‘เมื่อครูเปลี่ยนห้องเรียนก็เปลี่ยน’ กสศ. ลงพื้นที่ขยายผลโรงเรียนพัฒนาตนเอง 6 จังหวัดภาคอีสาน
หนุน ‘กระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ระดับพื้นที่’

‘เมื่อครูเปลี่ยนห้องเรียนก็เปลี่ยน’ กสศ. ลงพื้นที่ขยายผลโรงเรียนพัฒนาตนเอง 6 จังหวัดภาคอีสาน

24 กุมภาพันธ์ 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเองสู่แกนนำขยายผล 6 จังหวัดภาคอีสาน” ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.นครพนม จ.นครราชสีมา จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร และ จ.สุรินทร์ ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teachers and School Quality Program (TSQP) ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเพื่อถอดบทเรียนการทำงานสู่การสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาโรงเรียน และขยายผลด้วยบทบาทของหน่วยงานต้นสังกัดผ่านกลไกระดับพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วย ศธจ., สพป., สพม. ร่วมกับโรงเรียนในโครงการ TSQP และเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียน 5 เครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต, มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา, มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สพป.สุรินทร์ เขต 2

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. กล่าวสรุปภาพรวมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองในระยะที่ผ่านมาว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ คือให้โรงเรียนเป็นเจ้าภาพ ในส่วนเครือข่ายร่วมพัฒนาและ กสศ. เป็นเพียงผู้สนับสนุนบนเป้าหมายร่วมกันคือสร้างประโยชน์ทางการศึกษาให้กับนักเรียน หากถอดบทเรียนจากจุดเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2562 มีโรงเรียนเข้าร่วม 720 แห่งทั่วประเทศ แม้ขณะนี้มีโรงเรียนพัฒนาตนเอง 636 แห่ง แต่สามารถขยายผลเพิ่มขึ้นด้วยความร่วมมือจากโรงเรียนแกนนำได้ต่อเนื่อง

“การขยายผลได้เกิดขึ้นแล้วโดยธรรมชาติ ในเวลานี้เราได้มาทำงานและได้ปรับเป็นแกนนำขยายผล การทำงาน TSQP ระยะ 3 ปี ไม่ใช่แค่ชื่นใจแล้วจบไป เพราะหัวใจสำคัญของการพัฒนาครูและนักเรียน ต้องเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

การศึกษาไทยเพลี่ยงพล้ำด้านคุณภาพเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ขณะนี้ก็ยังโงหัวไม่ขึ้น ในสายตาผมปัจจัยหนึ่งคือ เราไม่ได้ยกย่องนักเรียนและครูให้สามารถพัฒนางานของตนเองได้ การพัฒนาครูและนักเรียนเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ในห้องเรียนของโรงเรียนไม่ใช่เพียงแค่นักเรียนได้เรียนรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ของนักเรียนและครู ครูก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นหัวใจสำคัญ

หากจะให้คุณภาพการศึกษาไทยกระเตื้อง ต้องหนุนให้โรงเรียนและครูพัฒนากันเองภายในโรงเรียนและเป็นเครือข่ายกันเอง TSQP อาจจะเข้ามาหนุน แต่ผู้ที่ค้นพบตัวจริงคือครู ‘ความรู้อยู่ที่คนทำเป็นสำคัญ’ เป็นหลักการจัดการความรู้เรียกว่า Tacit Knowledge เป็นความรู้ฝังลึกอยู่ในตนเอง และสามารถเขียนออกมาได้

การย้ายครูแกนนำและผู้อำนวยการจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาน้อยสุด หากความรู้ถูกสั่งสมไว้อยู่ในโรงเรียน การจะทำเช่นนั้นได้ ชีวิตประจำวันของผู้อำนวยการและครูจะต้องหมุนวงจรการเรียนรู้เรียกว่า Professional Learning คือผู้อำนวยการเขตพื้นที่ต้องช่วยสร้างการเรียนรู้นั้นให้เกิดเป็นวงจรตลอดเวลา” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิ ประธานอนุกรรม
การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ.

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ปีนี้ TSQP ปิดโครงการแล้ว แต่อุดมการณ์โรงเรียนพัฒนาตนเองยังไม่จบ ภาคีเครือข่ายต้องช่วยกันสร้างการศึกษาไทยให้ดีขึ้นต่อไปด้วยแนวทาง Teachers and School Quality Movement หรือ TSQM การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ กสศ. ครั้งนี้ เพื่อเป็นเพื่อนร่วมทางสนับสนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง 6 จังหวัดภาคอีสาน เป็น ‘Agentic School’ หรือโรงเรียนแกนนำ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หลายประเทศมุ่งสร้างพลเมืองให้ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่บ้านเมืองเผชิญอยู่ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ลูกศิษย์ รองลงมาคือครู และพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม

เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง 6 จังหวัดภาคอีสาน ไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างโดดเดี่ยว มีเครือข่ายร่วมพัฒนา 5 เครือข่ายหนุนให้โรงเรียน ครูแกนนำ และศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ใช้โอกาสจาก TSQP ประยุกต์เข้ากับงานของโรงเรียนและนโยบายจากต้นสังกัด เห็นโอกาสของการขับเคลื่อนขบวนการ (Movement) เพื่อเชื่อมกลไกการทำงานและขยายผลในระดับพื้นที่ครบทุกองค์ประกอบ ได้แก่ เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ภาคสังคม สถาบันอุดมศึกษา และกรรมการสถานศึกษา มีการใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศคุณภาพ เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็กทุกคน และลดภาระงานเอกสารของครู นำผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมกับนักเรียนมาสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่ง กสศ. เตรียมนำตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นไปจัดแสดงในงานมหกรรมโรงเรียนพัฒนาตนเองที่จะจัดขึ้นในปีหน้า

“สิ่งที่หนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง คือต้องมีกลไกช่วยยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง บางครั้งดูผิวเผินเด็กมีความสนุก แต่ต้องรู้ว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ จึงต้องหาวิธีที่จะวัดการเรียนของนักเรียน โดยโรงเรียนเป็นผู้ทำเรื่องนี้และต้องวัดผลนักเรียนของตนเองเป็น นี่เป็นอีกเรื่องของความผิดพลาดในระบบการศึกษาไทยที่ยกเรื่องการประเมินไว้ที่ส่วนกลาง โรงเรียนรอรับคำชมหรือคำวิจารณ์ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เรากำลังช่วยยืนยันผลการพัฒนาด้วยมหกรรมโรงเรียนพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายในการสร้างมหกรรม โดยนำเอา Bast Practice มาแลกเปลี่ยนรู้กันเพื่อทำอย่างไรให้ไปต่อได้ และที่ทำต่อไม่ได้มีเรื่องอะไรบ้าง จะเป็นประโยชน์ให้บ้านเมือง”

ศ.นพ.วิจารณ์ เน้นย้ำว่า ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต้องมีประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience) สิ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมได้ดี คือการสังเกตและตั้งคำถามเพื่อสะท้อนคิดว่าเห็นหรือตกผลึกแล้วได้อะไร สิ่งสำคัญคือการสังเกตลูกศิษย์ และเกิดคำถามว่าเราจะปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อนำไปสู่หัวใจสำคัญคือการไปสู่หลักการ เมื่อคิด Conceptualization จากหลักการได้ จะมีทั้งสิ่งที่เชื่อและไม่เชื่อ ให้นำสิ่งที่ไม่เชื่อไปทดลองใหม่ ก็จะเกิดการเรียนรู้ในระดับการสร้างคอนเซปต์ใหม่ได้ เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากใคร แต่เกิดขึ้นจากการทดลอง สร้างความรู้ใส่ตัวและนำไปลองใช้ เราพูดกันว่าเด็กต้องมี Active Learning นี่ก็เป็น Active Learning เป็นการเรียนจากประสบการณ์การทำงาน สิ่งที่เราได้คือความเข้าใจ อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จากนักเรียน ให้นำมาปรับปรุง เมื่อเด็กสะท้อนกลับว่าเรากำลังทำอะไร ก็จะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มว่าทำไมเราต้องทำ เป็นวงจรการเรียนรู้จากข้อมูลย้อนกลับที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่า Movement และจะแข็งแรงขึ้นหากมีการทำในระดับพื้นที่ สร้างกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ โดย กสศ. มี Area Base ที่บูรณาการหลากหลายภาคีเข้ามาได้ 

“ผมขอย้ำว่าการศึกษาจะไม่สามารถกระเตื้องขึ้นมาได้ หากการทำงานด้านการศึกษาทำเฉพาะนักการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ทำตั้งแต่ในระดับโรงเรียน เพราะเด็กเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา การเรียนจากของจริงมีคุณค่ามากกว่า การพัฒนาการศึกษาต้องทำแบบ 3 ขา คือหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานสนับสนุนภายนอก และกลไกประชาสังคม ร่วมกันดำเนินงานจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ หวังว่าทุกท่านจะได้พลังใจในการดำเนินการจริงในสถานการณ์ของทุกท่าน แล้วมาแลกเปลี่ยนร่วมกันในมหกรรมโรงเรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งเวทีทำนองนี้จะมีประโยชน์และมีพลังอย่างมาก” ศ.นพ.วิจารณ์ ทิ้งท้าย

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.

ขณะที่ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเองสู่แกนนำขยายผล 6 จังหวัดภาคอีสาน” กสศ. เชิญแกนนำและเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน หลังดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP มาแล้ว 3 ปี ย้อนไปเป้าหมายแรกเริ่มมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 800 แห่ง วันนี้เหลือ 636 แห่ง ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังคนทำให้ไม่สามารถสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเองได้ทั่วประเทศพร้อมกัน แต่เครื่องมือและบทเรียนที่ได้จากโรงเรียนนำร่องจะเป็นแกนนำให้โรงเรียนต่าง ๆ นำไปขับเคลื่อนต่อได้

“ขอฝาก TSQP ให้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากครู และเมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งทั้งผลของการเปลี่ยนแปลงและเครื่องมือที่ได้จาก TSQP กสศ. จะนำไปสื่อสารให้สังคมได้รับรู้และขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ เนื่องจาก TSQP จบลงตั้งแต่ปี 2565 สิ่งที่จะขยับต่อในปี 2566-2567 คือการทำงานให้ต่อเนื่องเป็น TSQM 

ในปี 2566 จึงอยากให้ทุกท่านนำทุนที่เราถือว่าเป็นสินทรัพย์ (Asset) สำคัญไปบูรณาการกับส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มที่ หากมีการทำงานต่อ ผมเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ อย่างแน่นอน โดย กสศ. จะพยายามให้การสนับสนุนในสิ่งที่จำเป็น โดยเรามีกองทัพของเรากระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนปลายทางครูรักษ์ถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้พยายามหนุนแนวคิดเรื่องการพัฒนาตนเองให้กับโรงเรียนเหล่านี้ เป็นการสร้างเป้าหมายและความท้าทายให้เราทำงานต่อ รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขยายแนวคิด ซึ่งได้มีการนำแนวคิดของ TSQP ไปปรับยุทธศาสตร์หรือบริหารจัดการใหม่ให้เชื่อมโยงการทำงานเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียน มีนักศึกษาฝึกสอนเข้ามาร่วม โครงการของเราจึงเป็นฐานการผลิตครู หรือให้คนที่ต้องใช้ครูเข้ามามีบทบาทในการสร้างครู เพื่อให้กลับมาทำงานได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกท่านได้มาร่วมกับพวกเราในครั้งนี้”  ดร.อุดม กล่าว

ภายในงานได้เปิดวงคุย “ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ,ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ที่ปรึกษาอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. และนางเพ็ญพรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนโรงเรียนทั้งระบบ ร่วมให้ความเห็นในวงแลกเปลี่ยนที่ประกอบด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวจารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล ก.ค.ศ., นางสุดสงวน กลางการ ศึกษานิเทศก์ สพป.ขอนแก่น เขต 1, ส.ต.ท.พลทอง เพ็งวงษา ผู้อำนวยการโรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ จ.ขอนแก่น ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคีเครือข่าย 6 จังหวัดโรงเรียนพัฒนาตนเอง

นอกจากนี้ คณะทำงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. และภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) อ.เมือง จ.ขอนแก่น โรงเรียนพัฒนาตนเองรุ่นที่ 1 และโรงเรียนบ้านโนนทันวิทยา อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากหน้างานจริงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566