เดินหน้านโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับทักษะแรงงานไทย โดย ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เดินหน้านโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับทักษะแรงงานไทย โดย ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill Gap)ที่ทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางการปรับเปลี่ยนของโลกในปัจจุบัน ยิ่งจำเป็นที่ต้องเดินหน้าให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะแรงงานที่ทำให้แรงงานไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนนั้นไม่อาจจะเกิดจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่

นี่จึงเป็นความสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่การเน้นย้ำให้เห็นว่างานวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน ต้องเดินหน้าเพื่อใช้พัฒนานโยบายการศึกษาชาติ

จากเวทีนโยบาย “โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย” โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 พร้อมจัดทำ “การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment)” เพื่อร่วมกันหาแนวทางการยกระดับทักษะแรงงาน และการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในโลกยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกในมิติต่าง ๆ ที่กระทบต่อการปรับตัวของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ ดังนั้นระบบการศึกษาต้องคำนึงความเตรียมพร้อมการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว 

“สถานการณ์ด้านกำลังแรงงานของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เกิดปัญหาทางด้านช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill Gap) และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สร้างผลกระทบต่อรูปแบบของงาน การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้ได้ทั่วถึง และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก” ตรีนุชกล่าว

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการเงิน อุปกรณ์ และลักษณะงานที่ทำ ซึ่งไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีเพียงแรงงานคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ผู้จบการศึกษาสูงกว่าขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ที่ได้รับประโยชน์ในรูปของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทักษะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนที่ถูกสภาพทางสังคมบีบบังคับให้พ้นจากระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสการเข้ารับการศึกษาและ การฝึกอบรม ส่งผลกระทบต่อลักษณะการจ้างงาน และสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้

ซึ่งการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life) ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

โครงการวิจัยสำรวจทักษะกลุ่มประชากรวัยแรงงานเพื่อพัฒนานโยบายด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต

ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการตามแนวทางสากลแล้ว ผลของการวิจัยสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพบุคคลของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จำเป็นที่ภาคนโยบายต้องตัดสินใจ และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนไทยอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต สอดคล้องกับแนวทางที่ ศธ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนไทยทุกช่วงวัย ที่จะต้องได้รับความรู้ที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ได้รับการโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต รวมถึงการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต