หนุน กสศ. นำทัพสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แก้ปัญหาเด็กนอกระบบ

หนุน กสศ. นำทัพสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แก้ปัญหาเด็กนอกระบบ

เลขาฯกฤษฎีกา สนับสนุน กสศ.ดึงทุกภาคส่วนมาร่วมสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา เน้นพัฒนาคนทุกช่วงวัยมี​ “ทักษะชีวิต” และ Multi-skill สอดรับกฎหมายใหม่ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่กำลังใกล้คลอด ถึงเวลาเปลี่ยน! ระบบโรงเรียนต้องมุ่งค้นหา Talent เด็กหมดยุคเรียนหนักอัดวิชาการ 

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  เปิดเผยว่า  สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ส่งเสริมการสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning Ecosystem แก่เด็กและเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา (41 เครือข่าย) ให้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพโดยการดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งสถาบันครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ… ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกเป็นกฎหมาย

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. คือ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัยของชีวิต ให้กับเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยไม่เน้นจัดตั้งเป็นองค์กร แต่เน้นสร้าง “ภาคีความร่วมมือ” และ “การมีส่วนร่วม” จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เนื่องจากการ “พัฒนาคน” ไม่อาจหยุดอยู่ในระบบการศึกษา หรือ โรงเรียนเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชน ต้องได้รับการพัฒนาไปตลอดชีวิตเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ยิ่งปัจจุบันทิศทางการศึกษาทั่วโลกคล้ายกัน คือ มุ่งเน้น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะที่หลากหลาย หรือ Multi-skill

สำหรับปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา ตัวอย่างเช่น เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ทางผู้ประกอบกิจการ ควรร่วมสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือ ชุมชน ด้วยการส่งเสริมพนักงานในโรงงานตัวเองมี Multi-skill ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่: ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) ที่มีความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีน และกลุ่มสหภาพแรงงาน จัดกิจกรรมสอน ขายของออนไลน์

อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะอาชีพแล้ว ควรต้องเติมความรู้เรื่อง “การใส่ใจบริการ”  หรือ Service mind เข้าไปด้วย เพราะความคิดคนทั่วไปจะรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหานั้นเป็นวิธีคิดแบบ Passive แต่หากมีหัวใจบริการจัดทำบัญชีให้บริการลูกค้า เช่น ช่างแอร์ พอถึงรอบระยะเวลาล้างก็โทรศัพท์ไปสอบถามลูกค้าเพื่อนัดล้างแอร์แบบให้บริการถึงบ้าน ดังนั้นการมีทักษะอาชีพอย่างเดียวไม่อาจก้าวไปเป็นผู้ประกอบกิจการได้หากไม่มีหัวใจบริการนี่คือ ทักษะชีวิต และ Multi-skill ที่ต้องชี้ช่องทางให้เยาวชนแรงงานได้รับรู้

“ที่ผ่านมาเราปลูกฝังให้คนเป็นลูกจ้าง ผลักคนให้เข้าโรงงาน โดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อหากโรงงานปิดกิจการ เช่นกันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดรับตำแหน่งงานนับหมื่นตำแหน่ง แต่ไม่มีคนไทยไปสมัครจำต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แสดงว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้พัฒนาคนให้ไปข้างหน้าใช่หรือไม่” นายปกรณ์ กล่าว

 

ถึงเวลา! เลิกระบบการศึกษาแบบ one-size-fits-all

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับระบบการศึกษาในโรงเรียน ปัจจุบันยอมรับว่าควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อาทิ 1.การสอบแข่งขันควรเน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่ากากบาทเลือกข้อที่ถูกที่สุด ซึ่งการคิดวิเคราะห์ด้วยการสอบข้อเขียนควรเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมต้น สิ่งที่สะท้อนออกมา คือ ความง่าย ด้วยการให้นักเรียนเลือกตอบเพียง ก ข ค และ ง ซึ่งสัดส่วนการตอบถูก 25%  2.การเรียนการสอนควรน้อยวิชา 4 – 5 วิชาต่อวันถือว่ามากแล้วและควรเลิกเรียนไม่เกิน 15.00 น. เพราะการเรียนการสอนในต่างประเทศ คือ เรียนน้อย (เวลาและวิชา) แต่เน้นเรียนให้รู้จริงจากการปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ 3.ควรมี “วิชาทางเลือก” ให้เด็กเลือกเรียนเองอย่างอิสระแบบเปิดกว้าง เพื่อให้เด็กได้ค้นหาศักยภาพ หรือ ความถนัดของตัวเองว่าชอบวิชาใด จากนั้นเมื่อเด็กเรียนจบจะตัดสินใจเองว่าจะไปเรียนต่อหรือแสวงหาความรู้ใหม่ได้ที่ไหน เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัด หรือ พรสวรรค์ ไม่เหมือนกัน และ วิชาบังคับควรเป็น “วิชาพละ” เพราะเด็กอยู่ในช่วงวัยกำลังเติบโตควรเล่นกีฬาและออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง 

ดังนั้นระบบการศึกษาแบบเดิม one-size-fits-all ในโรงเรียนไม่ควรนำมาใช้อีก แต่ควรมุ่งมองหาความถนัด หรือ Talent ในตัวเด็กออกมาแล้วสนับสนุนส่งเสริมไปให้ได้มากที่สุด 4.การเรียนในระบบการศึกษาควรเน้นสอนให้รู้จักใช้ “เหตุผล” แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันเน้นสอนให้เรียนแบบท่องจำและสอนให้เชื่อ

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญของการศึกษาไทย คือ ไม่มีการกำหนด “Basic Law ด้านการศึกษา” ที่ต้องบ่มเพาะสั่งสอนให้เด็กและเยาวชนในหรือนอกระบบการศึกษา ได้รับรู้ว่าทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และคุณค่าเสมอกัน เช่น ช่างตัดผม แม้แต่นายกรัฐมนตรี หรือ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ยังตัดผมเองไม่ได้การเคารพซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว

และ ใน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ.ได้ส่งเสริมการปลูกฝัง “ทักษะชีวิต” ให้เด็กและเยาวชนได้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ในโรงเรียน หรือ นอกระบบการศึกษาไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกหารายได้เสริมในช่วงเรียน Part-time เพื่อให้รู้จักคุณค่าของเงิน การลงทุน และ รู้จักมัธยัสถ์อดออม มิใช่ตามใจใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยและปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ทักษะชีวิตด้วยตัวเอง  

“บ้านเมืองจะสะอาดได้ เพราะพนักงานเก็บขยะ กับ ซาเล้งที่คุ้ยเขี่ยถังขยะตามท้องถนน แต่วิธีคิด หรือ Mindset ให้เคารพในฐานะผู้ให้บริการ หรือ ได้รับการเคารพในฐานะผู้ใช้บริการ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ยังกลับดูถูกเหยียดหยามอาชีพที่ต่ำต้อยกว่าเป็นคนอีกเกรด แต่ปัจจุบันกฤษฎีกาได้กำหนด Basic Law ด้านการศึกษา กับ ทักษะชีวิต เรื่องนี้ ไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.ไว้แล้ว”  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าว