สำนักพุทธฯ – กสศ. ลงนาม MOU สร้างหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

สำนักพุทธฯ – กสศ. ลงนาม MOU สร้างหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

วันที่ 5 กันยายน 2566 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษาในกำกับของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนสามเณรเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ เสริมสร้างกำลังใจให้ก้าวไปเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 

นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือกันในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่นักเรียนสามเณรที่ยากจนและด้อยโอกาสในโรงเรียนพระปรัยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยตลอดระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง 2 หน่วยงานในช่วงที่ผ่านมา สามารถสร้างรูปธรรมในการพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาที่เป็นต้นแบบ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนสามเณร ด้านการพัฒนาครูและโรงเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญต่อการขยายผลให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ

นายอินทพร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปีการศึกษา 2563 พศ. และ กสศ. ได้ร่วมมือกันจัดทำ 2 โครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนำร่องในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในพื้นที่การศึกษาเขต 11 ของ 5 จังหวัดภาคอีสาน คือ ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ และ โครงการพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ทักษะสัมมาอาชีพและในปีการศึกษา กับโรงเรียนที่อยู่ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 51 โรงเรียน จาก 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดในภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และน่าน และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด คือจังหวัดศรีสะเกษ 

นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ พศ.

ทั้งนี้ ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2571) นับตั้งแต่วันที่ลงนามจะนำไปสู่การเร่งบูรณาการข้อมูลเด็กนักเรียนสามเณร ครู และสถานศึกษา ภายใต้การกำกับของ พศ. ร่วมกับ กสศ. สำหรับนำไปวิจัยและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา อันจะก่อให้เกิดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรร่วมขับเคลื่อนงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านการบริหารและการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักเขตการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐให้เกิดขึ้นจริง โดยเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือนักเรียนสามเณรที่ด้อยโอกาสให้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอย่างทั่วถึง 

“เชื่อมั่นว่า ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดของเราจะสามารถเป็นแกนกลางเชื่อมโยงนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสามารถสร้างความร่วมมือจากครู ผู้ที่สามารถเข้าถึงสภาพปัญหาของนักเรียนในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูและมอบโอกาสให้นักเรียนสามเณรที่ยากจนและขาดโอกาสสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้ 

“นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่จะช่วยให้นักเรียนสามเณรมีโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพให้ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน โดยจะผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับ กสศ. เพื่อให้การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนสามเณรเกิดความยั่งยืนต่อไป” นายอินทพร กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า หลังจากทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการทดลองเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 2 ประการ ที่จะเป็นต้นแบบสำคัญสำหรับการขยายผลการดำเนินงานในระยะถัดไป คือ 1) สามารถสร้างกลไกช่วยเหลือและป้องกันนักเรียนสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และ 2) นักเรียนสามเณรได้รับการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพัฒนาต้นแบบเครื่องมือการคัดกรองในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เป็นครัวเรือน สถาบันประเภทวัดพักนอน และ พัฒนารูปแบบการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและสอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายนักเรียนสามเณร สามารถดูแลนักเรียนสามเณรได้ทั้งหมด 1,281 รูป วัดพักนอน 276 แห่ง โรงเรียน 37 แห่ง

ทั้งนี้ สถานศึกษาได้นำทุนเสมอภาคไปใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนสามเณรใน 3 ด้าน คือ 1) ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะสัมมาอาชีพของนักเรียนสามเณร อาทิ กิจกรรมการเกษตรเสริมรายได้ 2) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสามเณร เช่น เป็นค่าอาหารเสริม นม หรือน้ำปานะ และ 3) ด้านการพัฒนาคุณภาพของวัดพักนอน โดยจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและอุปกรณ์การเรียนสำหรับสามเณร

นอกจากนี้ กสศ. ได้ดำเนินการติดตามการบันทึกเงื่อนไขของทุนเสมอภาค คือ ผลการมาเรียน และน้ำหนัก ส่วนสูง ของนักเรียนสามเณรที่โรงเรียนบันทึกเข้ามาผ่านระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลลัพธ์การดำเนินโครงการว่านักเรียนสามเณรยังคงอยู่ในระบบการศึกษา และมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่สมวัย 

“ความพยายามในการพัฒนาต้นแบบโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข จะนำไปสู่แผนการขยายพื้นที่การดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2566 ให้ครอบคลุมสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 4 เขตพื้นที่ทั่วภูมิภาค และ กสศ. จะร่วมกับ พศ. เพื่อหาแนวทางขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งประเทศในอนาคตต่อไป” 

อีกทั้ง กสศ ยังดำเนินโครงการพัฒนาทักษะสัมมาอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาบนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน โดยพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้านทักษะอาชีพให้นักเรียนสามเณรตามความถนัดและมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง ดำรงชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 51 โรงเรียน จาก 6 จังหวัด 

“ผลจากการดําเนินงาน สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้กับครูพระและครูฆราวาส ซึ่งเป็นรูปแบบการสอนแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกคิด ริเริ่ม ลงมือทำ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะสัมมาอาชีพควบคู่ไปด้วย รวมถึงมีการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ระหว่างเครือข่ายครู เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องวิธีการจัดการเรียนการสอน จนสามารถเพิ่มทักษะสัมมาอาชีพให้กับนักเรียนสามเณรได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ไกรยส กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้พบว่าสมรรถนะของครูและนักเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ยังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมใน 4 ด้าน คือ 1) ด้านการเรียนการสอน 2) ด้านคุณภาพผู้เรียน 3) ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของครู และ 4) ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่ กสศ. พศ. และหน่วยงานอื่น ๆ ต้องทำงานร่วมกันต่อไป