนตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. จนถึงปริญญาตรี เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคนในทุกปี จำเป็นต้องปรับสภาพตามให้ทัน ต้องเติมสมรรถนะที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการดึงเอาเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสที่มีความสามารถให้ได้เข้ารับการพัฒนาตนเอง ผ่านการค้นหา คัดกรอง คัดเลือกผู้เรียนที่ตรงคุณสมบัติ แล้วจัดการเรียนการสอนที่เติมเต็มด้วยหลักสูตรทันสมัย มีการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจโดยหน่วยงานเฉพาะทาง 

“ท้ายที่สุดเรามีการออกแบบหลักสูตรที่กำหนดสมรรถนะผู้เรียนโดยสถานประกอบการ เพื่อการันตีคุณภาพนักศึกษา และการันตีว่าผู้เรียนจะมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาทุน”

ปลุกแรงบันดาลใจด้วยบรรยากาศการเรียนในสถานประกอบการ

ผศ.อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะ ‘คณะหนุนเสริม’ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า ประสบการณ์ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 ทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ และเกิดการเติบโตของเครือข่ายสถาบันอาชีวศึกษาและสถานประกอบการที่เข้มแข็ง

โจทย์การดูแลเชิงลึกมีเป้าหมายว่า นักศึกษาทุนต้องจบการศึกษาตามเกณฑ์ และมีทักษะขั้นสูง มีสุขภาพใจที่ดี ได้เรียนรู้การจัดการด้านการเงิน คณะหนุนเสริมได้สร้างทีมดูแลให้คำปรึกษาร่วมแก้ปัญหาในทุกมิติ มีการปรับปรุงทุกปีเพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษาในโครงการมีกระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมในแต่ละสาขา นอกจากนี้ยังปลูกฝังทักษะและความเข้าใจเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเส้นทางอาชีพร่วมไปกับชุมชนและสถานประกอบการในชุมชน

“คณะหนุนเสริมได้ร่วมกับสถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรสร้างสมรรถนะที่เชื่อมโยงกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และที่สำคัญคือการเข้าร่วมของสถานประกอบการ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และช่วยออกแบบการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ความต้องการในภูมิภาค และความต้องการเชิงพื้นที่ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจะได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกการทำงาน ด้วยระบบทวิภาคีที่ผู้เรียนจะได้สัมผัสบรรยากาศการประกอบอาชีพควบคู่กับการเรียนรู้ จนเกิดแรงขับในการสร้างแรงบันดาลใจให้มองไปถึงความสำเร็จและความก้าวหน้า 

“ด้วยรูปแบบดังกล่าวนี้ นักศึกษาจะได้รับการทดสอบวัดระดับว่ามีศักยภาพเพียงพอในการทำงานจริง รวมถึงสถาบันและคณะหนุนเสริมโครงการยังมีการติดตามต่อเนื่องไปถึงการทำงานหลังจบการศึกษา เพื่อนำมาถอดบทเรียน ปรับปรุงระบบผลิตให้ลดข้อจำกัดได้มากที่สุด จนมั่นใจว่าแนวทางนี้จะเป็นเหมือน ‘คู่มือต้นแบบ’ ของการจัดการศึกษาสายอาชีพที่ช่วยยกระดับความสามารถผู้เรียน เป็นการศึกษาที่การันตีการมีงานทำและเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน”

การศึกษาเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนที่ติดลบได้รับการเติมเต็ม

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ในแง่มุมของการศึกษาพิเศษเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษว่า ความเหลื่อมล้ำจะลดลงด้วยการเติมความเสมอภาค และความเสมอภาคนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลที่ติดลบด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ดังนั้น ‘การศึกษาพิเศษ’ จึงมีความสำคัญมากกับการทำงานในส่วนนี้

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่น้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้คนพิการที่มีราว 3 ล้านคน (ข้อมูลปี 2566) จบการศึกษาสูงสุดที่ระดับชั้นประถมศึกษา ขณะที่สถานศึกษาในระดับสูงกว่าภาคบังคับ อาทิ อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา ยังเปิดรับจำนวนไม่มาก โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจึงเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยขยายโอกาสให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น

“นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษาของกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษได้รับการเติมเต็ม คือการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือที่รองรับผู้เรียนได้เป็นรายบุคคล เพราะความต้องการพิเศษนั้นมีหลากหลาย เรามีผู้เรียนที่หูไม่ได้ยิน ตามองไม่เห็น เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ออกแบบสถานที่เรียน การเดินทาง รวมถึงความพร้อมของครู และผู้ช่วยผู้ดูแลในด้านต่าง ๆ

“เมื่อเจาะลึกลงไปที่ตัวผู้เรียน สิ่งหนึ่งที่พบคือต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาสิ่งที่สนใจและถนัด โดยต้องเติมเต็มให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถดึงศักยภาพที่แฝงอยู่ภายในออกมาให้ได้ เช่น คนที่หูไม่ได้ยิน แต่มีความถนัดด้านกราฟิก ก็ต้องได้รับการผลักดันให้ตรงจุด ต่อมาคือการสื่อสารไปยังสังคมให้เข้าใจและยอมรับว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้มีความสามารถและทำงานได้จริง 

“นอกจากนี้การมีเครือข่ายสถาบันสายอาชีพที่ทำงานร่วมกับสถานประกอบการจะเป็นการเปิดประตูบานแรก เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่า ถ้าเรามีการดูแลและเติมทักษะที่เหมาะสมและมีเส้นทางต่อยอดระยะยาว ภาพของผู้มีความต้องการพิเศษที่เรียนจบการศึกษาระดับสูงและเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ทันทีก็จะมีให้เห็นเพิ่มขึ้น และจะยิ่งขยายสาขาอาชีพออกไป”

ผศ.ดร.ชนิศา กล่าวว่า การเปิดรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษของสถาบันอาชีวศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เป็นระบบที่ยั่งยืนได้ คือเครือข่ายสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่จะบอกสังคมว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้เรียนได้ ทำงานได้ และทำได้ดีด้วย ขอเพียงให้การศึกษามาช่วยพัฒนาให้เกิดความพร้อม แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองของน้อง ๆ กลุ่มนี้ รวมถึงสถานประกอบการอื่น ๆ ก็จะเปิดใจ เชื่อมั่น และมองเห็นศักยภาพร่วมกัน แล้วเมื่อนั้นสังคมของเราจะเป็นพื้นที่ของโอกาส และเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สมรรถนะจะดีได้ สุขภาวะจิตใจต้องดีด้วย

พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็ก วัยรุ่น และครอบครัว
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็ก วัยรุ่น และครอบครัว สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตทำงานกับ กสศ. ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุน เนื่องด้วยพื้นฐานความเปราะบางเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทำให้มีการทำงานที่ครอบคลุมทั้งตัวนักศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ รวมถึงร่วมกับสถานบริการทางการแพทย์เพื่อเชื่อมโยงการส่งต่อกรณีเร่งด่วน ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมและทันสถานการณ์

“สถาบันสุขภาพจิตฯ มีการสำรวจข้อมูลแวดล้อมเพื่อเข้าถึงสุขภาวะจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิตได้ทำ MOU ร่วมกับ สอศ. เพื่อทำงานกับนักศึกษาสายอาชีพทุกคน ไม่เฉพาะในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มนักศึกษาทุนฯ เรามีระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือที่มุ่งไปที่การใช้ชีวิตในสังคม เช่น การสื่อสารเชิงบวก 

“นอกจากนี้ยังมีระบบส่งต่อระหว่างสถานศึกษากับสถาบันสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีครูแกนนำที่ดูแลสุขภาวะจิตใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารอารมณ์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ถ่ายทอดความเครียดกังวลได้โดยไม่มีการตัดสิน ครูกลุ่มนี้จึงเป็นประตูบานแรกที่พร้อมเปิดรับเด็กในทุกสถานการณ์ แต่หากประเมินแล้วว่าเกินความสามารถของครู ก็สามารถส่งต่อมายังหน่วยงานรองรับที่มีหมอเป็นโค้ชคอยรับฟังและให้ความช่วยเหลือครูอีกทอดหนึ่ง

“เราเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของการศึกษา คือการเสริมทักษะชีวิต มีการดูแลจิตใจที่เหมาะสม รู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยง แน่นอนว่าการที่จะทำให้นักศึกษาเปิดใจต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราช่วยกันส่งเสริมให้มีการจัดการกับความรู้สึก ความเครียดกังวล และความไม่สบายใจต่าง ๆ ให้ผู้เรียนสามารถพูดและแสดงออกได้โดยไม่รู้สึกผิด ลดการแบ่งแยก ตีตรา และอคติของผู้รับฟัง การสื่อสารในเรื่องสุขภาพจิตใจที่ซับซ้อนก็จะทำได้ง่ายขึ้น”

โมเดลต้นแบบอาชีวะ เปลี่ยนภาพอนาคตของอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ

พรเทพ เจริญผลจันทร์ ผจก.ส่วนชุมชนสัมพันธ์
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

พรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ใช่แค่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่คือการพัฒนาระบบเพื่อสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานได้จริง

“เพราะอาชีวศึกษาคือต้นทางของแหล่งผลิตกำลังคนให้กับสถานประกอบการต่าง ๆ การพัฒนาเยาวชนภายใต้การออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ทั้งการเรียนการสอน การฝึกงาน จึงเป็นการตอบโจทย์ที่ตรงจุด เบทาโกรมีโอกาสทำงานในโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองนักศึกษาทุน ทำให้เห็นการพัฒนาตลอดกระบวนการว่าแต่ละคนมีความพร้อมในทักษะทุกด้าน

“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทำให้เราเห็นนวัตกรรมการศึกษาใหม่ที่มีการดูแลความเป็นอยู่ของผู้เรียน มีการปรับหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ มีการเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ และมีพื้นที่สำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ ผมมองว่านี่คือฐานรากอันแข็งแรงของการศึกษาสายอาชีพที่บ่มเพาะบุคลากรคุณภาพเพื่อไปสู่การทำงาน โดยสถานประกอบการจะได้กำลังคนที่ทำงานได้ทันที มีทักษะความสามารถตรงตามความต้องการและพัฒนาต่อยอดได้ มีความเข้าใจและมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและทิศทางการเติบโตขององค์กร ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย”

พรเทพ กล่าวว่า แม้เป้าหมายสำคัญของโครงการจะมุ่งเน้นที่การพัฒนานักศึกษาและสถานศึกษา แต่วันนี้เมื่อผ่านมาถึงรุ่นที่ 5 ทุกฝ่ายได้เห็นร่วมกันแล้วว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงยังช่วยพัฒนาครอบครัวผู้ปกครองของนักศึกษา และพัฒนาไปถึงสถานประกอบการ เกิดเป็นโมเดลการเรียนการสอนสายอาชีพที่ไม่ได้การรันตีแค่การมีงานทำ แต่การันตีไปถึงความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพที่รออยู่ในวันข้างหน้า

“ถ้าโมเดลลักษณะนี้ขยายออกไปในสถานศึกษาสายอาชีพทุกแห่ง อนาคตเราจะได้เห็นภาพที่สถานประกอบการต้องแข่งขันกันยื่นข้อเสนอให้นักศึกษาสายอาชีพเลือก ว่าจะทำยังไงให้น้อง ๆ มาทำงานกับเรา ผมคิดว่าการทำงานครั้งนี้คือนวัตกรรมต้นแบบของการยกระดับอาชีวศึกษาของประเทศไทย และยกระดับมาตรฐานการผลิตกำลังคนที่เป็นหัวใจของการผลิตของประเทศ และเชื่อว่าสถานประกอบการหลายแห่งก็ยินดีร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง กสศ. – สอศ. ป้องกันเยาวชนหลุดจากระบบด้วยโมเดลการศึกษายุติความยากจนข้ามรุ่น สร้างกำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง “เรียนฟรีแล้วได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน” ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและชีวิตผู้เรียน