เราไม่ได้แค่สร้างครู เราสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาว

เราไม่ได้แค่สร้างครู เราสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาว

ครูรัก(ษ์)ถิ่น หรือ โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  นับเป็นอีกหนึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน​ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนกระบวนการทำงาน

ในโอกาสก้าวสู่ปีที่สองของโครงการ รศ.ดร.ดารณี  อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี 1 ใน 11 สถาบันร่วมทำงานในโครงการนี้ ​ซึ่ง รศ.ดร.ดารณี มองว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่จะต้องการได้ สถาบันผลิตและพัฒนาถือเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการก็จะมาติดตามดูว่าการดำเนินงานนั้น แต่ละขั้นตอนเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และมีอุปสรรคปัญหาอะไรที่ทางคณะกรรมการกำกับทิศทางจะต้องจัดการแก้ไข แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กน้อย ไปจนถึงปัญหาเชิงลึก เช่น อุปกรณ์พวกคอมพิวเตอร์นักศึกษาส่วนใหญ่ที่มีก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเมื่อได้ลงพื้นที่ และมาสัมผัส จึงเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่การจัดซื้อ จัดหาคอมพิวเตอร์ให้ เพราะถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอน

“เราลงทุนสูงมากกับโครงการนี้และเงินที่ลงทุนก็เป็นภาษีของประชาชน แต่เป้าหมายของ กสศ. คือการสร้างครูรุ่นใหม่ มอบโอกาสที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาส เมื่อมีโอกาสแล้ว เราก็จะบ่มเพาะให้พวกเขาใช้โอกาสในทางที่ถูกที่ควร และบ่มเพาะให้มีจิตสำนึกของบุญคุณแผ่นดินที่ทุกคนในประเทศไทยได้ร่วมกันให้โอกาส เขาเรียนจบแล้วสิ่งที่เราคาดหวัง คือให้เขามีจิตสำนึกของความเป็นครู และสำนึกรักท้องถิ่นที่จะกลับไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ท้องถิ่น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีโครงการผลิตครูที่ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องของประเทศโดยตรง”

โครงการนี้​ออกแบบหลักสูตรผลิตครูตามบริบทของพื้นที่  อาจารย์ที่ออกแบบหลักสูตรจะต้องเริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ไปค้นหาเด็กไปดูบริบทและทิศทางที่นักศึกษาเหล่านี้เมื่อจบแล้วจะไปบรรจุ เพื่อพัฒนาโรงเรียนปลายทางไปพร้อมๆ กัน โดยหลักสูตรที่นักศึกษาจะได้เรียนก็คือหลักสูตรที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ออกแบบ เพื่อตอบโจทย์โดยเฉพาะ ว่าครูในยุคใหม่ในยุค 4.0 ในบริบทท้องถิ่นจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร ดังนั้น ในเวลา4 ปีจะไม่ใช่ผลิตครูอย่างเดียว แต่จะเป็นการเติมเต็มในชีวิตของน้องๆ ที่อาจจะขาดด้านใดด้านหนึ่งและเพิ่มเติมในสิ่งที่เขามีจุดเด่นอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในการพัฒนาประเทศ

ครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่สอนหนังสืออย่างเดียว
แต่จะทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน​

สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ รศ.ดร.ดารณี  กล่าวว่า ประทับใจมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน ทั้งครูและโรงเรียนในท้องถิ่นที่มีความยากลำบาก และมีการสืบทอดวัฒนธรรมมีอาจารย์ที่เกษียณไปแล้วมาทำงานกับอาจารย์รุ่นใหม่ ตรงนี้คือความโดดเด่นและเข้มแข็ง วัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญ เพราะถ้าเด็กเหล่านี้สัมผัสจิตวิญญาณของความเป็นครูไปเรื่อยๆ ตลอดสี่ปีมันก็จะฟังลึกเข้าไปในจิตใจของเด็ก เพราะเขาได้ตัวแบบที่ดี

“เราไม่ได้ส่งเขาไปโดดเดียว เรายังส่งครูตามเข้าไป ขณะเดียวกันก็ไปพัฒนาโรงเรียนเพื่อรอเขาด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาอุปสรรคอะไรที่เกิดขึ้นทาง กสศ. ได้ศึกษาวิจัยและได้รับข้อมูลเหล่านี้เข้ามาออกแบบร่วมกับสถาบันผลิต ว่ามีอะไรบ้างที่เราจะป้องกันความเสี่ยงและจะดำเนินการแก้ไข ดังนั้นตลอดโครงการก็จะมีการกำกับอย่างใกล้ชิดทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. กับสถาบันผลิต”​

นอกจากนี้ยังต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันผลิตครู​ เพราะแต่ละแห่งจะมีนวัตกรรมการผลิตของแต่ละตัวเอง แต่บางแห่งอาจจะขาด ดังนั้นจึงจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันด้วย​เพื่อเป็นการพัฒนา นอกจากนั้นจะตอบโจทย์ในการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งในการเสริมสร้างชุมชนทุกด้าน ​ครูรัก(ษ์)ถิ่นของเราจะไม่สอนหนังสืออย่างเดียวแต่จะทำงานกับครอบครัวและชุมชน มีภาวะในการเป็นผู้นำได้ในอนาคต

สำหรับภาพรวมการทำงานในปีที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจมาก​พวกเราทำงานด้วยความยากลำบาก เมื่อก่อนเรารอนักศึกษามาสมัคร แต่ตอนนี้เราต้องออกไปค้นหานักศึกษา ไปลงพื้นที่บางแห่ง ขึ้นรถลงเรือลุยป่าฝ่าดงเข้าไป บ้านนักศึกษาแต่ละบ้านบางทีอาจารย์ในบางมหาวิทยาลัยไม่เคยเห็นเลย ว่าลูกศิษย์เรามาจากอย่างนี้ แต่เมื่อลงพื้นที่ไปทำจริงๆ ท่านก็บอกว่าในความยากลำบากท่านเรียนรู้เยอะมาก และอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนความคิด เพราะถ้าไม่เห็นก็ไม่ได้คิดใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์ของทั้งทางสถาบันผลิตและเรา

ลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพทางการศึกษา
เพราะชนบทเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.ดารณี กล่าวเสริมว่า สำหรับประเด็นเรื่องเป้าหมายโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลนั้น ยังสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง กสศ.ไม่สามารถทำได้ในวงใหญ่ทั้งหมดแต่เราสามารถลงมือทำในเชิงลึกปฏิบัติ ศึกษา วิจัย สร้างโมเดลและส่งต่อให้กับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้  ถ้าเราจะตอบโจทย์ประเทศเราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า การผลิตครูระบบปิดให้เด็กจบแล้วมีงานทำ โดยจุดหมายที่เด็กกลุ่มนี้จะไปสอนก็คือเด็กที่ยากลำบาก เด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท ​เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนครูปฐมวัย ทางมหาวิทยาลัยต้องออกแบบให้เด็กๆ เหล่านี้สามารถ​บ่งชี้ได้ว่าเด็กคนนี้มีพัฒนาการช้า เด็กคนนี้มีแนวโน้มที่จะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นออทิสติก หรือมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว โดยจะต้องบ่งชี้ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อบอกให้ผู้ปกครองนำลูกของเขาไปกระตุ้นพัฒนาการ

ส่วนเรื่องประเด็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มีสองประเด็น คือ เหลื่อมล้ำในโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา และเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพ ทุกวันนี้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงได้เกือบทั้งหมด เด็กไทยถ้าตกหล่นจากโรงเรียนก็มี กศน. มารองรับ เพราะฉะนั้นโอกาสทางการศึกษาเรามีความเสมอภาค

“แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพค่อนข้างสูงเพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพ นี่คือตัวอย่างที่จะผลิตครูคุณภาพเข้าไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชนบท เมื่อเราได้ครูคุณภาพเขาก็จะไปจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเรา คือลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพในการจัดการศึกษา ดังนั้นพื้นที่ชนบทก็จะเป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ”​

สำหรับความคืบหน้าครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นสอง ตอนนี้คัดเลือกสถาบันเสร็จเรียบร้อยแล้วสิ้นเดือนนี้จะทำเวิร์คช็อป ให้รุ่นหนึ่งไปเล่าประสบการณ์ให้รุ่นสองฟัง เพื่อให้การทำงานของรุ่นสองดียิ่งขึ้นและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โดยครูรุ่นที่สองก็ยังเป็นครูประถม และปฐมวัย เพราะเป็นความต้องการของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงป.6 บางโรงเรียนมีนักเรียน 20 ถึง 30 คน ครูต้องสอนได้ตั้งแต่อนุบาลถึงประถม สามารถสอนได้ทุกวิชา สอนแบบคละชั้นได้ เทคนิคเหล่านี้จะต้องเอาเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ​ในปีถัดไปจะมีการลงไปวิเคราะห์ว่าโรงเรียนเหล่านี้ต้องการเฉพาะวิชาด้านไหนบ้าง อาจจะเป็นครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ ครูพละ ถามว่า ครูพละอาจจะสอนภาษาไทยได้ แต่ก็จะมีทักษะเฉพาะบางด้านอย่าง เช่น กลไกการเคลื่อนไหวที่จะช่วยเด็กพิการหรือเด็กพัฒนาการช้าพัฒนาได้ดี ให้เด็กพิเศษเขามีศักยภาพในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กได้เราอาจจะต้องลงไปศึกษาวิจัย ปรับเปลี่ยน โดยสาขาประถมอาจจะมีการเน้นให้มากขึ้น   

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค