กสศ. เปิด Summer Camp รวมตัวครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 เช็กระยะหลังลงพื้นที่ทำงานจริง เติมทักษะใหม่-แรงบันดาลใจ พร้อมสานเครือข่ายเพื่อนครูทั่วประเทศ

กสศ. เปิด Summer Camp รวมตัวครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 เช็กระยะหลังลงพื้นที่ทำงานจริง เติมทักษะใหม่-แรงบันดาลใจ พร้อมสานเครือข่ายเพื่อนครูทั่วประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม Homegrown Teacher Reunion 2025 (Kru Rak Thin Summer Camp 1) รวมตัว ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 327 คนจากทั่วประเทศ กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากเริ่มต้นปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนปลายทาง เพื่อร่วมกิจกรรมเสริมสร้างทักษะใหม่ เติมพลังใจ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระยะยาวในกลุ่มเพื่อนครู

กิจกรรม Summer Camp แบ่งจัดเป็น 2 รอบ โดย รอบแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร สำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่นจากภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ส่วน รอบที่สอง จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ

ในกิจกรรมรอบแรก ณ กรุงเทพมหานคร กสศ. ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ขึ้นกล่าวต้อนรับและให้โอวาทแก่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก พร้อมถ่ายทอดสารจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ฝากความห่วงใยและกำลังใจมายังครูรุ่นใหม่ พร้อมเน้นย้ำบทบาทสำคัญของ “ชีวิตการเป็นครู” ที่ต้องยึดประโยชน์ของเด็กและชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังขอให้ครูทุกคนตระหนักว่า “ทุกคนคือความหวังของกระทรวงศึกษาธิการและของประเทศไทย” ในภารกิจยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่เกิดขึ้นจากแนวคิดในการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่นให้เติบโตเป็นครูมืออาชีพที่สามารถกลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูมาโดยตลอด

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์

“การเป็น ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ จึงหมายถึงครูที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อบ่มเพาะพัฒนา ให้มีคุณสมบัติเฉพาะต่อการทำงานในพื้นที่ใดหนึ่ง ผ่านการคิดไตร่ตรองและออกแบบโดยคณะทำงานหลายฝ่าย เป็นกระบวนการยาวนานที่เริ่มตั้งแต่เยาวชนคนหนึ่งยังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งระหว่างนั้นยังมีหลักสูตรและกิจกรรมหนุนเสริมที่เข้มข้น และมาถึงวันนี้ที่ทุกคนได้รับการบรรจุเป็นครู ดังนั้นจึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนถือเป็นความหวังของการยกระดับการศึกษาให้กับประเทศของเรา และขอให้ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของการเป็นครู เราทุกคนจะสามารถนำเอาโอกาสและความหวังไปส่งต่อให้เด็ก ๆ และชุมชนให้ได้มากที่สุด

“อีกประการหนึ่งคือการสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น คณะทำงานได้มุ่งความสำคัญไปที่การผลิตครูในสาขาวิชาเอกปฐมวัย อันเป็นช่วงสำคัญของพัฒนาการทั้งด้านทักษะ ทัศนคติ และบุคลิกภาพ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่คนคนหนึ่งจะใช้ไปตลอดชีวิต การมีครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีและช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัย จึงเปรียบได้กับจุดเปลี่ยนของชีวิต ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนเป็นครูจะต้องรู้คิด มีทักษะการกลั่นกรองการกระทำ คำพูด ตลอดจนเตือนตัวเองให้รู้จักยับยั้งชั่งใจและแสดงออกด้วยทัศนนคติเชิงบวก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เองที่จะเป็นเกราะกำบังและเครื่องมือให้ผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ไปได้”    

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ท้ายที่สุดแม้ในวันนี้ทุกคนจะจบการศึกษาและบรรลุเป้าหมายขั้นแรก คือได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนปลายทางแล้ว อย่างไรก็ตามทุกคนต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพครูจะต้องบอกตนเองเสมอว่าโลกยังคงหมุนไปและมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก การจะพัฒนาศิษย์ให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมได้ ครูเองก็จำเป็นต้องทบทวนและแสวงหาความรู้ใหม่ไปด้วยเช่นกัน

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงการจัดกิจกรรม Summer Camp ว่า เป็นความตั้งใจของ กสศ. ที่จะเติมเต็มศักยภาพของครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 หลังจากผ่านครึ่งปีแรกของการเริ่มปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนปลายทาง โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการที่วางแผนติดตามและสนับสนุนครูรุ่นใหม่กลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปีหลังสำเร็จการศึกษา

กิจกรรม Summer Camp นอกจากจะเป็นการเสริมทักษะและแรงบันดาลใจให้ครูก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ ยังเป็นโอกาสในการเก็บข้อมูลจากประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนครูรุ่นที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการบ่มเพาะนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นต่อ ๆ ไป ตั้งแต่รุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 5

ดร.อุดม วงษ์สิงห์

“Summer Camp คือการกลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อสำรวจครึ่งปีแรกของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 หลังออกไปทำงานเต็มตัว เพื่อเก็บข้อมูลว่าครูรุ่นแรกของเราเขาไปพบเจออะไรกันมาบ้าง ในบริบทพื้นที่และลักษณะเฉพาะของโรงเรียนปลายทาง โดยข้อมูลหนึ่งที่สำคัญคือครูรุ่นใหม่เกือบทุกคนต่างให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าต้องการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเกี่ยวกับการนำ AI มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน งานนี้เราจึงมีกิจกรรม ‘Teaching Innovation’ ที่จำลองห้องเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการสอนและเติมเทคนิคการสอนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI ต่าง ๆ”

อีกกิจกรรมไฮไลต์ในค่ายครั้งนี้คือ Growth Mindset หรือ “การคิดเพื่อการเติบโต” ซึ่งได้รับเกียรติจากทีมของ คุณพอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้งองค์กร Creativity, Culture and Education (CCE) จากสหราชอาณาจักร มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ เช่น Active Learning (การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง), Dialogic Teaching (การเรียนรู้ผ่านการสื่อสาร) และ Mother Tongue (การเรียนรู้ด้วยภาษาแม่) ซึ่งทั้งหมดสามารถปรับใช้ได้จริงในบริบทพื้นที่ห่างไกล

นอกจากนี้ เพื่อเติมเต็มพลังใจของครูที่ต่างแยกย้ายไปทำงานในถิ่นฐานของตนเอง กิจกรรมครั้งนี้ยังเปรียบเสมือนการมา “ฮีลใจ” ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลาย เช่น “สุขภาพกายครู สู่คุณภาพชีวิตนักเรียน” (Health Literacy), กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ “ครูใหม่เชื่อมใจ สร้างพลังเรียนรู้ร่วมกัน” และ “ครูใหม่ใจสร้างสรรค์” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ครูได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ “จากเพื่อนถึงเพื่อน” อีกด้วย 

ดร.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเชิงกระบวนการ การรวมตัวของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกหลังจากจบการศึกษา ยังมีความหมายสำคัญในฐานะการวางรากฐาน “เครือข่ายครู” ที่เหนียวแน่นระหว่างศิษย์เก่า 11 สถาบัน ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ “ชุมชนครู” จากหลากหลายพื้นที่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงพลังเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กในพื้นที่ห่างไกลในระดับประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน   

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงการกระจายตัวของครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศว่า แม้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการพัฒนาครูในรูปแบบ “ครูสั่งตัด” หรือ Tailormade ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน แต่ด้วยแนวทางการดำเนินงานที่ออกแบบไว้ในระยะยาว เชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ของโครงการจะเริ่มปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1–2 ปีการศึกษา และจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในช่วง 3, 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า

“การผลิตครูในระบบปิด หรือที่เราเรียกว่า ‘ครูสั่งตัด’ หมายถึงความต้องการของพื้นที่ปลายทางเป็นอย่างไร เราจะผลิตพัฒนาตามโจทย์นั้น ซึ่งสำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ครูคนหนึ่งจะได้รับการออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ ๆ หนึ่งอย่างไร้รอยต่อ โดยสี่ปีของการเรียนรู้ในสถาบันจะมีลำดับขั้นตอนที่ทำให้นักศึกษาครู ‘Transform’ เป็นครูในพื้นที่เฉพาะได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่แน่นอนว่าในย่างก้าวแรกของการทำงาน ทุกคนจะต้องเผชิญกับความท้าทายในอาชีพด้วยกันทั้งนั้น 

“ข้อได้เปรียบหรือปัจจัยที่ควบคุมได้ประมาณหนึ่งของครูรัก(ษ์)ถิ่น คือเราแน่ใจว่าเขาจะไม่ ‘ช็อกทางวัฒนธรรม’ จากความห่างบ้าน ความไม่คุ้นเคย หรือความรู้สึกแปลกแยกจากชุมชนแวดล้อม ดังนั้นด้วยข้อแม้ที่น้อยกว่าในการปรับตัวกับอาชีพ เมื่อเทียบกับครูระบบเปิดซึ่งได้รับการบรรจุในพื้นที่ที่อาจไม่คุ้นชิน โอกาสที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาโรงเรียน การทำให้ลูกศิษย์เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ หรือการสื่อสารทำงานร่วมกับท้องถิ่นหรือชุมชน ก็มีแนวโน้มที่จะทำได้เร็วและคล่องตัวกว่า นอกจากนี้ยังแน่ใจได้ว่าครูคนใหม่จะอยู่กับโรงเรียนไปอีกอย่างน้อย 6 ปี จึงช่วยตัดปัญหาครูโยกย้ายกลับถิ่นฐาน ทั้งการพัฒนาลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง หรือการวางแผนงานระยะยาวต่าง ๆ ยังสามารถทำได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนตัวบุคลากรในอนาคต ฉะนั้นเชื่อว่าถ้าประเทศเราสามารถผลิตครูในระบบปิดได้มากขึ้น โดยค่อย ๆ เพิ่มเปอร์เซ็นต์เข้าไปทุกปีที่มีครูจบใหม่ ก็จะเป็นแนวทางที่น่าจะดี และช่วยลดลดปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกมาก”  

ดร.อุดม กล่าวปิดท้ายว่า ภายใต้แนวคิดของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมุ่งเป้าหมายระยะยาวสู่อนาคต การประเมินความสำเร็จจึงไม่สามารถวัดได้เพียงแค่จำนวนครูที่ผลิตได้และส่งไปประจำการในโรงเรียนปลายทางเท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการติดตามความก้าวหน้าในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากการทำงานของครูรัก(ษ์)ถิ่น

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของสถาบันผลิตครู ที่จำเป็นต้องยกระดับขึ้นเป็น “สถาบันต้นแบบ” สำหรับการพัฒนาและผลิตครูในระบบปิดอย่างแท้จริง เพราะ กสศ. เชื่อว่า การมีครูกลุ่มหนึ่งที่มีทักษะเฉพาะ และสามารถทำงานได้ตรงตามบริบทของโรงเรียนในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในภาพรวมของประเทศ

“จากนี้ไปอีกอย่างน้อย 6 ปี คือช่วงเวลาสำคัญที่คณะทำงานจะติดตามและผลักดันให้แนวทางนี้เกิดผลจริงในระดับนโยบาย เพื่อปักหมุดอนาคตของการพัฒนาครู และยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” ดร.อุดม กล่าว