53 สถาบันการศึกษาอาชีวะ จับมือ กสศ. พัฒนาหลักสูตร เสริมโอกาสมีงานทำแก่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

53 สถาบันการศึกษาอาชีวะ จับมือ กสศ. พัฒนาหลักสูตร เสริมโอกาสมีงานทำแก่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที “รวมพลังสร้างโอกาสทางการศึกษาอาชีพ : สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

งานนี้ได้รับเกียรติจากนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษาสายอาชีพจาก 53 สถาบันใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 370 คน โดยเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อนุปริญญา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระยะสั้น 1 ปี ด้านผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล ระยะสั้น 6 เดือน

วัตถุประสงค์ของการจัดเวทีในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. แก่สถานศึกษาจากทุกสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาจากสังกัดอื่น ๆ

ภายในงานยังจัดให้มีเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของนักศึกษาผู้รับทุน ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมโอกาสในการมีงานทำหลังจบการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับทุนสามารถเรียนจบตรงตามระยะเวลา และพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกมิติ โดยแบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ และการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในชีวิต เมื่อได้เห็นบรรยากาศของงานในวันนี้ จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งกับการเติบโตของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งถือเป็นรูปธรรมสำคัญของการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านการศึกษาสายอาชีพ วันนี้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังต้องการนักศึกษาสายอาชีพเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“ข้อมูลหนึ่งที่พบจากการลงพื้นที่ชี้ว่าในปี 2565-2566 บางจังหวัดเช่นมุกดาหารมีนักเรียนสายอาชีพเพียง 13% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ มีอยู่ประมาณ 30-35% เป็นค่าเฉลี่ย ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามผลักดันให้สัดส่วนการเรียนในสายอาชีพเพิ่มขึ้นไปที่ราว 40-50% โดยพยายามยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและลบภาพจำในอดีตที่สังคมมองมายังการศึกษาสายอาชีพ ทั้งยังได้ปรับหลักสูตรการศึกษาสายอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ยังขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาในหลักสูตรเหล่านี้ 

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ภารกิจของ กสศ. ที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ในด้านการเรียนรู้ แต่ยังรวมถึงการดูแลสวัสดิภาพด้านต่าง ๆ เช่น การกินอยู่ สุขภาพกายและใจ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่กำลังขาดแคลน เช่น ผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรในสาขาเหล่านี้ จึงถือเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

ในช่วงท้ายของการกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำว่า “การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือการลงทุนในมนุษย์ และการศึกษาคือการลงทุนที่ดีที่สุด” พร้อมแสดงความหวังว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนาสถาบันการศึกษา หลักสูตร และตัวผู้เรียน ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ทุ่มเทพัฒนา “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากเปรียบเสมือนการลงทุนในตลาดทุน ทุนนี้ก็เปรียบได้กับ “หุ้น” ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจาก กสศ. เพียงลำพัง แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และภาคีเครือข่ายที่เปรียบเสมือน “หุ้นส่วน” ร่วมกันในการสร้างคน สร้างโอกาส และสร้างงาน ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

หัวใจของโครงการนี้คือการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับ แต่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และใช้การศึกษานั้นเป็นใบเบิกทางสู่การเป็นแรงงานทักษะสูงที่มีรายได้มั่นคง ซึ่งไม่เพียงช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรความยากจน แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และสอดคล้องกับหมุดหมายที่ 9 ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

“เชื่อว่าทั้ง 53 สถาบันที่ลงพื้นที่คัดกรองนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ จะเห็นเหมือนกันว่า ถ้าเราปล่อยให้น้อง ๆ เหล่านี้หลุดออกไปจากการเรียนรู้ ชีวิตของเขาจะมีโอกาสสูงมากกับการวนลูปอยู่ในวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันในครอบครัว ขณะที่ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง นอกจากช่วยให้ตัวน้อง ๆ หลุดจากความยากจนแล้ว ยังเป็นการส่งต่อโอกาสไปยังสมาชิกครัวเรือนรุ่นต่อ ๆ ไป และในอนาคต ความยากจนด้อยโอกาสที่ส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่น ก็จะค่อย ๆ ลดจำนวนลง และจะทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ 

“นอกจากนี้ ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการทำงานตามมาตรการ Thailand Zero Dropout โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จะถือเป็นพื้นที่รองรับเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาหลังจบการศึกษาภาคบังคับได้อีกช่องทางหนึ่ง” ดร.ไกรยสกล่าว

ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย

ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 นับเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญทั้งในมิติของการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และในมิติของการสนับสนุนสถานศึกษาสายอาชีพให้สามารถยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาส ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ โดยเน้นความร่วมมือแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงระบบและยั่งยืน

ด้วยเป้าหมายของทุน ทำให้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนนักศึกษาและเลือกสถาบันการศึกษาต้องกำหนดโดยหลักเกณฑ์ 6 ข้อ คือ

  1. การคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุด
  2. การคัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสมที่สุด
  3. ความพร้อมของสถาบันในการบริหารจัดการโครงการ
  4. การมีระบบดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษาอย่างรอบด้าน
  5. การจัดการหลักสูตรที่ทันสมัย
  6. การมีความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการมีงานทำหลังเรียนจบ

“สุดท้ายแล้วที่ปลายทางของการผลิต สิ่งที่เราต้องการคือกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของตลาด และความต้องการเฉพาะพื้นที่ อาทิ การตอบสนองต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีความต้องการทักษะด้านหุ่นยนต์ จักรกลไฟฟ้า หรือดิจิทัล หรือในการรับมือกับการเป็นสู่สังคมผู้สูงอายุ 

“ประเทศไทยยังต้องการบุคลากกรด้านสาธารณสุขอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมองย้อนไปที่หลักสูตรของโครงการ ที่ให้ทุนนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรระดับวิชาชีพชั้นสูง หรือระดับอนุปริญญา หรือหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี ในสาขาที่มุ่งไปในด้านการพัฒนาประเทศ รวมถึงการเตรียมบุคลากรสายอาชีพเพื่อรองรับอนาคต จึงถือว่าทุนนี้เป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าว