พอล คอลลาร์ด : ออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่ใช่อัจฉริยะ
โดย : สมคิด พุทธศรี
ภาพ : เมธิชัย เตียวนะ

พอล คอลลาร์ด : ออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่ใช่อัจฉริยะ

โรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์หรือไม่?

นี่คือคำถามเชิงวิพากษ์ที่เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักการศึกษาระดับโลกมีต่อระบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ ความแหลมคมของคำถามไม่เพียงแต่ทำให้คลิป TED Talk ของเขากลายเป็นคลิปที่คนดูมากที่สุดในโลก แต่ยังทำให้ประเด็นการปฏิรูปการเรียนรู้กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก รวมถึงในประเทศสหราชอาณาจักรบ้านเกิดของ ‘เซอร์ เคน’ ด้วย

เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มโครงการ Creative Partnerships ซึ่งเป็นโครงการปฏิรูปการเรียนรู้ ‘เรือธง’ ของรัฐบาล หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่มีส่วนรับผิดชอบโครงการคือ พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) เพื่อนสนิทของ ‘เซอร์ เคน’ และนักการศึกษาที่มีประสบการณ์ในการปฏิรูปการเรียนรู้มาอย่างยาวนาน

หลังอำลาตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล พอลเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น เมื่อเขาตั้งมูลนิธิ Creativity, Culture and Education (CCE) และมุ่งทำงานด้านการศึกษาในหลายมิติตั้งแต่ การทำวิจัย การเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรรัฐหลายประเทศ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยตรง โดยอาศัยแนวคิด ‘การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์’ (Creative Education) ซึ่งเขาและทีม CCE พัฒนาขึ้นเป็นจุดขายสำคัญ

พอลสนใจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นการเฉพาะ และเชื่อมั่นว่า ‘การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์’ จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กยากจนทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พอลและทีมลงสนามด้วยเช่นกัน โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญ

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านศึกษามาอย่างยาวนานในหลากหลายประเทศ พอลมองปัญหาการศึกษาไทยอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ 101 ชวนเขาสนทนา

คุณเป็นที่รู้จักจากการพัฒนาแนวคิด ‘การศึกษาเชิงสร้างสรรค์’ (creative education) ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก คำว่า ‘ความสร้างสรรค์’ เป็นคำที่มหัศจรรย์ สร้างพลังเชิงบวกได้ แต่ปัญหาคือความหมายไม่ชัดเจน คุณหมายความว่าอย่างไรกันแน่เวลาใช้คำว่า ‘การศึกษาเชิงสร้างสรรค์’

คุณพูดถูก (หัวเราะ) คำว่า ‘ความสร้างสรรค์’ เป็นคำที่ใช้กันมาก แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ กระทั่งตอนที่ผมเริ่มทำงานกับรัฐบาลอังกฤษ พวกเขาก็บอกว่า “เราต้องทำให้เด็กในโรงเรียนมีความสร้างสรรค์มากกว่านี้” แต่เมื่อถามลึกๆ เราก็พบว่า พวกเขาแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะนิยาม ‘ความสร้างสรรค์’ อย่างไร

CCE ทำวิจัยและสำรวจงานวิจัยเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศเพื่อสำรวจนิยามของ ‘ความสร้างสรรค์’ ในแทบทุกแบบ ท้ายที่สุดเราได้สรุปนิยามเฉพาะสำหรับใช้ในการศึกษา ซึ่งเราเรียกว่า ‘small c creativity’

‘small c creativity’ เป็นทักษะที่ทุกคนควรมีและสามารถมีได้เพื่อบรรลุศักยภาพของตัวเอง หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘natural creativity’ ซึ่งที่เรียกว่า ‘natural’ เพราะทุกคนสามารถที่จะมีความสร้างสรรค์ในรูปแบบนี้ได้ ซึ่งจะแตกต่างจาก ‘big C creativity’ ที่เป็นเรื่องพรสวรรค์ หรือความอัจฉริยะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

อะไรคือรูปธรรมของ ‘small c creativity’

‘small c creativity’ ประกอบด้วยชุดของคุณลักษณะหรืออุปนิสัย 5 ประการ คือ ความอยากรู้อยากเห็น (Inquisitive) ความอดทน (persistent) ความช่างจินตนาการ (imaginative) ความมีระเบียบวินัย (disciplined) และ การทำงานเป็นทีม (collaborative) ซึ่งอันที่จริงแต่ละอันก็จะมีลักษณะนิสัยย่อย แต่ในภาพใหญ่นี่คือชุดของคุณลักษณะที่จะทำให้การเรียนรู้ (learning) เกิดขึ้นได้

นี่เป็นแก่นความคิดที่สำคัญมาก เวลาที่ทีมของเราลงพื้นที่พูดคุยกับครู พวกเขามักจะบอกว่า ที่ผ่านมาพวกเขาสับสนกับคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ แต่ตอนนี้พวกเขาแค่สนใจว่า จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณสมบัติทั้ง 5 ประการนี้

คุณลักษณะ 5 ประการดูเป็นอะไรที่ธรรมดามาก?  

ความธรรมดานี่แหละที่สำคัญมากๆ เพราะอย่าลืมว่า นี่คือคุณลักษณะที่เด็กทุกคนสามารถมีได้

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าธรรมดาที่จริงแล้วก็ไม่ได้ธรรมดาอย่างที่เข้าใจ เพราะนอกจากงานวิจัยด้านการศึกษาจำนวนมากแล้ว ล่าสุด CCE ได้ทำงานด้านประสาทวิทยา (neuro science) พบว่า small c creativity มีความสัมพันธ์กับการทำงานสมองส่วนที่เรียกว่า ‘executive function’ ซึ่งเป็นสมองส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดและการรับรู้ และสมองส่วนนี้เองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การตัดสินใจ

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สมองค้นพบแล้วว่า ช่วงเวลาที่ร่างกายพัฒนาสมองส่วน executive function คือช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ปี หลังจากนั้นการพัฒนาสมองส่วนนี้จะแย่ลง 1-2 ปี ก่อนที่จะกลับมาพัฒนาอีกครั้งจนถึงขีดสุดที่อายุ 16 ปี ดังนั้น การพัฒนาความสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากตั้งแต่วัยเด็ก

อันที่จริง ยังมีปริศนาอีกมากเกี่ยวกับสมองส่วน executive function ผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ของ small c creativity กับการทำงานของสมองมากขึ้น

เวลาพูดว่า อยากให้เด็กมีคุณสมบัติบางอย่างเช่น ความอยากรู้อยากเห็น หรือช่างจินตนาการ ฟังแล้วดูเหมือนง่าย แต่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

สิ่งที่ CCE ทำคือ การพัฒนาเครื่องมือที่ใช้วัด (assessment) ความสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมโยงกับคำถามแรกที่ว่า ‘ความสร้างสรรค์’ หมายถึงอะไร แต่เดิมเราไม่สามารถวัดความสร้างสรรค์ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ แต่เมื่อเรามีนิยามที่ชัดเจนก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คุณจะวัด เช่น คุณสามารถรู้ได้เลยว่า เด็กมีความสงสัยใคร่รู้หรือไม่ อย่างไร ก็ดูจากพฤติกรรมในการถามคำถาม พวกเขาถามคำถามบ่อยไหม หรือคุณภาพคำถามเป็นอย่างไร ในเรื่องความอดทนอดกลั้นก็ประเมินจากการที่พวกเขายอมแพ้อะไรง่ายๆ ไหม หรือทำงานหนักไหม ความช่างจินตนาการ เราก็สามารถรู้ได้จากไอเดียที่เด็กๆ นำเสนอ ความมีระเบียบวินัย หรือการทำงานเป็นทีมก็เป็นอะไรที่สังเกตได้โดยง่าย

ครูทุกคนรู้ดีว่า คุณลักษณะเหล่านี้สังเกตอย่างไร พวกเขาเพียงแค่ตั้งใจดู สังเกตเด็ก และพยายามมีส่วนสร้างให้เด็กมีพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้ให้ดีขึ้น

คนมักจะเชื่อมโยงความสร้างสรรค์เข้ากับศิลปะและการออกแบบ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องการคิดคำนวณ การให้เหตุผล และวิทยาศาสตร์ แต่นิยามความคิดสร้างสรรค์ตามแบบ ‘small c creativity’ จะไม่ได้แบ่งตามกรอบแบบนี้เลย

ใช่แล้ว! ความสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกสาขาวิชา ไม่ใช่เป็นเรื่องของศิลปะหรือการออกแบบอย่างเดียว พูดให้ถึงที่สุด งานศิลปะ บทเพลง หรือการแสดงจำนวนมากไม่ได้มีมิติของความสร้างสรรค์เลยด้วยซ้ำ หรือมีค่อนข้างน้อย งานเหล่านี้เป็นการผลิตซ้ำเสียมากกว่า ในทางตรงกันข้าม ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์จำนวนมากกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์

คุณลองดูนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้สิ  สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นเลยว่าความสร้างสรรค์ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างศาสตร์และศิลป์หรอก

คุณมีประสบการณ์ทำงานในโครงการด้านการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก อะไรคือความเหมือนและความแตกต่างของแต่ละประเทศที่คุณค้นพบเวลาทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพในการศึกษา

ผมโชคดีมากที่มีโอกาสเดินทางไปเห็นระบบการศึกษาจากทั่วโลก มีโอกาสได้คุยกับผู้กำหนดนโยบาย คุณครู และเด็กโดยตรง สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผมค้นพบคือ การเรียนการสอน (teaching) อาจจะแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกที่คือ การเรียนรู้ (learning) เด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน ฐานะอย่างไร นับถือศาสนาใด แต่กระบวนการเรียนรู้ของพวกเขาไม่ต่างกันเลย

ปัญหาที่แทบทุกประเทศมีเหมือนกันคือ การไม่เข้าใจแก่นของเรื่องการเรียนรู้ ซึ่งทำให้การทำความเข้าใจเรื่อง small c creativity ยากตามไปด้วย ทั้งนี้เพราะผู้กำหนดนโยบายมองการเรียนรู้แบบหยุดนิ่งและคับแคบมาก ตลอดชีวิตการทำงานสิ่งหนึ่งที่ผมใช้เวลามากที่สุดคือ การอธิบายว่าการเรียนรู้คืออะไร เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ การคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงเหตุและผลอย่างไร

ดังนั้น ในทุกพื้นที่ที่ผมลงไปทำงาน คำถามแรกๆ ที่ต้องถามคือ การศึกษา โดยเฉพาะการเรียนการสอนในพื้นที่นั้นๆ ก่อให้เกิดการเรียนรู้หรือไม่ ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผมเจอคือ เด็กมักจะไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพราะการเรียนการสอนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้พวกเขาเรียนรู้เลย

ประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่ต่างกันหรอกหรือในเรื่องนี้

ไม่ต่างกัน ผมยืนยันว่า เด็กทุกคนมีความสามารถที่จะมี ‘small c creativity’ ได้ ถ้าโรงเรียนหรือระบบการศึกษาถูกออกแบบอย่างเหมาะสม

ปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดีได้ นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเจอ กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนก็มีการเรียนรู้ที่แย่กว่าเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวย ในประเทศอังกฤษ เด็กส่วนใหญ่ที่เรียนดี เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำงานวิชาชีพอย่างหมอหรือทนาย ล้วนมาจากครอบครัวที่มีฐานะทั้งนั้น ส่วนคนที่มาจากครอบครัวชนชั้นล่างก็มักจะเรียนรู้ได้น้อยกว่าและมีคุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยแย่กว่า

ดูแล้วปัญหาของอังกฤษดูคล้ายกับไทยเหมือนกัน แต่ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าข้อสรุปนี้แปลกๆ

ผมไม่ได้บอกว่า คุณภาพการศึกษาของอังกฤษเหมือนไทย แต่เราเจอปัญหาคล้ายกัน (เน้น) นั่นคือ ระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เกิดกับเด็กได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน พูดอีกแบบคือ ถ้าคุณปล่อยให้ความยากจนเข้ามาทำร้ายเด็กเมื่อไหร่ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนผลลัพธ์ที่มีต่อการเรียนรู้ก็เหมือนกัน

คุณทำโปรเจ็กต์ด้านการศึกษาในประเทศมาสักพักแล้ว คุณมองเห็นปัญหาอะไรในการศึกษาไทย 

เมื่อพิจารณาเรื่องมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็ก ประเทศไทยเจอปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไม่ต่างจากประเทศอื่น แต่สิ่งที่เด่นชัดกว่ามากคือ สถานการณ์ของเด็กนักเรียนยากจนของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนที่สุดนั้นน่ากังวลมาก เมื่อเทียบกับระดับการพัฒนาของประเทศ ผมคุ้นเคยกับเมืองใหญ่ที่ทุกอย่างครบครันอย่างกรุงเทพฯ และมีโอกาสได้เห็นข้อมูลมหภาคของประเทศไทยมาก่อน แต่เมื่อลงพื้นที่จริง สิ่งที่เห็นเป็นทั้งความประหลาดใจและความกังวล

ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำให้คนเข้าถึงการศึกษา แต่งานวิจัยในระดับโลกเริ่มชี้แล้วว่า การเข้าถึงการศึกษาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อการศึกษามีคุณภาพ ยิ่งในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ ผมกล้าฟันธงเลยว่า การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน คือทางเลือกเพียงทางเดียวที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดในระยะยาวได้

เล่าให้ฟังสักนิดว่าคุณทำโปรเจ็กต์อะไรในประเทศไทย

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา CCE ได้ทำโปรเจ็กต์เพื่อตอบโจทย์ด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายประเทศ พูดแบบเฉพาะเจาะจงคือ เราพยายามนำวิธีการเรียนการสอน (pedagogy) แบบใหม่ที่ช่วยให้เด็กนักเรียนยากจนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขาได้ ซึ่งหลักสูตรที่ว่าก็อยู่บนฐานการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่เราคุยกันไปก่อนหน้านี้

โปรเจ็กต์ที่เราทำในประเทศไทยก็มีลักษณะคล้ายกันนี้ แต่ในประเทศไทยเราทำงานค่อนข้างง่าย เพราะมีข้อมูลพื้นฐานที่ดีพอสมควร ในแง่นี้ต้องให้เครดิต กสศ. ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของเราด้วย โดยเปรียบเทียบแล้ว ผมคิดว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยมีความเข้าใจปัญหาที่ดีพอสมควรทำให้พวกเขาออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ค่อนข้างมียุทธศาสตร์เลยทีเดียว

อยากให้เล่ารายละเอียดเบื้องต้นหน่อยว่า กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร

เราอบรมและทำเวิร์คช็อปให้กับครูและนักเรียน โดยมีเป้าหมายให้พวกเขาคุ้นเคยกับคุณลักษณะและวิธีคิดของการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีหลักดังนี้

ประการที่หนึ่ง การทำให้ครูและนักเรียนเข้าใจตรงกันว่าความหมายของคำว่า ‘ความสร้างสรรค์’ คืออะไร ซึ่งการศึกษาวิจัยของเราพบว่า เด็กๆ สามารถเข้าใจแนวคิดนี้ได้ตั้งแต่ ป.1 เลย แต่การสอนจะไม่ใช่การไปอธิบายแนวคิด ‘ความอดทน’ แบบนามธรรม เขายังไม่เข้าใจ แต่ต้องทำผ่านการยกตัวอย่างง่ายๆ

ประการที่สอง เราออกแบบห้องเรียนที่เรียกว่า ‘high functioning classroom’ ซึ่งเป็นห้องเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ ห้องเรียนแบบนี้ ครูจะให้ความท้าทาย (challenge) มากกว่าที่จะให้คำตอบ (answer) แก่เด็ก ในขณะที่เด็กจะให้ความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเรียนมากกว่าให้ความสนใจกับครู นอกจากนี้ การวัดผลก็สามารถทำได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องสอบอย่างเดียว ครูอาจจะประเมินเด็กผ่านการให้เด็กทำกิจกรรมก็ได้

ประการที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนคือกุญแจสำคัญของการเรียนรู้ พวกเขาต้องไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อกัน  โดยเฉพาะครูที่ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก สร้างสิ่งแวดล้อมที่เด็กเรียนรู้ได้

จะเห็นว่า เราไม่ไปยุ่งกับหลักสูตรเลย ครูยังสามารถสอนเนื้อหาวิชาเหมือนเดิมได้ แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือวิธีการสอน ถ้าทำอย่างนี้ได้ต่อเนื่อง คุณลักษณะและวิธีคิดเชิงสร้างสรรค์ก็จะถูกพัฒนา

วิธีการแบบนี้จะใช้ได้จริงหรือในสังคมอำนาจนิยมแบบไทย โดยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในสังคมไทยที่มีช่วงชั้นชัดเจนมากๆ

ยาก (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ สิ่งที่คุณพูดเป็นความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ของสังคมไทย คนไทยเคยชินกับวิธีการเรียนการสอนที่ครูมีสถานะเป็นผู้รู้เพียงหนึ่งเดียวและมีอำนาจสูงสุดในห้องเรียน และวิธีคิดแบบนี้ซึมลึกมาก

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ได้หยุดนิ่งและการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ขาวกับดำ สิ่งที่ผมเห็นคือ ครูจำนวนมาก แม้กระทั่งคนที่สูงอายุก็เริ่มเปิดรับทางเลือกใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาพยายามทำความเข้าใจแนวคิดใหม่และปรับตัวไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น ถึงแม้ว่าลักษณะอนุรักษนิยมแบบที่คุณบอกจะยังเห็นได้อยู่ก็ตาม

คำถามของคุณทำให้ผมนึกถึงข้อจำกัดของ ‘high functioning classroom’ งานวิจัยล่าสุดของเราพบว่า วิธีการแบบนี้ใช้กระตุ้นการเรียนรู้ได้ถึงอายุ 16 ปีเท่านั้น เพราะสมองส่วน executive function เติบโตเต็มที่แล้ว หลังจากนั้นวิธีการเรียนรู้ของคนต้องเปลี่ยนไปหาวิธีการเรียนรู้ที่ลึกและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

โปรเจ็กต์ของคุณทำงานเฉพาะกับเด็กยากจนหรือ แล้วแนวคิดการศึกษาเชิงสร้างสรรค์สามารถนำมาใช้กับเด็กที่ครอบครัวฐานะดีได้ไหม?

การศึกษาเชิงสร้างสรรค์เป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับเด็กทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย อย่างไรก็ตาม เด็กที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางและครอบครัวที่ฐานะดี โดยเฉลี่ยพวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาที่สร้างการเรียนรู้ได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นในเชิงนโยบายพวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่น่ากังวลมากนัก รัฐและสังคมควรทุ่มเททรัพยากรมาแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนยากจนมากกว่า

การแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการหลักสูตรและวิธีการสอนแบบเฉพาะทางไปใช้ในพื้นที่มักถูกตั้งคำถามเสมอว่า จะขยายผล (scale up) อย่างไร?

(หยุดคิด) ผมเห็นด้วยว่าปัญหาการขยายผลคือข้อจำกัดของวิธีการแบบที่เราใช้ แต่คุณต้องไม่ลืมด้วยว่าเรากำลังจัดการกับปัญหาที่มีความเฉพาะอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าจำนวนเด็กนักเรียนยากจนจะมีจำนวนค่อนข้างมากก็ตาม

สำหรับโปรเจ็กต์ในประเทศไทย เราตั้งเป้าว่าจะทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็ก 800 โรงเรียน ถ้าเทียบกับโรงเรียนทั้งหมดที่มี ก็นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากแต่ผมเชื่อว่าตัวเลขนี้ก็ไม่ได้น้อยจนไม่มีความหมาย หากเราทำได้สำเร็จและเห็นผลจริงก็มีโอกาสที่จะขยายผลไปเป็นเชิงระบบได้

อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกของการเข้าไปเปลี่ยนการเรียนการสอนในระดับห้องเรียนคือ การออกแบบระบบจูงใจให้ครูเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการหวังให้ครูเสียสละ หรือมีอุดมคติยอมทำเพื่อเด็ก เป็นความคาดหวังที่เป็นจริงได้ยาก  

ผมไม่ปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเรียกร้องจากครูค่อนข้างมาก และการมีระบบจูงใจ เช่น แรงจูงใจทางการเงินมีส่วนช่วยในการผลักดันครูให้เปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของผมชี้ว่า แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดของครูคือการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ต่อให้ครูมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นภาระ แต่ถ้ามันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาจับต้องได้ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยน ประเด็นคือคุณต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า วิธีการใหม่นั้นได้ผลจริงๆ และถ้ายิ่งไม่ได้ทำยาก หรือมีต้นทุนสูงอะไร โอกาสที่เขาจะเปลี่ยนก็ยิ่งมาก

อะไรคือความท้าทายที่สุดในการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนเด็กนักเรียนยากจน?

ในทุกประเทศที่ผมไป มีครูจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า สาเหตุที่เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพราะพวกเขาไม่มีคุณภาพ มาจากครอบครัวยากจน การเปลี่ยนแปลงคนกลุ่มนี้คือความท้าทายอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเจอครูที่มีทัศนคติที่ดีและเชื่อมั่นในตัวเด็ก ทุกอย่างจะดูง่ายไปหมด และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะชัดเจน

บทเรียนจากประเทศไหนที่น่าสนใจและเป็นต้นแบบให้กับประเทศไทยได้

นี่เป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยมาก แต่ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าปัญหาของประเทศไทย คำตอบอยู่ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีคนยกตัวอย่างฟินแลนด์ในฐานะโมเดลต้นแบบของการเรียนการสอนค่อนข้างมาก แต่โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมที่มีความเท่าเทียมสูงมากๆ เท่านั้น กระทั่งในอังกฤษก็ยังเป็นไปได้ยากเลย ในแง่นี้โมเดลฟินแลนด์จึงไม่ใช่โมเดลที่เหมาะกับไทย

แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรศึกษาประเทศอื่น ประเด็นของเรื่องนี้คือไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหยิบโมเดลของประเทศหนึ่งมาสวมกับอีกประเทศหนึ่งได้เลย เมื่อสักครู่คุณบอกว่า สังคมไทยเป็นอำนาจนิยมและยึดติดกับลำดับขั้นสูงต่ำ แนวทางการแก้ปัญหาที่ผมบอกมา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างห้องเรียนแบบ ‘high functioning classroom’  หรือการปรับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กก็ต้องเริ่มปรับจากฐานแบบนี้แหละ

ทุกครั้งที่มีการถกเถียงถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หนึ่งในทางออกที่เป็นสูตรสำเร็จคือต้องทำให้การศึกษาดีขึ้น ในฐานะที่คุณเป็นนักการศึกษาคุณคิดอย่างไรกับคำแนะนำแบบนี้

คำถามคุณตลก แต่ก็ชวนคิดดี (หัวเราะ)

ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนในโลกเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดี เราจะแก้ปัญหาที่เผชิญกันอยู่ในปัจจุบันได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทุกวันนี้งานวิจัยชัดเจนว่าสาเหตุสำคัญที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา เพราะพวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหา

การศึกษายังส่งผลต่อการเมืองอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น กรณี Brexit ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย ความรู้ ข้อมูล และงานวิจัยชี้ชัดว่า สหราชอาณาจักรได้ประโยชน์มหาศาลจากการอยู่กับสหภาพยุโรป แต่ผลการทำประชามติกลับออกมาคัดค้านข้อมูลและงานวิจัยเหล่านี้ หลังการทำประชามติมีการทำแบบสำรวจพบว่า คนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนอายุ 16 เกือบทั้งหมดโหวต ‘leave’ ในขณะคนที่ส่วนใหญ่ที่จบมหาวิทยาลัยโหวต ‘remain’  ในระบอบประชาธิปไตย ผมยืนยันหลักการเสียงข้างมากและเคารพผลการลงประชามติ เพียงแต่เสียดายและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งผมโทษความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ไหนๆ คุณก็เอ่ยถึงการเมือง การศึกษาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร?

ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เชื่อในพลังและศักยภาพของคนธรรมดา ดังนั้นถ้าการศึกษาคุณภาพดี คุณภาพของคนก็ย่อมดี และประชาธิปไตยย่อมต้องดีไปด้วย อันนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา

แล้วประชาธิปไตยล่ะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร?

(นิ่งคิด)

ผมไม่แน่ใจนะว่าประชาธิปไตยส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยตรงอย่างไร แต่ที่พอบอกได้คือ ประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาลดลงมากกว่าระบอบเผด็จการ เพราะประชาธิปไตยทำให้การจัดสรรทรัพยากรกระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากกว่า

หนึ่งในเหตุผลหลักที่มักอ้างกันว่าเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ งบประมาณไม่เพียงพอ แต่ถ้าดูจากข้อมูลสถิติจะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ล้วนลงทุนด้านการศึกษาเป็นจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร

พูดแบบหยาบๆ คือประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมักจะกระจายงบประมาณออกไปอย่างทั่วถึงมากกว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่งบประมาณมักจะกระจุกตัวอยู่จุดใดจุดหนึ่ง

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world