กสศ. เชิญคณะกรรมการ 4 ภาคส่วน พิจารณาทุนส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566
เดินหน้าส่งเสริมการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบทั่วประเทศ

กสศ. เชิญคณะกรรมการ 4 ภาคส่วน พิจารณาทุนส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566

เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 1พฤษภาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566’ สร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีทางเลือกให้กับกลุ่มเยาวชน แรงงานนอกระบบการศึกษา และประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบตามทิศทางการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต ด้วยแนวคิดชุมชนเป็นฐานผ่านหน่วยการจัดการเรียนรู้ในท้องถิ่นหรือในระดับตำบล โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคสื่อมวลชน ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้รับทุน

สำหรับโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 มีหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จซึ่งสามารถทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้เป็นแกนกลางในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ทรัพยากร และหน่วยงานในชุมชนจนเกิดเส้นทางอาชีพที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในการพิจารณาทุนปี 2566 นี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.โครงการทั่วไป จะพิจารณาจากหน่วยจัดการเรียนรู้ใหม่ และ 2.โครงการต่อยอดขยายผล จะพิจารณาจากหน่วยจัดการเรียนรู้เดิมที่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการ
ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ

  

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การทำงานเป็นปีที่ 5 ของ กสศ. ปีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาของการผลิดอกออกผลโครงการต่าง ๆ ที่มาจากการร่วมทำงานกับภาคีทุกฝ่าย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ณ วันนี้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ถูกยกให้มีความสำคัญในระดับประเทศ โดยหากกล่าวเฉพาะ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี จนมีหน่วยจัดการเรียนรู้ต้นแบบมากกว่า 300 แห่ง กสศ. เตรียมผลักดันให้กลายเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ ทั่วประเทศ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ที่มุ่งจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต

“เรามีตัวแบบหน่วยจัดการเรียนรู้น่าสนใจหลายแห่ง เช่น หนองสนิทโมเดลที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โดยมี อบต. เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือจากองค์กรและหน่วยราชการในพื้นที่ จนเกิดระบบสหกรณ์และชุมชนการเรียนรู้ครอบคลุมทุกศาสตร์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็ง ดึงดูดผู้ร่วมเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะแรงงานนอกระบบ แต่เป็นพื้นที่ของผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา และปัจจุบันได้ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลจากท้องถิ่นชุมชนอื่น ที่สนใจในศาสตร์การทำเกษตรอินทรีย์สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

“นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง การจัดการ และการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดผลเชิงบวกที่สะท้อนไปสู่ชุมชนและสังคมในวงกว้างได้ นับเป็นแนวทางหนึ่งของการกระจายความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเมื่อชุมชนหนึ่งมีอาชีพ มีแหล่งเรียนรู้ มีโอกาสสร้างรายได้ เราจะได้เห็นความเจริญที่ไม่กระจุกอยู่เพียงตามเมืองใหญ่อีกต่อไป”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ถ้ากระบวนการจัดการเรียนรู้ สามารถทำให้การศึกษาทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ผ่านการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของชีวิตและมีทางเลือกที่เพียงพอ ท้ายที่สุดผลของการศึกษาจะผลิดอกออกผลและแสดงให้เห็นถึงความเติบโตงอกงามได้ดีที่สุด ที่ผ่านมา กสศ. มีความร่วมมือจากกัลยาณมิตรที่เข้าใจเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี พร้อมมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงาน โดยโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566 นี้ มุ่งเป้าไปยังการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และต้องมีการต่อยอดจากการทำงานเดิม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนอีกหลายแห่งที่ยืนยันว่าจะเข้ามาช่วยต่อเติมโอกาสสำหรับผู้ร่วมเรียนรู้ ให้เกิดทางเลือกมากขึ้นทั้งในด้านองค์ความรู้ และการขยายธุรกิจผ่านภาคีเครือข่าย

“การพิจารณาข้อเสนอโครงการที่ยื่นมาจาก 299 หน่วยจัดการเรียนรู้ทั่วประเทศ เราแบ่งการพิจารณากลั่นกรองออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ‘ต้นน้ำ’ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายชุมชน ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนภาคสื่อมวลชน และตัวแทนภาควิชาการ ก่อนส่งต่อไปที่ ‘กลางน้ำ’ คือคณะคณะทำงานหนุนเสริมเพื่อพิจารณาอย่างละเอียดในลำดับถัดไป และท้ายที่สุดจะเป็นคณะอนุกรรมการโครงการฯ อันเป็น ‘ปลายน้ำ’ ผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกหน่วยจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะมีทั้งโครงการใหม่สำหรับหน่วยที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นปีแรก และอีกส่วนหนึ่งคือหน่วยที่เตรียมต่อยอดการจัดการเรียนรู้จากปีก่อน ๆ ในโครงการปี 2566 นี้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการ
โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวเสริมเกี่ยวกับกรอบแนวคิดโครงการฯ ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นคุณูปการของ ‘ปัญญาปฏิบัติรวมหมู่’ โดยเฉพาะของผู้ที่ลุกขึ้นมาลงมือทำ ทีมงานหนุนเสริม และถือเป็นผลงานร่วมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการตั้งแต่ต้นทางด้วย

การทำงานตลอด 4 ปี ทำให้เห็นคุณค่าความหมายของพลังการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการปฏิบัติ ซึ่งเมื่อนำมาตกผลึกเพื่อสรุปสาระสำคัญ ก็จะได้แนวคิดการทำงานที่ทุกฝ่ายจะเดินต่อไปด้วยกันในปีนี้ อย่างแรกคือความชัดเจนของหลักการที่ว่า ชีวิตของผู้ยากลำบากขาดโอกาสจะงอกงามได้ ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมพื้นฐานที่เอื้อ มีดินดำน้ำชุ่ม แสงแดดและพื้นที่พียงพอให้เติบโต ทั้งระดับบุคคลและระบบ สองคือข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ไม่ยอมจำนนต่อปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดการเติบโต อันเป็นเหตุผลให้มนุษย์ลุกขึ้นจัดการต่ออุปสรรคนั้น ๆ ฉะนั้นการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความงอกงามให้แก่ชีวิตและสังคม จะเป็นแนวคิดในการทำงานของโครงการฯ ต่อไป โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความสามารถในการเรียนรู้และอยู่ร่วมของคนในสังคม

“เป้าหมายปลายทางโครงการฯ คือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นการเปลี่ยนรูปแปลงร่างและการปลดปล่อยอย่างเต็มกำลังของทั้งคนและระบบ  อย่างแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ คือชื่อโครงการที่จากเดิมใช้คำว่า ‘พัฒนาทักษะอาชีพ’ ซึ่งเมื่อทำงานผ่านมาเราพบว่าคำจำกัดความที่เหมาะสม คือ ‘การส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้’ เหตุปัจจัยที่สำคัญคือการลงมือทำต่อเนื่องทำให้เกิดการสั่งสมความรู้ ลองผิดลองถูก จนเกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับการทำงาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหน่วยหรือคณะบุคคลที่เสนอโครงการเข้ามา เรามองหาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่มองเห็นแล้วว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคม ในแง่ของการส่งเสริมโอกาสให้แก่บุคคลได้มากที่สุด ซึ่งเราเปลี่ยนจากการเรียกว่า ‘หน่วยพัฒนาอาชีพ’ เป็น ‘หน่วยจัดการเรียนรู้’ ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้เกิดการคิดและลงมือทำเพื่อผลลัพธ์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญเราต้องคำนึงถึงความเป็น ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ ชุมชนด้วย เพราะเราเห็นแล้วว่าการทำงานของหน่วยจัดการเรียนรู้จากข้างนอกที่เข้าไปทำงานกับชุมชน โดยมากจะมีอุปสรรคและข้อจำกัดเรื่องของการเดินทาง ค่าใช้จ่าย เวลา และความเข้าออกเข้าใจพื้นที่ อีกทั้งการจะทำให้เกิดความต่อเนื่องเมื่อจบโครงการยังเป็นไปได้ยาก ขณะที่ถ้าเทียบเคียงกับหน่วยที่ฝังรากลึกหรือเป็นคนในชุมชนเอง เช่นผู้นำชุมชนหรือปัญญาชนพื้นถิ่น ก็จะเห็นชัดว่าโครงการจะเดินไปข้างหน้าได้เร็วและเห็นผลที่ชัดกว่า

“ปัจจัยต่อมาคือตัวผู้ร่วมเรียนรู้ ที่ปีแรกใช้คำว่า ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ซึ่งทำไปทำมามีเรื่องการ ‘รับรู้ตัวเอง’ ที่เกิดขึ้น จึงได้เปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ โดยสาระสำคัญคือเราต้องค้นหาให้พบผู้ด้อยโอกาสตัวจริง และมีความตั้งใจเข้ามาร่วมเรียนรู้จริง ๆ เพราะในระยะไกลที่สุด เราอยากเห็นการลุกขึ้นมาพินิจตนเอง และเปลี่ยนตนเองให้เป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดไปไม่รู้จบ’ หมายถึงแม้ผ่านช่วงระยะโครงการไปแล้ว เขาจะเปลี่ยนรูปแปลงร่างพัฒนาตนเองต่อไปได้เต็มศักยภาพ สามารถลุกขึ้นมาสร้างระบบปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาได้ และต้องไม่ใช่เฉพาะกับตัวเอง แต่ต้องส่งผลไปถึงคนแวดล้อมและชุมชนด้วย

“อีกส่วนหนึ่งคือต้องมีการสร้างฐานเรียนรู้จาก ‘ชุมชน’ หรือการนำ ‘ประชาชน’ มาประชุมกันในพื้นที่เปิด ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เชิงกายภาพ แต่หมายถึงที่ว่างสำหรับการเติบโตงอกงามของโอกาส ที่คนเล็กคนน้อยจะได้พูด ได้แสดงความเห็น ได้บอกเล่าความต้องการ ได้ชี้แจงข้อเสนอและได้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ โดยมีผู้รับฟังที่จะนำเอาข้อเสนอมาพิจารณาออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้ร่วมเรียนรู้ที่สุด”

ดร.สมคิด กล่าวว่า จากที่กล่าวมาหมายถึงข้อเสนอโครงการที่ยื่นเข้ามาในครั้งนี้ ถือว่าได้ผ่านการเห็นชอบจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในชุมชนแล้ว ประเด็นของการพิจารณาที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ จึงอยู่ที่การเพ่งไปที่กระบวนการหรือการออกแบบการเรียนรู้ที่มีข้อมูลความรู้ ความตั้งใจ ความเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อลงมือปฏิบัติจริง และจะสร้างผลของความเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตและชุมชนได้จริง โดยความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่สามารถอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเชิงระบบ ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยการที่ผู้ร่วมเรียนรู้ต้องสามารถอ่านการเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยที่แวดล้อมชุมชนที่ตนอยู่ได้ และที่ไกลไปกว่านั้นคือผู้ร่วมเรียนรู้ควรอ่านความเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือไปจากพื้นที่แวดล้อมที่อาศัย โดยสามารถเชื่อมโยงกับท้องถิ่นภูมิภาคอื่นด้วยข้อมูลข่าวสารในทุกแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองและชุมชนได้ด้วย จะเห็นว่าเป้าหมายโครงการในปีนี้นี้ เกิดจากการสังเคราะห์ผ่านประสบการณ์ทำงานตลอด 4 ปี จนทำให้คณะทำงานมองไปไกลกว่าการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อจะนำผู้ร่วมเรียนรู้ไปให้ถึงการมีทักษะการเรียนรู้ในโลกปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้สำเร็จ

“ท้ายที่สุดคือการจัดการในทุกกระบวนการต้องยึดความโปร่งใส เป็นธรรม สมเหตุสมผล ตั้งแต่เบื้องต้นที่พิจารณากลั่นกรองของผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ฝ่าย ผู้จะมาอ่าน คิด ชวนกันพูดคุย และช่วยสรุปความเป็นไปได้ของข้อเสนอทั้ง 299 โครงการอย่างมีฉันทามติ พร้อมกำกับไว้ด้วยความคิดเห็นที่น่าสนใจ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการในลำดับถัดไป ซึ่งจะทำให้การทำงานครั้งนี้ถือเป็นการวางรูปแบบการจัดสรรงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมที่เป็นต้นแบบผ่านวิธีคิดที่ละเอียดถี่ถ้วนครบทุกมิติแง่มุมโดยผู้แทนของสังคม เพื่อให้เกิดแบบแผนปฏิบัติที่ขยายวงไปสู่การทำงานโครงการอื่น ๆ ต่อไป” ดร.สมคิด กล่าว