26 ปีกับพระราชดำรัสที่ก้องกังวาน “ครูเรียม” ฝันที่อยากเห็น “เด็กด้อยโอกาส” ได้รับการดูแล

26 ปีกับพระราชดำรัสที่ก้องกังวาน “ครูเรียม” ฝันที่อยากเห็น “เด็กด้อยโอกาส” ได้รับการดูแล

ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ

“จากวันนั้นที่ได้รับพระราชดำรัสจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เป็นพลังกระตุ้นให้เราทำงาน และคิดเสมอว่า แม้จะเป็นเพียงคนเล็กๆ คนหนึ่งในฐานะครูก็ต้องทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูสอนเด็ก ๆ วันไหนเหนื่อย ท้อเมื่อไรก็จะหยุดแล้วมองไปที่ข้อความพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ติดอยู่หน้าเสาธงของโรงเรียน ก็ทำให้มีพลังทำหน้าที่ของเราต่อไป”

ครูเรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในวัย 58 ปี ที่อุทิศชีวิตให้กับการสอนหนังสือเด็กชาวเขา และผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ทุรกันดารทางภาคเหนือของประเทศมาร่วม 35 ปี ยังคงจดจำและมีแรงบันดาลใจทุกครั้งเมื่อได้นึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินที่บ้านขอบด้ง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2535 เพื่อทอดพระเนตรปัญหาการศึกษาของเด็กชาวเขาที่ทรงเน้นให้เด็กๆ รู้ภาษาไทย อ่านออกเขียนได้  วันนั้น ครูเรียมได้มีโอกาสถวายรายงานพระองค์ท่าน ก่อนที่พระองค์จะมีพระราชดำรัสฝากครูเรียมว่า “ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ”

พระราชดำรัสครั้งนั้นได้ถูกอัญเชิญมาติดไว้ที่บริเวณเสาธงของโรงเรียนเพื่อเป็นข้อเตือนใจให้ครู และเด็ก ๆ ทุกคน ได้เห็นอยู่ตลอดเวลาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศให้ได้รับการดูแล เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

ครูเรียมบอกว่า พระราชดำรัสนี้ทำให้เธอมุ่งมั่นเป็นครูจนกว่าจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้
ถึงแม้จะเกษียณแล้วก็ตามจะขอทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อเด็ก ๆ ที่ขอบด้งต่อไป

“ เวลาที่ท้อแท้ เจอปัญหาอุปสรรคจากการทำงาน เรามีพระองค์ท่านเป็นพลัง พระราชดำรัสนี้ไม่ได้อยู่แค่คุณครูเท่านั้น แต่เป็นพระราชดำรัสที่สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับทุก ๆคนในโรงเรียน ”

_______________________________

“ครูคือหัวใจสำคัญครูสามารถสืบเสาะปัญหาของเด็กด้อยโอกาส
ในที่ต่าง ๆ ได้ดีที่สุดต้องเข้าให้ถึงทุกซอกมุม
ไปเยี่ยมบ้านของเด็กมาบันทึก นำเสนอ
งบประมาณอุดหนุนช่วยเหลือก็ต้องถึงเด็กเหล่านี้ด้วย”

_______________________________

 

จากวันที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับครูเรียม จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 26 ปีแล้ว ทว่า
ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่สิ้นสุดในประเทศไทย

ครูเรียม ในอีกสถานะหนึ่งกับบทบาท กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สะท้อนว่า
ในอดีตมีความเหลื่อมล้ำมากมายระหว่างเด็กนักเรียนชาวเขากับเด็กในเมืองหรือในพื้นที่ที่เจริญ แม้ต่อมาปัญหานี้จะได้รับการดูแลจากหลายภาคส่วน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ เช่น เด็กที่จบม.3 หรือ ม.6 ไม่มีโอกาสก้าวเรียนต่อเพราะครอบครัวยากจน ทั้งที่ใจนั้นอยากเรียนต่อปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กชาวเขาเท่านั้น ยังรวมถึงเด็กชายขอบด้อยโอกาสยากจนทั่วทุกภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลสายตาของสังคม ไม่ว่าจะ หุบเขา ที่สูง หรือ ตามเกาะแก่งในทะเล เพียงแต่สภาพปัญหาอาจแตกต่างกัน

“ราชการก็ช่วยตามระบบ แต่จริงๆแล้วก็ยังมีเด็กด้อยโอกาสที่หน่วยงานภาครัฐยังไปหาไม่ถึง เราต้องยอมรับว่า ครูคือหัวใจสำคัญ ครูสามารถสืบเสาะปัญหาของเด็กด้อยโอกาสในที่ต่าง ๆ ได้ดีที่สุด ทั้งปัญหาสภาพบ้านเรือน ปัญหาครอบครัวพ่อแม่ ตัวเด็กเองที่ขาดความอบอุ่น การค้นหาความถนัดและศักยภาพฉะนั้น ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ คนเป็นครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ต้องเข้าให้ถึงทุกซอกมุม ไปเยี่ยมบ้านของเด็ก แล้วมาบันทึก นำเสนอ และงบประมาณที่ได้มาก็ต้องถึงเด็กเหล่านี้ด้วย”

ครูเรียม กล่าวว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องใช้จิตวิญญาณที่มีต่อสังคม ต่อชุมชน และต่อโรงเรียนของตนเอง เข้ามาดูแลใส่ใจและสะท้อนปัญหาเด็กในพื้นที่เพื่อให้ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะช่วยให้เกิดคุณค่ามาก เพราะบางทีครูได้ทำแล้วแต่คนเป็นผู้บริหารบางครั้งเห็นความสำคัญตรงนี้น้อยไป สิ่งสำคัญจะต้องคิดว่า คนทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน ไม่ว่า ผู้ใหญ่ หรือ เด็ก

_______________________________

“เด็กยากจนด้อยโอกาส พวกเขามีหัวใจของนักสู้
ความขาดแคลนหล่อหลอมให้มีหัวใจที่แข็งแกร่ง
ถ้าเพียงแต่ได้มีโอกาสที่ดี ได้ศึกษาเล่าเรียน
พวกเขาจะเติบโตเป็นคนคุณภาพ ไม่แพ้ใคร”

_______________________________

 

ครูเรียม ชี้ว่า การแก้ปัญหาส่วนหนึ่งต้องตัดข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีมากมายออกบ้าง เช่น ทำตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่ได้ ถ้าตัดแล้วเป็นประโยชน์ ทำให้เกิดการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ลงสู่พื้นที่ชนบทอย่างแท้จริง สุดท้าย ชุมชน สังคม ประเทศชาติก็จะพัฒนา ปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาก็จะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

สิ่งสำคัญที่ครูเรียมอยากฝากไว้ คือ บทบาทของครูที่ต้องเป็นครูอย่างแท้จริง มีความเสียสละ มีวินัย รู้จักตนเอง และเข้าถึงหัวใจเด็กให้ได้ แม้ปัจจุบันเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เข้ามามากก็จริง และทดแทนครูได้ในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่แทนกันไม่ได้คือ การสอนให้เด็กเป็นคนดี มีหัวใจและจิตสำนึกเพื่อสังคม ฉะนั้นครูยังสำคัญอยู่เสมอ

“คนเป็นครูที่แท้จริง ต้องปลุกจิตวิญญาณของความเป็นครูให้ได้ ต้องสัมผัสให้ถึงหัวใจเด็กด้วย ตรงนี้เราจะได้รู้ว่า คนเป็นครูรักเด็กจริงไหม และพร้อมจะดูแล ดึงเด็กยากจน ด้อยโอกาส ให้ขึ้นมามีโอกาสได้รับการศึกษาเรียนรู้อย่างเสมอภาคได้หรือไม่”

“รู้สึกดีใจที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาการศึกษาโดยกำหนดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นมาซึ่งจะมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง กองทุนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็ก ๆ ยากจนด้อยโอกาสถูกค้นเจอ และได้รับการดูแล พัฒนาพวกเขาและเธอขึ้นมาให้มีโอกาส มีที่ยืนในสังคม ทำให้รู้ว่ากองทุนนี้และคนไทยกลุ่มหนึ่ง รวมถึงราชการไม่ได้ทิ้งเขาเพราะเขาคือ คนไทยของประเทศ”