สพฐ. คุรุสภา สานต่อหลักสูตร Active Learning พัฒนาครู สร้างห้องเรียนต้นแบบ และระบบนิเวศการเรียนรู้เชิงรุก

สพฐ. คุรุสภา สานต่อหลักสูตร Active Learning พัฒนาครู สร้างห้องเรียนต้นแบบ และระบบนิเวศการเรียนรู้เชิงรุก

สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเวทีเสวนา ‘การพัฒนาครูและนักจัดการเรียนรู้ แนวทางการขยายผลการพัฒนาห้องเรียน Active Learning เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้’ ในงานเวทีเปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ ภายใต้โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความคิด เสนอแนวทางการขยายผลพัฒนาครู พัฒนาห้องเรียนในรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ หรือ Active Learning เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์อนาคต

ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อนาคต โดยมองว่าหลักสูตรการศึกษาที่ถูกออกแบบขึ้นมานั้น จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญก็คือการพัฒนาทั้งครูและนักเรียน รวมถึงเตรียมความพร้อมให้เด็กมีทักษะ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นนวัตกร

“ในฐานะนักพัฒนาหลักสูตร มองว่าการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องปรับให้ตอบโจทย์อนาคต เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือ การปรับวิธีการจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ โดยผลวิจัยยืนยันว่า หลักสูตรการศึกษาที่ดีต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ให้เกิดองค์ความรู้ เกิดทักษะ เกิดคุณลักษณะที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับครูและความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ สพฐ.

ดร.โชติมา กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในฐานะที่เป็นครูและนักวิชาการ พบว่า หลักสูตรในประเทศไทยนับว่าดีมาก แต่หลักสูตรเหล่านั้นมักถูกนำไปปฏิบัติในห้องเรียนไม่ได้จริง เพราะครูยังยึดติดอยู่กับสื่อที่เป็นแบบเรียน สอนตามหนังสือ แต่ไม่ได้มองถึงเป้าหมายที่แท้จริงของหลักสูตรว่าต้องการอะไร ทำให้ไม่สามารถบรรลุผลตามมาตรฐานตัวชี้วัด รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบผลการเรียนรู้ว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่สอนมากน้อยแค่ไหน 

นอกจากนี้ยังมีหลายตัวแปรที่ทำให้หลักสูตรการศึกษาคลาดเคลื่อนไป ดังนั้นแม้ว่าหลักสูตรจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายที่หลักสูตรวางไว้ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวเร่งให้ครูปรับตัว ปรับเทคนิคการสอน โดยต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างศักยภาพในการสอน แม้ครูจะสร้างสื่อเทคโนโลยีไม่ได้ แต่คุณครูก็สามารถที่จะเลือกหยิบเนื้อหาจากออนไลน์หรือจากหน่วยงานที่ผลิตสื่อคุณภาพได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เอื้อให้ครูค้นพบเทคนิควิธีการสอนที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น

“หลักสูตรในอนาคตที่จะถูกออกแบบขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในอนาคต การปรับหลักสูตรเป็นงานที่ สพฐ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการปรับโดยยึดหลักการทำงานที่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปการศึกษา นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วหลักสูตรการศึกษาหรือหลักสูตรแกนกลางจะมีการปรับปรุงใหม่ทุก 4 ปี 

“ในช่วงที่ผ่านมา สพฐ. พยายามขับเคลื่อนเรื่อง Active Learning โดยใช้ช่องทางต่าง ๆ อย่างช่องทางออนไลน์ OBEC Channel ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปสู่ความชัดเจนของหน่วยปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา สามารถวางนโยบาย แนวทาง และแผนการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลาง โดยมีตัวอย่างการทำงานที่ประสบความสำเร็จจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เคยนำร่องเรื่องนี้ไว้แล้ว 

“สพฐ. หวังว่าในระดับสถานศึกษาจะเกิดหลักสูตรสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนมากขึ้น ขณะที่ระดับครูผู้สอนจะมีหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการการเรียนรู้เชิงรุกให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหลายโรงเรียนได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีบางโรงเรียนที่ยังต้องการพี่เลี้ยงเพื่อช่วยแนะนำว่า ได้ปรับการสอนให้เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ และมีประเด็นไหนที่ยังต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

(ซ้าย) ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของคุรุสภาคือดูแลมาตรฐานการศึกษา ดูแลเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดูแลพฤติกรรมตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และส่งเสริมการพัฒนาครู ซึ่งกระบวนการพัฒนาครูให้เชื่อมโยงกับ Active Learning คือการกำหนดแนวทางให้มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น หากต้องการให้ผู้เรียนรู้ หรือนักเรียน เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน หรือเรียนอย่างมีความสุข จะต้องพัฒนาครูในด้านใด โดยในปัจจุบันอาจจะต้องกำหนดด้วยว่า ครูต้องช่วยกันสร้างเด็กให้เป็นผู้ร่วมสร้างองค์ความรู้ ร่วมสร้างนวัตกรรมสำหรับการเรียนรู้

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ครูก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เมื่อมีกระบวนการ Active Learning เข้ามา ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนเพื่อเน้นฐานสมรรถนะ ส่งเสริมผู้เรียนให้ปรับใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในสถานการณ์จริง ออกแบบกลยุทธ์ หาแนวทางแก้ไขปัญหา สามารถพลิกแพลงและยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความผันผวนของโลกได้”ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคุรุสภาได้พยายามขับเคลื่อน Active Learning โดยร่วมกับ กสศ. ในการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในโรงเรียนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยถอดบทเรียนจากนวัตกรรมของครูที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติและลงมือทำ และรวบรวมประสบการณ์จากครูมาบรรจุไว้ในแพลตฟอร์ม KM บนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากว่า 100 รูปแบบ รวมถึงสร้างกระบวนการ PLC หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากครูในการแสวงหากระบวนการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า สพฐ. และคุรุสภา ต่างก็มีวิธีการพัฒนาครูให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการตามความเหมาะสม โดยในส่วนของ กสศ. จะทำหน้าที่หาแนวทางหนุนเสริมด้วยโครงการที่สอดคล้องกัน และจะเชื่อมโยงกับความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานเสวนา เวทีเปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม TK Convention กรุงเทพมหานคร

รับชมย้อนหลังได้ที่ คลิก