“คนแบบผมโตยาก” เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ. สถาบันสังคมศึกษา สพฐ.

“คนแบบผมโตยาก” เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ. สถาบันสังคมศึกษา สพฐ.

“คนแบบผมโตยาก”

อดีตข้าราชการครูจากร้อยเอ็ดที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ส่วนกลางอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา

อาจจะไม่ถึงกับเป็นแกะดำในแดนสนธยา แต่ เฉลิมชัย พันธ์เลิศ สะท้อนถึงสถานภาพการทำงานตอนนี้และอนาคตว่า

“คนทำงานหรือคนที่คิดแบบผม…โตยาก ขณะเดียวกันก็มีคนอีกแบบที่โตไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจอะไร”

ภายใต้พีระมิดที่ยังไม่กลับหัว ผอ.เฉลิมชัย พูดประโยคนี้ด้วยรอยยิ้ม ก่อนอธิบายต่อว่า เขาตั้งใจจะพลิกจุดอ่อนข้อนี้ให้เป็นแต้มต่อในการทำงาน

“ภายใต้ระบบอย่างนี้ เราคิดอยากทำอะไรก็ได้ เราต้องบริหารให้มันเป็นข้อดีให้ได้”​

แม้ความก้าวหน้าจะไปได้ไม่ไกลกว่านี้…

“แต่ผมก็พยายามผลักดันอะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเราอยู่ในนั้น”

อยากให้ช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานก่อนมาอยู่ที่ สพฐ.

ผมเรียนจบครุศาสตร์สาขาประถมศึกษา มาเป็นครูที่ร้อยเอ็ด สอนหมดทุกวิชาเลย ตอนเรียนปริญญาโทได้เข้ามาช่วยส่วนกลางเป็นระยะ สลับกับการสอนหนังสือ จนเรียนปริญญาเอก ราวปี 2550 สพฐ. สนใจเรื่องการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน เลยได้เข้ามาช่วยงาน แล้วส่งเงินไปจ้างครูมาสอนแทนเราที่โรงเรียน ตอนนั้นเงินเดือนประมาณ 9,000 บาท ผมรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ยั่งยืน โรงเรียนควรจะบรรจุครูใหม่ เราควรจะออกมา

จริงๆ มันก็ไม่ค่อยดีสำหรับความก้าวหน้าของผม จากข้าราชการครูเปลี่ยนไปเป็นข้าราชการพลเรือน ประเทศให้ความสำคัญกับครูและบุคลากรทางการศึกษามาก เงินเดือนจึงดีมาก คนจึงไม่ค่อยอยากมาส่วนกลาง เพราะความก้าวหน้าสู้ไม่ได้ ภารกิจก็เยอะ แต่ผมโอเค เลยเข้ามาส่วนกลางตั้งแต่ปี 2551

การเป็นครูมาก่อน แล้วมาทำงานที่ สพฐ. ส่งเสริมกันอย่างไร

เรื่องนี้สำคัญมากเลยนะ กระทรวงอื่น คนทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่แวดวงนั้นก็ได้ แต่พอทำงานกระทรวงศึกษา คนทำงานที่นี่จะต้องมีภาพความเป็นครู เราจะไม่นึกเป็นตัวหนังสือ แต่เราจะนึกถึงว่าสิ่งที่เราทำจะส่งผลต่อครูและโรงเรียนอย่างไร

หลายประเทศออกแบบได้ดี ผมมีเพื่อนสิงคโปร์ที่ทำงานด้วยกัน สิงคโปร์เขาจะออกแบบระบบว่าคุณต้อง rotate ทันทีที่คุณมาทำงานนโยบาย แล้วมีจังหวะหนึ่งที่คุณต้อง move กลับไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้นพวกเขาจะคิดละเอียดมาก ว่าเดี๋ยวจะต้องกลับไปทำในสิ่งที่ฉันคิดไว้

ไม่เหมือนประเทศเราที่ฉันคิดอะไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบ สั่งไปอย่างงั้น ได้ไม่ได้ฉันไม่รู้ ฉันจะเอา ดังนั้นกลไกหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือเรื่องระบบ ว่าจะออกแบบระบบอย่างไรให้คุณภาพมันเคลื่อนตัวได้ เช่น โมเดลของสิงคโปร์ต้อง move คน ไม่ให้อยู่กับที่ หรือโมเดล Listen Study Observe ของญี่ปุ่น ที่ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือคนทำงาน ต้องไปโฟกัสที่ห้องเรียน เพื่อให้เห็นชีวิตในห้องเรียน ข้อมูลเหล่านี้จะอิ่มมาก และสามารถนำมาพัฒนาเป็นตำราเรียนได้

ตำราเรียนญี่ปุ่นหลายฉบับมาจากการ observe ห้องเรียนที่มีเรื่องราวมาก แล้วคุณครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เอาลูกศิษย์ไปเรียนที่ห้อง มันต้องออกแบบระบบ

มองในแง่การพัฒนาบุคลากร คนที่ทำเรื่องการศึกษาต้องมีกลไกอะไรบางอย่างให้เติบโตในอาชีพได้ ขณะที่ระบบก็พัฒนาไปด้วย ผมก็พยายามคิดบางอย่างที่จะแก้จุดอ่อนข้อนี้ การอยู่ สพฐ. จะมีจุดดีคือเป็นมรดกวัฒนธรรมข้าราชการรวมศูนย์ ฉันสั่งอะไร ฉันคิดอะไร ได้หมด เงินก็ไม่ต้องกระจาย มีเงิน มีไอเดีย มีอำนาจอะไรบางอย่าง แต่จุดอ่อนคือ มันไม่มีข้อมูลจากพื้นที่

ผมจึงทำงานกับเครือข่ายการเรียนรู้ (network as learning community) เพราะเราจะคิดเดี่ยวไม่ได้หรอก หน่วยงาน องค์กร NGOs ไปไหนต่อไหนแล้ว เราก็ไปเชื่อม การทำงานแนวระนาบมันช่วยให้ผมมีเพื่อน บางเรื่องผมไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ สามารถปรับและรับจากคนอื่นได้ ที่สำคัญเวลาเราพูดอะไรในองค์กร มักไม่มีคนแย้ง แต่พอทำงานในแนวระนาบ เพื่อนจะ relate กับเราได้ ทำให้เราคิดได้เยอะขึ้น และไม่ลอยไปจากความจริง

ไอเดียนี้ทำให้ผมพยายามทำกับมหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และคุณครู เพราะว่าโครงสร้างของเราออกแบบให้มหาวิทยาลัยกับโรงเรียนแยกขาดกันไปเลย เราในฐานะ สพฐ. มีความรู้เยอะ ทำงานพัฒนา จึงต้องเชื่อมหลายคน หลายฝ่าย

ยกตัวอย่าง อาจารย์มหาวิทยาลัย ถ้าไม่ทำวิจัยหรือทำ network เรียนจบมามีความรู้แค่ไหนก็สอนแค่นั้น ผลิตมาใส่ระบบ บางทีมันคนละโลกกับที่เรียนมา ทีนี้การทำเครือข่ายก็ทำให้เขาเห็นโลกของคุณครูว่า สอนแบบนี้ ห้องเรียนเป็นแบบนี้ เขาจะได้นำความรู้อะไรไปสอนลูกศิษย์ แต่ในขณะเดียวกันบทเรียนเล็กๆ ที่เขาเรียนในห้อง หรือวิจัยบางอย่างก็เอามาเป็นแนวทางให้กับโรงเรียน อย่างนี้ข้อมูลมันก็ไหล win win ทั้งสองฝ่าย

เอาความเป็นครูมาใช้ในงานอย่างไรบ้าง

ทำให้เรามี passion ที่จะสอน ทำสื่อกับเด็ก แต่จุดอ่อนของครูไทยคือ คอนเซ็ปต์เราไม่แม่น เราจะเป็น technician เอาเด็กอยู่ สอนเด็กได้ เราก็จะไปเสียเวลาเรื่องหลักการ เนื้อหา ถ้ามีคนเคลียร์คอนเซ็ปต์ดีๆ ให้ แล้วนำไปสู่ทางที่ดี ครูก็จะไปได้ไกลเลย เช่น เราวางกลไกให้มี professional learning community กับเพื่อนครูในโรงเรียน ได้แชร์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหน่วยงานที่ควบคุมดูแล และดูว่าเป้าหมายคืออะไร มีการซัพพอร์ตต่างๆ ที่ทำให้เขาเคลื่อนต่อไปได้

ด้วยความเป็นครูมาก่อน ช่วยให้เรามีประสบการณ์บางอย่าง เราเคยเป็นครูที่ทุกข์ทรมานกับระบบซึ่งทุกอย่างมันไหลลงมาหาเราหมดเลย ผมก็เลยถอยมามองหาจุดอ่อนว่าคืออะไร อย่างเช่นผมเป็นครูปีแรกๆ ก็จะสนุกสนาน แต่พอเข้าปีที่ 2-3 เขาเรียกว่า burn out จิตมอดไหม้ ที่เรียนมามันหายหมด เพราะว่าการศึกษาไม่ใช่แค่เรียนฝึกหัดครู 4 ปี แล้วจะใช้ได้ตลอด 30 ปี แต่ต้องมีกระบวนการซัพพอร์ตอย่างเป็นระบบ

ถึงอย่างไรครูก็ยังมีเพื่อน ถึงจะ burn out กันทั้งโรงเรียน แต่ก็ยังรับรู้ได้ว่าระบบที่เราผ่านมาก็ยังมีคนอื่นเจอเหมือนกัน ผมเลยทำเป็นเครือข่าย ทำเวิร์คช็อป ให้ครูมาเจอกันทุก 2-3 เดือน กระบวนการนี้เหมือนการเติมแบตเตอรี่ เติมไฟ เขาอาจจะบ่นกับระบบ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปทำ ซึ่งอันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากพัฒนาการทางด้านการศึกษา อีกส่วนหนึ่งก็มาจาก passion บางอย่าง หรือความกดดันที่เราเจอ

ลึกๆ รู้สึกอย่างไรบ้างที่ สพฐ. ตกเป็นจำเลยมาตลอด 

จริงๆ ก็มีส่วนถูก เราดูแลโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ในแง่การกระจายอำนาจ เรามีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากว่า 200 แห่ง ในเขตหนึ่งมีโรงเรียนเฉลี่ย 100-300 โรงเรียน แต่ระบบยังไม่เอื้อให้หน่วยงานย่อยในภูมิภาคทำงานได้เต็มที่ 

เรื่องแรกคือ งบประมาณ เขาไม่สามารถเขียนงบประมาณเองได้ ต้องให้เบื้องบนเขียน คือส่งข้อมูลในพื้นที่มาแล้วให้ผมเขียน ผมก็นึกไม่ออกหรอกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ผมก็เขียนตามเนื้องานที่ได้รับมา

เรื่องที่สองคือ ความรู้บางอย่างที่มีอยู่ยังเข้าไปไม่ถึงชุดความรู้ใหม่ ถ้ากระจายอำนาจได้แล้ว ครู อาจารย์สามารถเขียนงบประมาณได้เอง เราก็สามารถผันตัวมาทำเรื่องที่เขตพื้นที่อื่นๆ ที่เขามีความต้องการหรือจำเป็นมากกว่า เช่น การพัฒนาชุดความรู้ใหม่ๆ ที่เขาอาจจะไปไม่ถึง เรามีศักยภาพที่จะประสานกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ หรือหน่วยงานต่างประเทศได้ ก็คอยซัพพอร์ตเขาได้

ที่ผ่านมางบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ สะท้อนแนวคิดของระบบการศึกษาอย่างไร

การกระจายอำนาจที่ใช้ได้จริงคือ การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมามันไม่จริง หน่วยงานทั้งหมดเป็นเหมือนไปรษณีย์ส่งต่อสิ่งที่เรา (สพฐ.) ตั้งไว้ ที่ผ่านมาเราไม่ไว้ใจโรงเรียน การเกิดขึ้นของหน่วยงานที่ทำการประเมินจึงต้องมีรายงานทุกอย่าง เราต้องทำงานบริหารข้อมูล โรงเรียนจะต้องรายงานทุกเรื่อง แม้แต่จิปาถะ เพื่อเอาไปวางแผน แต่เอาเข้าจริงผมว่าเราไม่ได้เอาข้อมูลมาวางแผนทั้งหมดหรอก เพราะข้อมูลเต็มไปด้วยข้อความ แต่วิเคราะห์ไม่ได้

ยกตัวอย่างสารพัดข้อมูล เช่น เด็กไม่มีเงินกินข้าวจำนวนเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งคือป้องกันการทุจริต กลัวใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มั่นใจว่าเราจะมีข้อมูลในการวางแผนต่อพอไหม เช่น การอ่านออกเขียนได้หรือการทดสอบแห่งชาติ ซึ่งลงทุนเยอะมาก แต่ได้ผลน้อย จริงๆ ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ การวาง policy ระดับประเทศไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูล for all สุ่มเอาก็ได้ พอได้ข้อมูลแล้วก็ขยับขยายไปทำอะไรที่สำคัญกว่า

ที่ผ่านมาเป็นการประเมินอย่างหนัก ระบบการประเมินแห่งชาติต้องลงทุนทำข้อสอบ พอสอบ ทุกคนก็เครียดกันหมด ประกาศผลแล้วก็จัด ranking แล้วคิดซับซ้อนไปอีกว่าโรงเรียน ก โรงเรียน ข คะแนนใครสูงกว่า ผู้บริหารจะได้โบนัส ได้ย้าย ได้เลื่อนตำแหน่ง ก็เอาคะแนนพวกนี้เป็นตัวตั้ง สุดท้ายกระบวนการที่สอนเด็ก การเคารพเชื่อฟัง กลับไม่ถูกวัด ของดีๆ หลายอย่างไม่ได้รับการประเมิน

ปัญหาของระบบ ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไรบ้าง

พูดกว้างๆ คือจะมีปรากฏการณ์ misconception (เข้าใจผิด) บางอย่าง เช่น เวลาเราตีความเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนก็มองว่าถ้าเด็กไม่มีการศึกษา เราก็ต้องมีให้ แนวคิดอย่างนี้จึงมองว่าเราควรทำการศึกษาให้กับเด็กยากจน ให้กับเด็กชายขอบ

เอาแค่คอนเซ็ปต์เรื่องคนชายขอบ คนก็จะมองคนชายขอบในแง่ชายขอบประเทศ ชนบท จริงๆ ในเมืองก็มี ต้องดูว่าชายขอบของอะไร ไม่ใช่แค่เศรษฐานะ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องมาก ซึ่งไม่มีคนเคลียร์คอนเซ็ปต์ชัดๆ ว่าความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคทางการศึกษาคืออะไร

ถ้าเด็กได้รับการศึกษาไม่เท่ากัน ก็ถือเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง?

เรื่องใหญ่นะ เป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในเมือง คนก็ต้องไหลมาทำงานในเมือง พอมีลูกแล้วไม่สามารถรับผิดชอบเลี้ยงดูได้ เพราะเศรษฐกิจบีบคั้น ก็ต้องส่งไปให้ปู่ย่าตายายที่ชนบทเลี้ยงดู ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น

คนบางกลุ่มอาจจะตีความว่าการศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะของโรงเรียน จริงๆ แล้วต้องตีความกว้างกว่านั้น การศึกษาคือทั้งหมด ชุมชน พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ต้องมองให้เกี่ยวเนื่องกัน การนำการศึกษาไปฝากไว้กับโรงเรียนอย่างเดียว คุณภาพจึงไม่เท่ากัน คนที่มีทรัพยากรมากกว่าก็ไปเรียนในเมืองได้ ส่วนคนที่ฐานะไม่ดีก็ต้องเรียนนอกเมืองด้วยคุณภาพอีกแบบหนึ่ง

สพฐ. จะช่วยผลักดันให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง

ขึ้นอยู่กับการออกแบบโมเดล กลไกของแผน หรือหลักสูตร ต้องเปิดโอกาสให้พื้นที่ดีไซน์เอง หลักสูตรระดับชาติไม่ควรเป็นทั้งหมดของชีวิตคน ต้องมีพื้นที่หายใจ พื้นที่ครอบครัวและชุมชน อาจจะบอกสิ่งที่สำคัญว่าคนในชาติอยากได้แบบนี้ แล้วรัฐก็สนับสนุนเรื่องนี้ให้เต็มที่ แทนที่จะคุยร้อยเรื่องก็คุยเฉพาะเรื่องสำคัญ แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้พื้นที่คิดว่าอะไรที่เป็นตัวเขา จากนั้นรัฐก็เข้าไปสนับสนุน อย่างนี้จะมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่เราคิดให้เบ็ดเสร็จว่าคนทั้งประเทศต้องเป็นแบบนี้ 

เราไม่สามารถคิดทุกเรื่องแทนคนอื่นได้ โดยโครงสร้างรัฐเองก็ไม่สามารถซัพพอร์ตทุกเรื่อง หรือจินตนาการทุกเรื่องได้หมด เราต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชน สังคม ที่อยู่ในพื้นที่นั้นลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของร่วม รับผิดชอบร่วม

มีเสียงสะท้อนจากครูค่อนข้างมากว่าภาระงานล้นมือ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

เราคาดหวังว่าครูจะจะทำได้เบ็ดเสร็จทุกอย่าง แต่ความจริงชีวิตครูไม่สามารถทำแบบนั้นได้ รัฐต้องลงทุนช่วยในหลายเรื่อง เช่น การจัดตั้งธุรการเพิ่ม แต่นั่นก็ปลายทางแล้ว และในทางปฏิบัติก็เอาธุรการมาช่วยสอนด้วยอยู่ดี บางทีเขาอยากให้มาช่วยทำเอกสาร ครูจะได้ไม่ต้องทำ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าจะให้เกิดผลจริง ต้องไปลดงานตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่งานไหลมาเท่าเดิมแล้วก็ไปจ้างครูเพิ่ม คือเราแก้ทีละเรื่องไม่ได้ ต้องแก้หลายเรื่องไปพร้อมกัน

ยกตัวอย่าง ครูการศึกษาพิเศษ เราไม่ลงทุนเรื่องการศึกษาพิเศษในประเทศเลย จริงๆ ถ้ามีครูการศึกษาพิเศษ แทนที่ครูในห้องจะต้องดูแลทั้งเด็กเก่ง เด็กอ่อน เด็กการศึกษาพิเศษ ถ้ามีครูอีกสักคนช่วย ครูประจำชั้นก็จะไม่ต้องแบกทุกเรื่อง

ฉะนั้นต้องหาคนมาช่วยหรือออกแบบระบบช่วย ถ้าเราคิดว่านี่คือพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก เราก็จะไม่คิดว่าเป็นงานที่ฉันต้องรับภาระเพิ่ม หรือเราจะมองว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย มันก็จะมีแนวคิดของ parents association ซึ่งมีเรื่องของการจัดการและการออกแบบ ที่จะทำให้คุณครูบาลานซ์ได้อย่างไม่มีภาระ

สรุปคือตอนนี้มี know how มีวิธีคิดอยู่เยอะ แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อกระจายอำนาจ เมื่อกระจายอำนาจได้แล้วคุณก็ provide เลย

บางอันส่วนกลางต้องซัพพอร์ต อย่างเรื่องระบบพ่อแม่ ผู้ปกครอง เราเสนอแนะโรงเรียนได้เลย ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไร แต่บางเรื่องที่อาจจะต้องซัพพอร์ตอย่างระบบครูการศึกษาพิเศษก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ต้องออกแบบว่ามีสัดส่วนครูเท่าไหร่ จัดระบบอย่างไร เป็นต้น อันนี้ส่วนกลางต้องเป็นคนทำ ต้องแบ่งให้ได้ว่าเราจะคิดอันนี้ แล้วอันอื่นปล่อยให้เขาคิดเองหรือทำเอง อะไรที่ดีก็จะคงอยู่ อะไรไม่ดีก็อย่าไปฝืนทำ ปล่อยให้เป็นวิถีชีวิตปกติ และถ้าระบบเข้าที่เข้าทาง คุณจะพัฒนาขึ้นเป็นนโยบายภายหลังก็ยังได้

การออกไปดูงานตามเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ พบจุดอ่อนอะไรบ้าง

ถ้าผมไปในนามของ สพฐ. ผมจะไม่ค่อยเห็นความจริงเท่าไหร่ ทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเวลาต้อนรับ เราต้องไปในแบบที่สนิทกันประมาณหนึ่งถึงจะได้ข้อมูล อันนี้เป็นจุดอ่อนของสังคมไทย หนึ่งคือกลัวตัวเองเสียหน้า เวลามีคนไปก็ต้องทำให้ดีที่สุด เจ๋งที่สุด และไม่เปิดแผลให้เห็น ไม่งั้นก็จะโดนตำหนิ อันนี้คือโจทย์ใหญ่เลยว่าตกลงเราทำงานผ่านข้อมูลความจริงหรือเปล่า แล้วตอนนี้มีการเดาใจกันว่าคุณจะเอาข้อมูลไปทำอะไร

ยกตัวอย่าง ถ้าผมเป็นครูและต้องเก็บข้อมูลเด็กออกกลางคัน แรกๆ เราก็ตอบตามจริง หลังจากนั้นก็มีการถามว่าเด็กออกไปอยู่ไหน สุดท้าย ผอ.ก็บอกให้โกหกไปเลยว่าเด็กคนนี้ไปเรียน กศน. เด็กคนนี้บวชแล้ว จบ จะได้ไม่ต้องทวงถาม

หรือข้อมูลอาหารกลางวัน เรารู้ว่าเด็กขาดแคลนเท่าไหร่ เราแจ้งตัวเลขไปเยอะก็จะได้เงินเยอะ ดังนั้นถ้าเด็กขาดแคลนร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็จะได้เงินร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นการเล่นเดาใจกันว่าเขาจะเอาข้อมูลไปทำอะไร

ถ้า สพฐ. ต้องการข้อมูลจริงๆ จะทำอย่างไร

มันไม่ควรเป็นทางการหรือเป็นฟังก์ชั่นแบบแข็งตัว

พวกผมสามารถติดตามและประเมินผลจากเจ้าของหน่วยงานจริงได้ จากคอนเซ็ปต์ที่ผมบอกว่า network as learning community ทุกคนเท่ากัน แล้วข้อมูลก็จะไหลมาเอง 

ตั้งธงในการทำงาน หรืออยากทำอะไรให้สำเร็จก่อนเกษียณ

คนทำงานหรือคนที่คิดแบบผม…โตยาก ขณะเดียวกันก็มีคนอีกแบบที่โตไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจอะไร แต่การทำงานตรงส่วนกลางจะมีข้อดีที่ว่า เราคิดอยากจะทำอะไรก็ได้ภายใต้ระบบนี้ แต่เราต้องบริหารข้อดีนี้ให้ได้

ความเจริญก้าวหน้าก็อาจจะไปได้ไม่ไกลกว่านี้หรอก คนไม่ชอบแบบผมก็เยอะ การที่มีใครโดดขึ้นมา ทำให้ norm ของการทำงานเปลี่ยนรูปแบบ แต่ผมก็พยายามผลักดันอะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเราอยู่ในนั้น เราอาจจะเป็นเพียงคนสตาร์ทบางอย่างให้

ยกตัวอย่าง งานที่ผมเคยทำคือ นำครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเจอกัน อันนี้ก็เป็น movement อย่างหนึ่งที่ผมต้องใช้พลังมากขึ้น พอเขาเจอกันแล้ว เดี๋ยวเขาก็ทำงานและแชร์ความรู้ความฝันร่วมกัน และมันเป็นไปได้จริง ทุกอย่างก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มสตาร์ท

อย่างการทำเครือข่าย เช่น ค่ายเยาวชนพลเมืองที่ทำให้เด็กรู้เรื่องประชาธิปไตย การทำงานเครือข่ายไม่ง่ายนะ โรงเรียนแต่ละที่ก็มีอุปสรรคต่างกัน แต่ผมก็มีพาวเวอร์บางอย่างที่จะลิงค์ได้ ก็เข้าไปคุยประสานงานกับโรงเรียน ไปทำเครือข่ายกับทางโรงเรียน แรกๆ อาจจะเหนื่อยในการเริ่มต้น แต่หลังๆ มาก็แทบจะไม่ต้องทำอะไร เพราะแพลตฟอร์มแบบนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถดีไซน์ได้เลย ดีไม่ดีไม่รู้แหละ แต่คุณก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำร่วมกัน แล้วเราก็ค่อยช่วยกันเติม

เป้าหมายใหญ่ที่สุดของ ผอ. ในการพัฒนาการศึกษาคืออะไร

ต้องไม่มีเพดานหรือกรอบใดๆ คุณสามารถทำอะไรที่ดีกับสังคมได้เลย แล้วคุณทำอะไรได้มากกว่าที่คุณเข้าใจ คุณมีพลังมากกว่านั้น ผมไม่ได้โดดเดี่ยวที่ทำเรื่องการศึกษาในนามของ สพฐ. 

สิ่งที่อยู่ในใจผมมาตลอดคือ education for all ทำอย่างไรให้การศึกษาเป็นเรื่องของเราทุกคน ทุกคนเข้ามาทำงานด้านการศึกษา โดยที่เราไม่ต้องแบกโลกทั้งโลกไว้คนเดียว เราอยากเป็นคนชราที่มีคุณภาพในประเทศที่ซัพพอร์ตสุขทุกข์ร่วมกัน ไปด้วยกันได้