เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว: แรงงานไทยในยุคที่ต้องการ ‘ซูเปอร์เป็ด’

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว: แรงงานไทยในยุคที่ต้องการ ‘ซูเปอร์เป็ด’

แม้ว่าประเทศไทยจะตั้งหลักสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างงดงาม แต่อะไรจะรับประกันได้ว่าสถานการณ์ข้างเคียงที่ตามมาติดๆ อย่างปัญหาเศรษฐกิจจะได้รับการคลี่คลาย เพราะจนถึงขณะนี้บรรดาภาคธุรกิจยังคงทยอยปิดกิจการลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ หนำซ้ำยังเกิดคำถามใหม่ๆ ว่าฉากโมเดลการทำธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไรหรือไม่ และที่สำคัญแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่จะหยัดยืนอยู่ตรงจุดไหนภายใต้วิกฤติที่มีความผันผวนเช่นนี้ 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือผู้เชี่ยวชาญที่เราจะมาสนทนาด้วยในวันนี้ เพราะนอกจากจะเขียนงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจารย์ยังมองลึกเข้าไปในสายตาของนายจ้าง ผู้ประกอบการจากงานวิจัยที่อาจารย์เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องยาวนาน 

บทสัมภาษณ์นี้ จึงแถมท้ายด้วยบทเคราะห์ไปถึงทักษะของแรงงานรุ่นใหม่ในยุคที่อาจารย์เรียกว่า ‘Beyond 4.0’ ที่โครงสร้างการศึกษาไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ไม่ช้าก็เร็ว 

 

ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและภาคแรงงานอย่างชัดเจน แม้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะคลี่คลายลงบ้างแล้วก็ตาม อาจารย์มองการปรับตัวนี้อย่างไร 

ตอนนี้ต้องมาคิดกันใหม่ คิดต่างออกไปจากเดิมว่า เมื่อก่อนเน้นกำไรสูงสุด เน้นความชำนาญเฉพาะด้าน และต้องจ้างคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามา แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาสู่การทำให้องค์กรธุรกิจมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นที่สุด เพราะผู้ประกอบการไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรในวันข้างหน้า ฉะนั้นคนที่อยู่ในองค์กรจะต้องเป็นคนที่พร้อมจะไปกับธุรกิจและพร้อมเจอกับทุกสถานการณ์ 

ในแง่นี้นายจ้างจึงชะลอการรับคน แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวก็จะไม่จ้างคนเดิมที่เขาปล่อยออกไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากโมเดลการทำธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว

แรงงานที่อายุเกิน 45 ปี ตอนนี้ก็ต้องถือว่าเสี่ยงแล้ว นักศึกษาก็เข้าขั้นเสี่ยงเช่นกัน เมื่อก่อนนายจ้างเลือกไม่ได้ เพราะขาดแรงงาน แต่ตอนนี้เมื่อองค์กรธุรกิจเปลี่ยนธงว่าจะไม่ใช้คนเยอะตั้งแต่แรก ทำให้ธุรกิจที่เคยใช้คน 100 คน หากกลับมาฟื้นตัวอย่างมากก็จะใช้แค่ 20 คน ฉะนั้นเมื่อโมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป จึงทำให้นายจ้างไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน สถานการณ์ยืดเยื้อของโควิดก็มีส่วนทำให้เกิดการตกงานสะสม นายจ้างจึงมีสิทธิเลือกคนมากขึ้น 

กล่าวกันว่าการจ้างงานในภาคบริการของไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน?

เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 เฟส เฟสแรกในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวและบริการยังเลือกที่จะเก็บคนไว้แล้วใช้วิธีจ่ายเงินเดือน ลดชั่วโมงการทำงาน และจ่ายประกันสังคมแทน โดยคิดว่าหลังพ้น 3 เดือนแรกแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายตัว 

ต่อมา หลังพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม เราเริ่มเห็นข้อมูลธุรกิจกลุ่มนี้เริ่มปล่อยคน หรือไม่จ่ายเงินเดือน แต่จ่ายผ่านประกันสังคมอย่างเดียว แล้วจ้างงานเป็นชิ้นๆ ไป เช่น จ้างเฉพาะตอนมีการจัดสัมมนา หรือตอนมีลูกค้าเป็นกลุ่มใหญ่พอที่จะเปิดโรงแรมแล้วคุ้ม จึงค่อยเรียกลูกจ้างมาทำเป็นครั้งคราว แต่ตอนนี้ปล่อยแล้วปล่อยเลย 

เราติดตามแรงงานกลุ่มนี้อยู่ว่า ในช่วงที่พวกเขาตกงานนั้น เขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร ก็พบว่ามี 3 แนวทาง คือ กลุ่มแรกกลับไปอยู่กับครอบครัวที่ชนบทและทำการเกษตร รอปีหน้าฟ้าใหม่หากมีโอกาสค่อยกลับมา ในกลุ่มนี้อาจจะมีบ้างที่กลับแล้วกลับเลย เข็ดแล้ว ไม่เอาแล้วก็มี 

กลุ่มที่สอง คือ แรงงานที่ยังเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีงานสำรองระหว่างที่รองานหลัก เช่น รับจ้างทั่วไป ขายของออนไลน์ 

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปสู่งานใหม่ เช่น พนักงานเสิร์ฟของโรงแรม ถ้าภาษาอังกฤษดีก็สามารถไปหางานทำในร้านอาหารแถวทองหล่อที่ยังขายคนต่างชาติที่เหลืออยู่ในไทยได้ แต่ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่ายังลำบาก มีเพียงส่วนน้อยมากที่ยังไปต่อได้ 

หลังจากนี้สถานการณ์แรงงานไทยจะเดินไปในทิศทางใด ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รวมถึงแรงงานไทยในต่างประเทศ

เราอาจจะเริ่มเซ็ตซีนขึ้นมาได้จากการประชุมของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development – องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เมื่อช่วงต้นปี 2020 ซึ่งมีการประชุมจากทุกประเทศสมาชิกทั่วโลก แล้วคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิดระบาดจะพาโลกไปสู่ 3 ภาพจำลอง 

ภาพจำลองแรกมองว่า สถานการณ์จะไม่รุนแรงมากและจะจบลงได้ภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามภาพนี้ ในช่วง 18 เดือน นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะหายไปราวๆ 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว การเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการรอวัคซีน

ภาพจำลองที่สองมองว่า สถานการณ์อาจจะลากยาวไปถึงเดือนกันยายน โดยเชื่อว่าสิ้นเดือนกันยายนทุกอย่างจะดีขึ้น และนักท่องเที่ยวจะหายไปราว 70 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนภาพจำลองสุดท้ายมองว่า จนถึงเดือนธันวาคมทุกอย่างจะต้องจบ และหลังจากนั้นราว 1 ปีครึ่ง นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะหายไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เมื่อไปถามใหม่ เขาบอกว่าไม่แน่ใจ ไม่กล้าเดาแล้ว อย่างในอังกฤษเคยมีความเชื่อเรื่อง Herd Immunity ในศาสตร์ของตะวันตกที่ว่าเป็นกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกัน จะทำให้คนที่แข็งแกร่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่ามีคน 10 คน อ่อนแอหมด การระบาดก็จะง่าย แต่ถ้ามีคนป่วยแล้วหายสัก 8 คน และมีภูมิต้านทานขึ้นมาแล้ว ที่เหลือ 2 คน ก็อาจจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ยาก ซึ่งเมื่อก่อนมันเคยได้ผลกับเชื้ออื่น แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ 

โควิด-19 เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกไม่เคยเจอมาก่อน บางคนมองว่าถ้าหากได้วัคซีนมา แล้วทุกอย่างจะโอเค แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะทุกประเทศถูกโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจมากน้อยแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นถึงจะมีวัคซีน แต่การค้าโลกก็จะไม่ดีเหมือนเดิม การท่องเที่ยวจะไม่ดีเหมือนเดิม เพราะทุกคนเจ็บหมด การมีวัคซีนเหมือนกับจะบอกว่าคุณไม่ตายในหลุมนี้ แต่มีหลุมหน้ารอคุณอยู่ แล้วคุณจะไปยังไงต่อ 

หากมองสถานการณ์แรงงานกับแนวโน้มของโลกปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบการศึกษาไทยควรจะปรับตัวอย่างไรในการผลิตคนป้อนสู่ตลาดแรงงาน

ต้องเรียนว่า ด้วยโครงสร้างการศึกษาของเรายังอยู่ในยุค 2.0 แต่ทักษะในยุค Post 4.0 ที่เราเผชิญอยู่นี้ คือทักษะในการสร้างงานให้ตัวเอง เราจะสร้างคนแบบไหนให้ขึ้นมาสร้างงานด้วยตัวเองได้ เมื่อก่อนเราจะบอกว่าแรงงานต้องมีทักษะ 21 อย่าง เพื่อจะสามารถทำงานในบริษัทได้ แต่ปัจจุบันถ้าคุณอยู่ในบริษัท คุณต้องสร้างงานใหม่ให้บริษัทที่ AI ยังตามไม่ทัน หรือถ้าคุณถูกดีดออกมา คุณก็ยังมีปัญญาไปสร้างงานใหม่ได้

มาสู่ฝ่ายเบ้าหลอมเองอย่าง ‘ครู’ ซึ่งเปรียบเสมือนแรงงานในระบบการศึกษาด้วย ถามว่าตอนนี้ครูกำลังเผชิญอะไรอยู่ 

เรากำลังพูดถึงสภาวะ disruption หมายถึงการล้มทั้งกระดาน ลองถามครูว่าถ้าไม่มีโรงเรียนจะทำอย่างไร เราต้องเรียน 8 สาระการเรียนรู้เหมือนเดิมไหม ยังต้องเรียนทั้งวันไหม หากเราถาม เราอาจจะได้คำตอบที่ชวนตกใจก็ได้ เพราะเป็นชุดคำถามที่ประเทศฟินแลนด์ใช้ถามก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อเขาไปถามคำถามที่เป็นพื้นฐานเลยว่า จำเป็นต้องเรียนด้วยวิธีการเดิมของคนในยุโรปหรือไม่ หรือมีวิธีอื่นที่จะทำให้เขาเก่งกว่านี้ได้ไหม เราอาจจะต้องเลือกวิธีคิดแบบเก่า

ในแง่โครงสร้างทางการศึกษา ถ้าจะให้คะแนน อย่างในช่วงยุค 80-90 เราสามารถสร้างคนได้ตอบโจทย์เลยนะ ในช่วงเวลานั้นเป็นยุคที่คนต้องทำงานให้สอดคล้องกับเครื่องจักรซึ่งเป็นงานลักษณะซ้ำๆ สอนคนด้วยการท่องจำ ซึ่งก็ดีมาก ทำให้เศรษฐกิจเราโตสูงมาก แต่เมื่อมาสู่ยุคที่เครื่องจักรเริ่มคิดแทนคนได้ คะแนนเลยตกมาเรื่อยๆ ตอนนี้ถ้าเต็ม 10 คะแนน เราได้สัก 3 ก็เก่งแล้ว

ปัญหาสภาพการทำงานของครูไทย ควรพัฒนาและแก้ไขอย่างไร เพราะดูเหมือนปัญหาจะวนเวียนอยู่เช่นนี้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี เช่น ภาวะหนี้สิน วัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน ฯลฯ 

เรื่องนี้เราต้องแยกเป็นประเด็น ถามว่าครูมีหนี้เยอะเพราะอะไร ก็ต้องจำแนกว่าเป็นหนี้ที่จำเป็นหรือหนี้ฟุ้งเฟ้อ เพราะจริงๆ แล้วฐานเงินเดือนของครูไทยเท่ากันหรือสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ถ้าหากทำวิทยฐานะได้ดี แต่โครงสร้างที่บิดเบือนพาให้ครูไปสู่การพยายามหารายได้ที่สูงขึ้น ก็เลยเร่งทำเอกสาร ทำงานเพื่อถีบตัวเอง แทนที่จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เราสร้างระบบแรงจูงใจที่บิดเบือน ขณะที่ครูก็เป็นมนุษย์ที่มีครอบครัวต้องเลี้ยงดู 

แต่ถ้าเปลี่ยนจากการประเมินแบบนั้น มาสู่พัฒนาการของเด็กที่ไม่ใช่การวัดแค่คะแนนสอบ แต่ดูที่พัฒนาการ ซึ่งเด็กคนหนึ่งอาจจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย แต่เปลี่ยนจากตกที่ 0 เป็นตกที่ 25 ถือว่าคะแนนสูงขึ้นนะ ก็ควรจะได้รางวัล แต่ตอนนี้เราเอาฐานคะแนน O-NET มาใช้วัด มันจึงเพี้ยน

เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน จริงๆ แล้วมันมาพร้อมการศึกษายุค 2.0 ที่เน้นให้เด็กทำซ้ำๆ พอทำซ้ำๆ ก็ต้องเน้นการสั่งการ ทำให้ครูที่เคยติดการใช้คำสั่งมาตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน พอมาสู่ตำแหน่งผู้บริหารก็ต้องสั่งต่อ เขาไม่ได้ผิด แต่เขาโตมาในโลกแบบนั้น

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญคือ การปรับตัวกับการเรียนรู้ในยุคใหม่ ครูอาจจะไม่ใช่คนที่ไปสั่งไปสอนเด็ก ผมว่าการเรียนเป็นรายวิชาอาจจะไม่เหมาะเสียด้วยซ้ำ ครูมีหน้าที่สร้างเด็กให้สามารถหาความรู้เองได้ เปลี่ยนจากการเอาความรู้ไปให้แบบยุค 2.0 เป็นการแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ได้เอง นั่นคือการเรียนแบบ 3.0 ครูต้องเป็น trainert of knowlegde creator คือ เป็นผู้ช่วยฝึกเพื่อให้เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เอง

พอเข้าสู่ยุค singularity เต็มตัว หรือโลกที่หลอมรวมกันเร็วกว่าเดิม สิ่งที่เราจะต้องเอาชนะให้ได้คือ ความเป็นนวัตกร จะต้องสร้างงานใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน โรงเรียนจะต้องเป็นพื้นที่สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่

มาสู่เรื่อง ‘ช่องว่างทางทักษะแรงงาน’ ที่อาจารย์ศึกษามานาน สถานะความรู้ต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไปอย่างไร 

ช่องว่างทางทักษะแรงงาน หมายถึง สิ่งที่แรงงานทำได้จริงกับสิ่งที่นายจ้างคาดหวัง ถ้าหากเป็นฟรีแลนซ์ เมื่อนายจ้างอยากได้เว็บไซต์สักเว็บหนึ่ง แล้วจ้างผ่าน fast work แล้วอยากได้อลังการมาก แต่ผมทำไม่ได้ ผมฝีมือไม่ถึง นี่ก็คือช่องว่างทางทักษะ 

ผมว่าแนวคิดนี้ต้องมีการนิยามใหม่ เมื่อก่อนเรารู้ว่านายจ้างต้องการคนที่มีคุณสมบัติ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เช่น ต้องการทักษะทางคอมพิวเตอร์ นายจ้างอาจจะตั้งไว้ 10 คะแนน แต่แรงงานทำได้แค่ 6 ช่องว่างที่เกิดขึ้นคือ 4 

ช่องว่างทางทักษะแรงงานก็คือการวัดภาวะ ‘มือไม่ถึง’ จากเดิมที่เคยวัดจากลักษณะงานที่ทำ เพราะว่าคนคนหนึ่งจะทำงานลักษณะเดียว ถ้าผมเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงิน ก็จะต้องมี 4-5 เรื่องที่ผมต้องทำ แต่คราวนี้ผมต้องเป็นผู้สื่อสารทางเศรษฐกิจด้วย ชุดทักษะที่นายจ้างจะประเมินจึงขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเราทำงานอะไร 

ช่องว่างทางทักษะจะไม่ใช่สิ่งที่อยู่คงที่เหมือนอดีตแล้ว แต่ช่องว่างทางทักษะคือความสามารถในการปรับฝีมือตัวเองให้สอดคล้องกับงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

การปรับหลักสูตรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานควรมีแนวทางอย่างไร 

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แวดวงการศึกษาไทยถูกบีบให้ไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นการทำโดยไม่พร้อม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์ค จะเห็นได้ว่าขัดกับมิติความเป็นมนุษย์ เพราะการเรียนรู้ของคนไม่ใช่การเอาข้อมูลข่าวสารใส่เข้าไปในกระบวนการ แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้านการเรียนรู้ด้วยความเป็นมนุษย์ ซึ่งมิติตรงนี้มันหายไป อาจจะเป็นเพราะว่าระบบมันถูกออกแบบมาฉับพลันทันใด รวมถึงสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้ถูกออกแบบมาดีพอ 

ถ้าเราดูหนังที่พูดถึงโลกอนาคต อย่าง Star Trek จะเห็นว่าเด็กสามารถเรียนออนไลน์จากโฮโลแกรมซึ่งมีอาจารย์อยู่บนดาวอีกดวงหนึ่ง แต่ว่าในฉากนั้นมันมีการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของเด็กอยู่ ถ้าเป็นแบบนั้นมันทำได้ แต่เด็กของเราคืออยู่หอพัก ซักผ้าเสร็จต้องวิ่งมาเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ บางคนไม่มีคอมพิวเตอร์ก็เปิดโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็ก 

พอหลังโควิด-19 มีนักศึกษาหลายคนสะท้อนกลับมาว่า อยากจะกลับมาเรียนในห้องเรียน และพยายามจะไม่ขาดเรียนกันเลย เขารู้สึกว่าการได้อยู่ในห้องเรียนเป็นสิ่งที่มีค่าเหลือเกิน การเรียนในห้องเรียนมันเหมือนเป็นชุมชน เป็นสังคม พอสังคมหาย มนุษย์จะโหยหามัน

มหาวิทยาลัยตอนนี้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการระบาดอีกระลอก เพียงแต่เรายังไม่เห็นหลักสูตรที่ปรับเพื่อรองรับตลาดแรงงานหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องยากในการประเมินสถานการณ์ ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ตอนนี้คือ หลายภาคส่วนใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับตัวหลายอย่าง 

หนึ่ง สถานการณ์ disruption มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยมองว่าอีก 15 ปี การเปลี่ยนแปลงจะมาถึง มันถูกบีบลงมาเหลือเพียง 3-4 เดือน เราไม่เคยคิดว่า disruption จะมาถึงร้านกะเพราปากซอยแล้ว ทุกคนเข้ามาสู่คอร์ส disruption ภาคบังคับ แล้วเป็นคอร์สระยะสั้นด้วย 

สอง คือสถานการณ์ทางการเมือง สาม คือเรื่องการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และสี่ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวด้วยหน้าตาแบบไหน ไม่มีใครรู้เลย 

ทั้งสี่ขยักนี้ องค์กรภาคธุรกิจก็เห็นแบบนี้เช่นกัน จึงปรับโมเดลทางธุรกิจใหม่ ไม่ใช่โมเดลที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุดแบบเดิม แต่เป็นโมเดลที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ดีที่สุด 

แม้แต่เกษตรกร เมื่อก่อนบางเจ้าแทบจะขายข้าวไม่ได้เลย บางเจ้าให้คนขับรถไปซื้อเองเลยแถวสุพรรณบุรี อ่างทอง เพื่อไปกว้านซื้อข้าว เพราะกลัวจะไม่มีข้าวกิน 

หลายคนเลือกบายพาสจากแพลตฟอร์มเดิม จากที่เคยขายผ่าน Lazada หรือผ่าน Grab สักพักหนึ่งเฟซบุ๊คก็ลิงค์กับลูกค้าโดยตรง เทรนด์มันเริ่มมา แรงงาน Gigg ก็จะก๊อก ก็จะแก๊กไปด้วยได้

ในแง่นี้โมเดลธุรกิจได้เปลี่ยนจากการทำกำไรสูงสุดเป็นการเพิ่มอัตราการอยู่รอดสูงสุด ถ้าทำแบบหนึ่งไม่รอด ก็พร้อมจะไปทำอีกแบบหนึ่งได้ทันที ถ้าทำช้ากว่าชาวบ้านก็ตาย โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนในทีมขยับตัวได้เร็วที่สุด ทุกคนจะต้องกลายเป็นเป็ด และต้องเป็น ‘ซูเปอร์เป็ด’ ที่จับอะไรก็ต้องเก่ง คนที่นายจ้างรับมาจะต้องมีทักษะที่หลากหลาย อาจจะเป็นคนที่มีความเยี่ยมยอด 2-3 อย่างที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ จนเกิดเป็นพลังร่วมกัน และจะไม่รับคนที่เก่งซ้ำซ้อนเข้าไปในองค์กร 

กรณีเช่นนี้ มหาวิทยาลัยเองก็มีโจทย์ที่ยังไม่ชัดว่าจะสร้างคนออกไปอย่างไร ในเมื่อภาคธุรกิจก็ยังไม่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เบื้องต้นบอกได้ว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ยังจำเป็นไหม ก็ต้องบอกว่ายังจำเป็นเหมือนเดิม แต่ว่าความเข้มข้นของความต้องการต่างออกไปเยอะเลย ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ก็ยังต้องมี ความยืดหยุ่นในการทำงานต้องมี การทำงานเป็นทีมยังต้องมี แต่ว่าทุกอย่างที่มี ต้องมีค่าในระดับเยี่ยมยอด

เราพูดถึง new normal ที่มีแต่ด้านการระบาดของโรค แต่จริงๆ มีมากกว่านั้นถึง 4 เสา คือ หนึ่ง โรคอุบัติใหม่ สอง เรื่องการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ สาม ภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศต่างๆ เริ่มจับกลุ่มทางภูมิภาคมากขึ้น ความเป็นเขาเป็นเรา เป็นเธอเป็นฉันจะชัดเจน มันเริ่มขยับตัวและเห็นภาพชัดขึ้น และสี่ คือโลกาภิวัตน์ที่ลดลง ดังนั้นเราจะเห็นการกีดกันทางการค้า เพราะทุกคนกระเป๋าฉีกกันหมด จะเริ่มมีการกลับมาเจรจาการค้าแบบรัฐต่อรัฐมากขึ้น

จากสถานการณ์เช่นนี้ถ้ามองไปยังแรงงานข้ามชาติ พวกเขาอยู่ตรงไหนในวิกฤติ

เราต้องแบ่งแรงงานข้ามชาติออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ข้ามมาใหญ่ กับสองคือกลุ่มที่ข้ามมาเล็ก 

กลุ่มที่ข้ามมาใหญ่ เช่น ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว โควิด-19 อาจจะกระทบเขาไม่มาก แต่ขอแค่มีขั้นตอนการกักตัวหรือว่าสามารถใช้เทคโนโลยีสั่งการได้ ซึ่งเขาจะไม่ได้รับผลกระทบมาก จนกว่าฐานการผลิตของเขากระทบจนต้องย้ายฐานการผลิตหรือต้องปิดตัว 

อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เข้ามาแล้วต้องเป็นตัวเล็ก มาเป็นมดงานในประเทศ กลุ่มนี้ต้องรอจังหวะ เมื่อก่อนเราผลิตได้เพราะมีอุปสงค์สูง มีความต้องการสินค้าจากเรา แต่เรากำลังอยู่ในโลกที่อุปสงค์ลดลง เพราะฉะนั้นความต้องการที่จะใช้คนก็จะลดตามลงไปด้วย และประเทศข้างเคียงยังมีความสามารถในการคุ้มกันโรคระบาดได้น้อยกว่าเรา อย่างที่เราเห็นได้จากพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ที่ตัวเลขการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การนำเข้าแรงงานจึงมีมิติของความเสี่ยงเชิงสุขภาวะ กลายเป็นกำแพงสองด้านคือ ด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ และถึงกลับเข้ามาได้ก็อาจจะไม่ได้เยอะเหมือนเดิมในทันที

คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะอยู่ในภาคส่วนการผลิตเพื่อการส่งออก ที่น่ากลัวคือถ้าหากเราดูที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ภาคส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออกแก้โจทย์ผิดมาตั้งแต่แรก คือเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ตอนที่เรายังส่งออกได้ดี ตอนนั้นยังใช้แนวทางการขยายแบบหน้าเดิม หมายถึง สมมุติว่ามีโรงงานเย็บผ้าอยู่ 5 ตัว เมื่อยอดสั่งซื้อมาเยอะ สิ่งที่เขาทำคือ สั่งจักรรุ่นเดิมมาเพิ่มอีก 5 ตัว แล้วไปหาคนที่มีคุณสมบัติเหมือนเดิมมาทำ พอเราขยายทีละก้อนๆ ไปเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีเรามีเครื่องจักรเย็บผ้าอยู่ 300 เครื่องแล้ว และมีคนที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน 300 คน เราขยายการผลิตแบบไม่เปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีความสมาร์ทขึ้น 

ตอนนั้นอาจจะขายได้ แต่พอต่อมามีคนแข่งขันกับเรามากขึ้น เครื่องจักรของเราก็ยังผลิตเสื้อได้แบบหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับเวียดนาม กัมพูชา ถ้าอยากจะขายได้ก็ต้องลดต้นทุน พอลดต้นทุนปุ๊บ คนไทยก็ไม่อยากทำงาน ต้องไปเอาแรงงานข้ามชาติมาทำงานแทน แต่ก็ทำเพื่อส่งออก

ฉะนั้นการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจึงเน้นเพื่อการส่งออก จังหวัดสมุทรสาครที่ทำอาหารทะเลอาจจะยังพอไปต่อได้ แต่ภาคส่วนอื่นที่เป็นการจ้างเพื่อผลิตสินค้าที่มีคู่แข่งเยอะ ไม่ได้เป็นจุดแข็งแท้ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เสื้อผ้า ที่มีคู่แข่งผุดขึ้นมารอบๆ ประเทศเรา กลุ่มนี้จะไม่เอาคนกลับมาเหมือนเดิมในระยะสั้นนี้

ถ้าหากเราดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของเราในภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตร ค่อนข้างคงที่ และภาคการผลิตคือหนึ่งในสามมาตลอด การเกษตรคือ 10 เปอร์เซ็นต์มาตลอด ภาคท่องเที่ยว 10 เปอร์เซ็นต์มาตลอด เพราะถ้าภาคการผลิตมันดีจริง 100 บาทที่เราทำได้ ก็ควรจะได้จากภาคการผลิตที่มันเพิ่มขึ้น แต่มันกลับคงที่มา 25 ปี แสดงให้เห็นว่าเราขายของมากขึ้น แต่เราขายของหน้าตาเหมือนเดิม

อาจารย์บอกว่า การผลิตแรงงานของเราเพื่อป้อนสู่ตลาด ยังมีการปรับตัวน้อยมากท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน เป็นเพราะอะไร 

องค์กรยิ่งใหญ่ยิ่งอุ้ยอ้าย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยยังพยายามปรับตัวขึ้นไปเพื่อสร้างคนยุค 4.0 ซึ่งเราเชื่อว่าจะมาทุกๆ สิบปี แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงยุค Post 4.0 เป็นโลกที่เรียกว่า singularity สิ่งที่เราเจอควรจะเกิดในอีก 10 ปี แต่มันกลับถูกลากเข้ามาอยู่กับเราภายในเวลาเพียง 6 เดือน ฉะนั้นต่อจากนี้ไปจึงต้องสร้าง super multi tasker ที่เยี่ยมยอดในทุกด้าน

จากงานวิจัยที่ผมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรม เราไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ อย่างแรก ภาคท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาบนสมมุติฐานที่ว่า นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นตลอดกาล เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเร่งสร้าง capacity เพื่อรองรับคนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่เคยมีใครคิดว่าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวจะตกลงมาเป็นศูนย์ 

แม้จะเคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ ห้องที่จัดเตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านห้อง แต่มีคนมา 0 คน หรือนับหัวได้ จำนวนห้องแบบนี้จะไม่มีทางกลับมาเต็มเหมือนเดิมอีกแล้ว คำถามที่แม้แต่ผู้ประกอบการยังตอบไม่ได้คือ ถ้ามีห้องเหลือ 1 ถึง 4 ล้านห้อง จะทำอย่างไร จะเปลี่ยนไปเป็นอพาร์ตเมนต์ให้คนไทยเช่าเอง หรือจะเปลี่ยนไปเป็นที่พักผู้สูงวัย แต่จะมีคนมาอยู่ได้อย่างไร และห้องก็ไม่ได้ออกแบบมาอย่างนั้น

สิ่งหนึ่งที่ OECD ประเมินไว้คือ การท่องเที่ยวจะไม่บูมอีกแล้ว ภาพใหญ่จึงต้องพลิกโจทย์ที่ไม่ใช่เอาแค่เงินจากการท่องเที่ยวเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเองก็มองว่าภาคการท่องเที่ยวไปยาก แม้แต่ตัวของเขาเอง และถ้าจะไปต่อได้ จะต้องเล็ก เร็ว และคล่อง

มีบางคนเสนอให้ใช้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อันนี้จะเป็นเป้าหมายของแรงงานจบใหม่ได้ไหม

ผมอยากจะใช้คำว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะ มากกว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ และไม่ใช่จำกัดแค่คนแก่ แต่ยังรวมถึงคนทุกวัยด้วย ซึ่งเรามีจุดแข็งที่เราเป็นเมืองเกษตรที่มีอาหารดี สิ่งแวดล้อมดี เราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติให้ดีได้ และเรายังมีจิตใจที่รักการบริการ ซึ่งเฉพาะคนแก่ในอาเซียนในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะมีถึง 65 ล้านคน เท่ากับประชากรไทย ถ้าเราจับได้สัก 5 ล้านคน จะมีเงินมหาศาลเข้าประเทศเลย และคนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ยาว ที่ผ่านมาเราเน้นการท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาเร็วออกไปเร็ว ซึ่งเทรนด์นี้จะเปลี่ยนไป นิยามนักท่องเที่ยวใหม่ หมายถึง คนที่เข้ามาอยู่ยาว เพื่อพักผ่อนทางกายทางใจ เหมือนกับอินเดียที่ใช้โยคะเป็นจุดขาย 

อาจารย์มองว่าทักษะของแรงงานที่จำเป็นหลังจากนี้จะเป็นเช่นไรต่อไป 

ถ้าจากมุมมองของผู้ประกอบการ ถ้าเขาปรับโมเดลเป็นองค์กรที่เล็กและคล่องตัว ก็ต้องการคนงานที่คล่องแคล่วเหมือนกัน เป็นคนที่สามารถปรับตัวหน้างานได้ เช่น เช้าทำงานประเภทหนึ่ง บ่ายสามารถเปลี่ยนโหมดของการคิดได้เลย เหมือนกับนักฟุตบอล วันหนึ่งเล่นกองหน้า แต่เมื่อกองหลังเจ็บก็ต้องเข้าไปแทนตำแหน่งได้ ต้องขยับไปเป็น professional ในตำแหน่งได้อย่างเร็วที่สุด 

ที่สำคัญคือ ทักษะของแรงงานจะต้องสัมพันธ์กับนโยบายการรับคนเข้าทำงาน สถานประกอบการต้องการคนที่ทำงานได้ทันที เพราะไม่สามารถมีต้นทุนในการฝึกฝนงานอีกแล้ว คือกดปุ่มปุ๊บแล้วเข้ากับทีมได้เลย