ณ ใจกลางชุมชนมักกะสัน แหล่งพักอาศัยของผู้ใช้แรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดมาทำงานในเมืองหลวง คือที่ตั้งของ ‘โรงเรียนมักกะสันพิทยา’ สถานศึกษาระดับมัธยมเพียงแห่งเดียวในละแวกนี้ ที่เป็นพื้นที่บ่มเพาะลูกหลานคนในชุมชนให้มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิต
เด็กกว่าร้อยคนในชุมชนแห่งนี้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คนจนเมือง’ แพ็กความฝันใส่กระเป๋า มุ่งหน้าสู่โรงเรียน ด้วยความหวังที่ว่าการศึกษาจะพาพวกเขาไปมีชีวิตที่ดีกว่าการหาเช้ากินค่ำแบบรุ่นพ่อแม่ แต่ทว่า โลกแห่งความจริงในสังคมอันเหลื่อมล้ำ กลับสกัดขาให้หลายคนล้มลงระหว่างทาง จำนวนมากไม่สามารถลุกขึ้นเดินต่อบนถนนสายนี้ได้อีกเลย บ้างความฝันหดเล็กลงจนเหลือแค่ว่าวันนี้จะมีอาหารกินพอให้อิ่มท้อง
ปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ หลังจากโรคระบาดและปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้เด็กมากกว่า 230,000 คนต้องหลุดจากระบบการศึกษา สถิติจากกระทรวงเผยว่าในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมามีโรงเรียนทั่วประเทศพาเด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนได้แล้วราว 220,000 คน แต่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ เราไม่อาจรู้ได้ว่าเด็กที่กลับมาแล้ว ยังคงอยู่ในระบบได้จนจบการศึกษา หรือร่วงหล่นกลับสู่สภาวะเดิม
โรงเรียนมักกะสันพิทยาจึงมองไปไกลกว่าแค่การตามเด็กกลับมาเรียน เพราะสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการพยุงเด็กที่กลับมาแล้วให้อยู่ในระบบไปตลอดรอดฝั่ง โรงเรียนจึงริเริ่มโครงการเรือนพักนอน มอบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนสำหรับเด็กที่ประสบปัญหาทางการเงิน โครงการฝึกทักษะอาชีพ และนานานโยบายที่มุ่งหมายจะตอบโจทย์ชีวิตเด็กให้ได้มากที่สุด
101 พาสำรวจมิติใหม่การจัดการศึกษาตามแบบฉบับโรงเรียนมักกะสันพิทยา ที่ปรับตัวให้สอดรับกับบริบทของนักเรียน ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อโอบอุ้มให้นักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางสามารถเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนถึงแนวคิดและการดำเนินการ
โรคระบาด ขาดรายได้ หายจากระบบ การเรียนรู้ถดถอย: มวลปัญหาที่ถาโถมเด็กกลุ่มเปราะบาง
การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลให้โรงเรียนต้องทำการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีดิจิทัลแบบนี้ได้ สำหรับนักเรียนโรงเรียนมักกะสันพิทยาก็เช่นกัน สุภาพร เทพสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกกับเราว่า เด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้มาจากครอบครัวที่ยากจน มีผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ในสภาวะปกติก็มีรายได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อโควิดมายิ่งซ้ำเติมความเป็นอยู่ให้ถดถอย เพราะขาดงาน ขาดรายได้ หลายครอบครัวจึงไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ที่จะให้ลูกใช้เรียนออนไลน์ ไม่นับว่าสภาพแวดล้อมครอบครัวของพวกเขาไร้หลักประกัน ทำให้เมื่อวิกฤตเช่นโควิดมาเยือน เด็กเหล่านี้ต้องช่วยผู้ปกครองรับมือกับปัญหาปากท้องในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สุด จนอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องเรียน
“ปัญหาเศรษฐกิจถือว่าเป็นปัญหาหลัก ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กจดจ่อที่การเรียน เด็กบางคนไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง บางคนอยู่ตามลำพัง หรือบางคนอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะ ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เด็กจึงต้องไปทำงานพิเศษเพื่อนำมาใช้จ่ายค่าอุปกรณ์การเรียน แต่พอเขาได้ทำงาน หารายได้ได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะรู้สึกว่าเขาสามารถเอารายได้นี้มาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ เขาเลยตัดสินใจทำงานมากกว่ามาเรียน” สุภาพรกล่าว
หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย โรงเรียนกลับมาทำการเรียนการสอนออนไซต์ตามปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือจำนวนนักเรียนที่ลดลง บรรยากาศในโรงเรียนก็ดูซบเซา โรงเรียนจึงหารือถึงแนวทางในการพานักเรียนกลับสู่ห้องเรียน โดยให้ครูประจำชั้นลงพื้นที่ในชุมชน บ้างก็ไปตามที่ห้างร้านหรือโรงงานที่เด็กไปทำงาน เพื่อติดตามและไถ่ถามถึงอุปสรรคที่เด็กไม่กลับมาเรียน
สิ่งที่ครูพบเหมือนๆ กันคือเด็กจำนวนหนึ่งย้ายที่อยู่บ่อย เพราะพ่อแม่ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนหล่นจากระบบในที่สุด เด็กบางส่วนเข้าสู่ตลาดงานอย่างถาวร บางคนหาเลี้ยงตัวเองและอาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย สุภาพรจึงริเริ่มให้มี ‘เรือนพักนอน’ เพื่อรองรับนักเรียนที่อยู่ในภาวะขัดสน มาใช้ชีวิต เรียน อยู่ กินที่โรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีครูดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ด้วยความพยายามลงพื้นที่ตลอด 1 เดือนกว่าของครู และการมีทางเลือกเช่นนี้ ทำให้เด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนมักกะสันพิทยาได้ราว 80% ของนักเรียนทั้งหมด
แต่เมื่อนักเรียนกลับสู่โรงเรียนแล้ว ปัญหาต่อมาที่พบคือ ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ (learning loss) ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่าเด็กในชุมชนมีฐานะยากจน ไม่มีโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตจะใช้เรียนออนไลน์ เวลา 2-3 ปีที่โรงเรียนปิดเด็กกลุ่มนี้จึงแทบไม่ได้เรียนเลย ความรู้ของพวกเขาจึงหยุดอยู่ที่ก่อนจะเกิดโรคระบาด
“เราพบภาวะ learning loss ที่น่ากังวลมาก ตอนที่ทุกคนเขาเรียนออนไลน์กัน เด็กในชุมชนมักกะสันแทบไม่ได้เรียน ความรู้เลยเท่ากับเด็กประถมปลายที่พอโลกกลับสู่สภาวะปกติอีกทีก็ต้องขึ้นมัธยมแล้ว ยกตัวอย่างวิชาภาษาอังกฤษ เด็กท่อง A-Z ไม่ได้ด้วยซ้ำ ในวิชาคณิตศาสตร์ บางคนท่องสูตรคูณไม่ได้เลย เห็นได้ว่าความรู้เขาถดถอยไป 2 ปี เด็กที่ขึ้นมา ม.1 วันนี้คือเด็กที่มีความรู้เท่า ป.4 เพราะ ป.5-6 เขาไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน”
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจหนักในการปูพื้นฐานนักเรียนใหม่ทั้งหมดจึงตกไปอยู่ที่ครูชั้น ม.1 ซึ่งสุภาพรบอกว่าโรงเรียนทำเต็มที่ในเรื่องการเรียนการสอน และบทเรียนที่โควิดฝากไว้ทำให้โรงเรียนต้องคิดใหม่คือการสร้างทางเลือกด้านวิชาชีพให้กับเด็กควบคู่กับด้านวิชาการ
ความยืดหยุ่นคือหัวใจของการประคองนักเรียนกลุ่มเปราะบางไว้ในระบบ
เมื่อโรงเรียนเห็นแล้วว่าความเร่งด่วนที่สุดของเด็กชุมชนมักกะสันนี้คือเรื่องปากท้อง จึงมีการเพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพที่จะช่วยสร้างรายได้ให้เด็กอีกช่องทาง สุภาพรเล่าว่าโรงเรียนได้ทำ MOU กับวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร มีการส่งครูมาช่วยสอนทักษะอาชีพ อาทิ การซ่อมแอร์ ซ่อมเครื่องยนต์ วิชาช่างไฟฟ้า ช่างตัดผม เมื่อนักเรียนจบหลักสูตรเหล่านี้จะได้รับวุฒิบัตรที่สามารถเอาไปสมัครงานหรือประกอบอาชีพได้
นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านการบริการมาช่วยสอนทำขนม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยสร้างอาชีพเสริมให้เด็กระหว่างเรียนได้ สุภาพรกล่าวว่าบุคลากรครูของโรงเรียนเองก็มีความถนัดทางวิชาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย คุณครูจึงเปิดวิชาเลือกเพิ่มเติมให้กับนักเรียนที่มีความสนใจเฉพาะด้านได้เลือกเรียน
เด็กไทยหลายคนมองการเรียนมัธยมเป็นขั้นบันไดไปสู่การเรียนระดับอุดมศึกษา แต่ที่โรงเรียนมักกะสันพิทยา สุภาพรกล่าวว่ามีเด็กเรียนต่อมหาวิทยาลัยราว 40% นอกนั้นเข้าสู่ตลาดงานทันที ทำให้ทักษะอาชีพเหล่านี้สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมอบความรู้ด้านวิชาการ โดยโรงเรียนพยายามปรับการเรียนในห้องให้กระชับขึ้นอีกด้วย
สำหรับนักเรียนที่ประสบปัญหาในการมาโรงเรียน โรงเรียนมีการเสนอแนวทางการเรียนออนไลน์ โดยมีครูผู้สอนให้คำปรึกษาเรื่องเนื้อหาการเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ในระบบได้จนจบ สุภาพรยกตัวอย่างกรณีนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน
“เราคุยกับเขาว่าหนูไม่ต้องมาโรงเรียนก็ได้ถ้ากลัวสายตาคนอื่น เราเสนอให้เขาเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ทำงานส่ง แล้วก็มาสอบ จนสุดท้ายนักเรียนคนนี้ก็เรียนจบได้วุฒิ ม.6 เมื่อเด็กเจอปัญหาแบบนี้เราต้องยืดหยุ่นและพิจารณาจากความจำเป็นของเขาเป็นกรณีๆ ไป อย่างน้อยก็หวังว่านักเรียนคนนี้จะสามารถใช้วุฒิ ม.6 สมัครงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกเขาได้”
แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกกฎกระทรวงให้สถานศึกษาทุกระดับที่มีเด็กตั้งครรภ์ห้ามไล่นักเรียนหรือนักศึกษาออก แต่ในความเป็นจริง เด็กที่ท้องในวัยเรียนยังต้องเจอกับการตีตราจากคนในสังคม ทำให้ตัวเด็กเองเลือกที่จะไม่เรียนต่อ การจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมจากโรงเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางของโรงเรียนมักกะสันพิทยาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองเด็กให้เรียนต่อได้
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กบางคนอาจมีปัญหาเร่งด่วนหรือภาระที่ไม่อาจหลีกหนีการเผชิญหน้าได้ สิ่งที่โรงเรียนทำให้ได้คือการแนะนำ ‘ทางเลือก’ ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของเขามากที่สุด สุภาพรเล่าว่ามีนักเรียนวัย 15 ปีที่เพิ่งเข้าเรียนชั้น ม.1 เนื่องจากเรียนจบชั้นประถมในยุคโควิด เลยเลือกที่จะพักการเรียนต่อไว้ก่อนและกลับมาเรียนมัธยมในช่วงที่โรงเรียนเปิดสอนออนไซต์ เด็กชายคนนี้อาศัยอยู่กับป้าที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่ต้องเลี้ยงดูลูกหลานอีกหลายชีวิต อีกทั้งต้องช่วยดูแลพ่อที่ประสบอุบัติเหตุจนพิการ จึงต้องดูแลพ่อไปด้วย หางานพิเศษทำด้วย และเรียนไปด้วย
“เขามาโรงเรียนสายเป็นประจำ เราก็สงสัยว่าทำไมสายทุกวัน เมื่อสอบถามเด็กก็บอกว่าต้องช่วยงานที่บ้านป้าก่อน บางวันที่ไม่ได้มาเลยคือไม่มีเงินมาโรงเรียน พอให้เขามาอยู่ที่โรงเรียนในโครงการเรือนพักนอนเพื่อจะได้โฟกัสกับการเรียน กลายเป็นว่าเขาไม่ได้ช่วยงานที่บ้าน เลยต้องกลับบ้านบ้าง นอนโรงเรียนบ้าง ยากที่จะจัดสรรเวลาชีวิต เราพยายามหาทุนให้เขาตลอด ความเป็นจริงเด็กไม่ได้เอาไปใช้เพื่อตัวเอง แต่ต้องนำไปจุนเจือครอบครัว ช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ พอตอนหลังเขาก็มาปรึกษาว่าจะไปเรียน กศน. จะได้ทำงานไปด้วย เราก็เห็นด้วย เพราะเขาก็จะได้ทั้งเรียนและทำงานประจำแบบไม่ติดขัด มีรายได้ไปช่วยจุนเจือครอบครัว ในกรณีแบบนี้เราจำต้องปล่อยเขาไปสู่การศึกษานอกระบบ”
จากคำบอกเล่าของสุภาพร ทำให้เราตระหนักได้ว่าฐานะและความเป็นอยู่สัมพันธ์กับการศึกษาอย่างแยกไม่ขาด แม้โรงเรียนจะมีนโยบายมากมายที่มีเป้าหมายเพื่อโอบอุ้มเด็กไว้ในระบบ แต่เมื่อไม่อาจหลีกหนีเงื่อนไขชีวิตเช่นนี้ได้ ที่สุดแล้วการแนะนำทางเลือกที่สอดคล้องกับบริบทชีวิตของนักเรียนอาจเป็นทางออกที่ปฏิบัติได้จริง
ความท้าทายที่ต้องฝ่าฟัน
“ทุกวันนี้ใบกระท่อมและกัญชาค่อนข้างหาง่าย ส่วนการรวมกลุ่มกันดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นปัญหาที่พบในเยาวชนมาก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะไม่มีผลกระทบกับโรงเรียนโดยตรง เพราะเด็กก็อยู่ในพื้นที่ของเขา แต่ด้วยความที่ชุมชนอยู่ติดกับโรงเรียนมาก ผู้ปกครองเลยกังวลว่าถ้าเอาลูกมาเรียนที่โรงเรียนมักกะสัน จะสุ่มเสี่ยงที่เด็กจะเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้หรือเปล่า”
สุภาพรเล่าถึงปัญหาที่พบ ปัจจุบันโรงเรียนมักกะสันมีนักเรียนเพียง 218 คน เมื่อเทียบกับอาคารเรียน 4-5 ชั้นที่มีถึง 3 อาคาร ก็ถือว่านักเรียนค่อนข้างน้อย จากที่เมื่อหลายปีก่อนเคยมีนักเรียนถึงพันคน นอกจากปัญหาเด็กเกิดน้อยที่ค่อยๆ คืบคลาน ปัญหาในชุมชนมักกะสันที่ล้อมรอบพื้นที่โรงเรียนทำให้ผู้ปกครองไม่อยากส่งลูกมาเรียน มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อจำนวนนักเรียนให้ลดลงเรื่อยๆ ส่วนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนปัจจุบันนี้ล้วนมาจากชุมชนโดยรอบที่มีความเป็นอยู่ไม่ต่างกันมากนัก
เมื่อมีจำนวนนักเรียนน้อย งบสนับสนุนจากรัฐที่ให้ ‘ตามรายหัว’ ก็น้อยลงไปด้วย หากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่พยายามจะรักษาเด็กกลุ่มเปราะบางไว้ในระบบให้มากที่สุด ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหาร งบประมาณจากภาครัฐเพียงทางเดียวนั้นไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนอยู่ตลอด ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เงินสนับสนุนที่ยั่งยืน ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา สุภาพรจึงอยากส่งเสียงถึงภาครัฐให้มีนโยบายและงบประมาณที่ครอบคลุมเด็กกลุ่มเปราะบางมากกว่านี้ เพราะคำว่า ‘เรียนฟรี’ ที่รัฐชอบเน้นย้ำ ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายจ่ายอีกมากมายที่เด็กหลายคนเอื้อมไม่ถึง
สุภาพรมีความปรารถนาจะเห็นโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มหลังจากพานักเรียนกลับสู่โรงเรียนได้ดำเนินต่อไป เพื่อประคองเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ให้อยู่ในระบบจนถึงฝั่ง โดยเฉพาะโครงการเรือนพักนอน เพราะเห็นแล้วว่าจำเป็นสำหรับเด็กที่ยากจนและผู้ปกครองต้องไปทำงานต่างพื้นที่ แต่ตอนนี้ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวเพราะต้องปรับปรุงห้องที่ชำรุดก่อน ซึ่งนักเรียนที่มีความจำเป็นต้องอยู่โรงเรียนก็ยังอยู่ในการดูแลของเหล่าครูอาจารย์ที่บ้านพักครู สุภาพรคาดว่าจะได้กลับมาเปิดอีกครั้งในปีการศึกษาหน้า เธอเน้นย้ำว่าโรงเรียนพร้อมจะอ้าแขนรับนักเรียนที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบ
“เราเห็นเด็กที่กำลังจะเรียนไม่จบ เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ แต่เราสามารถดึงเขาขึ้นมาให้มีชีวิตต่อ กลับมาเรียนในระบบจนจบ และมีงานทำได้ ถึงงานที่ทำอาจจะไม่ได้เลิศเลอ แต่ก็พอมีรายได้จุนเจือครอบครัวได้ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง” สุภาพรกล่าวทิ้งท้าย
บ่ายวันจันทร์ในวันที่เราเดินทางไปเยือนโรงเรียนมักกะสัน มีการจัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ดูสนุกสนานไปกับกิจกรรมประกวดชุดรีไซเคิล หลายคนในนี้อาจโตไปเป็นดีไซเนอร์ คนที่คอยแต่งหน้าจัดผมให้เพื่อนมีแววจะเป็นช่างแต่งหน้าได้ หลายคนอาจจะบอกว่าทักษะเหล่านี้ไม่ต้องไปโรงเรียนก็ฝึกได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรยากาศในโรงเรียนเช่นนี้สำคัญต่อพัฒนาการและการเติบโตของพวกเขา เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เขาได้ค้นพบตัวเองและได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ถ้าเด็กๆ เหล่านี้เลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากร่วงหล่นจากระบบและหายไปจากโรงเรียน
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world