ทุนชีวิตเด็กปฐมวัย การลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน

ทุนชีวิตเด็กปฐมวัย การลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน

‘ทุนมนุษย์’ เป็นทรัพยากรสำคัญที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในระบบทุนนิยมโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน

พ.ศ. 2563 ธนาคารโลกเสนอรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI) เป็นตัวชี้วัดระดับทุนมนุษย์ (ผลิตภาพ ทักษะ ความสามารถ ฯลฯ) ที่คาดว่าเด็กแรกเกิดแต่ละคนพึงมี เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ 

ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าระหว่าง 0 และ 1 และดัชนีนี้จะมีค่าเท่ากับ 1 ได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ที่เกิดในประเทศนั้นมีสุขภาพสมบูรณ์ เช่น ไม่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น (stunting) และคาดว่าจะมีอายุขัยอย่างน้อย 60 ปี และสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพ โดยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเวลา 14 ปี 

รายงานธนาคารโลกฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีทุนมนุษย์ 0.61 นั่นหมายความว่า เด็กที่เกิดและเติบโตในไทยในวันนี้จะสร้างผลิตภาพเพียงร้อยละ 61 ของศักยภาพที่มี หากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ (ร้อยละ 88) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 80) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 80) หรือเวียดนาม (ร้อยละ 69)

ศักยภาพที่สูญหายของเด็กไทยยิ่งถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศให้กว้างขึ้น เด็กที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพจะสร้างปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ ออกจากการเรียนกลางคัน ท้องก่อนวัยอันควร เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่มีวุฒิการศึกษา กระทบต่อการหางานที่มีค่าตอบแทนสูง ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อตัวเด็กและครอบครัว แต่ยังลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกในระยะยาว

แล้วไทยจะเพิ่มทุนมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง

เจมส์ เจ. เฮกแมน (James J. Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เสนอว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ที่ได้ผลลัพธ์และผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสจากครอบครัวยากจน

ช่วงปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี) เป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโต และมีความสำคัญที่สุดในการวางรากฐานสำหรับชีวิตของมนุษย์ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยจะรวดเร็วกว่าช่วงวัยอื่น ตั้งแต่พัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อุปนิสัย สติปัญญา ภาษา และความคิดสร้างสรรค์ 

ทักษะที่ก่อร่างขึ้นในเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะทักษะทางความคิด อาทิ ความเอาใจใส่ แรงบันดาลใจ การควบคุมตนเอง และการเข้าสังคม จะต่อยอดและหนุนเสริมกันอย่างมีพลวัต อุปนิสัยเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ (knowledge) ให้กลายเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการ (know-how) เด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้น 

เฮกแมนเสนอว่า พัฒนาการช่วงปฐมวัยเป็นอิฐก้อนแรกที่สำคัญ ต้องลงทุนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การลงทุนมนุษย์ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยยังช่วยเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นพลเมืองที่มีผลิตภาพและสามารถจ่ายภาษีได้ เฮกแมนชี้ว่า การลงทุน 1 ดอลลาร์ในเด็กปฐมวัย ให้ผลตอบแทนสูงถึง 6.3 ดอลลาร์ พูดง่ายๆ คือ การลงทุนในเด็กปฐมวัยสร้างผลตอบแทนคืนสู่สังคมและระบบเศรษฐกิจ มากถึง 6 เท่า

สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน แม้การพัฒนาเด็กปฐมวัยจะกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ มีกฎหมายหลายฉบับคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของเด็กปฐมวัย อาทิ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากขาดการดูแลและการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ

ทั้งนี้ เด็กทุกคนต้องการการสนับสนุนในช่วงปฐมวัยอย่างเต็มที่ แต่ข้อเท็จจริงคือ เด็กในครอบครัวรายได้ต่ำกลับได้รับความช่วยเหลือเช่นนั้นน้อยที่สุด เพราะพ่อแม่ต้องสละเวลาที่ควรใช้ดูแลลูก ไปทำงานเพื่อหาเงิน ซึ่งรายได้นั้นก็อยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า เด็กที่ขาดโอกาสได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด จะมีพัฒนาการและสุขภาพน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ 

ความยากจนจึงส่งผลต่อเด็กปฐมวัยในหลายมิติ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้จะเหนี่ยวรั้งพัฒนาการ ขัดขวางศักยภาพของเด็ก จนไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีผลิตภาพสูงได้ และอาจก่อภาระที่ทั้งสังคมต้องร่วมแบกรับ

ดังนั้น เด็กปฐมวัยทุกคนจึงควรได้รับการดูแลในทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา การได้รับสารอาหารและวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนหลังคลอด การทำกิจกรรมยามว่างร่วมกับครอบครัว การเล่นตามวัย การเล่านิทาน อ่านหนังสือกับเด็ก การแสดงความรัก เอาใจใส่ และไม่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ

การลงทุนในระยะสั้นจะถูกชดเชยด้วยผลกำไรในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ ‘ทุนเสมอภาค’ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยืนยันสิทธิ์ศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 20,018 คน

จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ประเมินว่า ถ้าเด็กทั้ง 20,018 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ คนละ 3.3 ล้านบาท (อ้างอิงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยของวุฒิปริญญาตรีเท่ากับ 27,132 บาท/เดือน)

กล่าวอีกนัย รายได้ของพวกเขาจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มถึง 66,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อให้เด็กแต่ละคนเรียนจบมีมูลค่าประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาท/คน เท่านั้น

การลงทุนกับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เขาเติบโตสู่วัยทำงานอย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรในระบบฐานภาษี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด การลงทุนในมนุษย์จึงเป็นการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน

ที่มา