ถอดบทเรียนจากจังหวัดนครราชสีมา 1 ใน 20 จังหวัด ต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับ กสศ.

ถอดบทเรียนจากจังหวัดนครราชสีมา 1 ใน 20 จังหวัด ต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับ กสศ.

เราจะพาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับมาเรียนได้อย่างไร?
ถอดบทเรียนจากจังหวัดนครราชสีมา 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับ กสศ.โดยใช้บริบทพื้นที่เป็นสารตั้งต้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนผ่านกระบวนการทำงาน ดังนี้
1. คุณครู กศน. จะนำข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ลงพื้นที่สำรวจรอบแรก หากพบกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมจะทำการดึงเด็กกลับเข้าระบบ กศน. ทันที
2. อาสาสมัคร (Case Manager) หลังรับข้อมูลจากคุณครู กศน. แล้ว จะลงพื้นที่ในความดูแล เพื่อประกบตัวกลุ่มเป้าหมายและเก็บข้อมูลเพื่อหาปัญหาเชิงลึก นำมาระบุความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วนแบบรายคนทันที พร้อมนำเสนอแผนการช่วยเหลือเบื้องต้น และลงพื้นที่ซ้ำ เพื่อติดตามผล รายงานสถานการณ์กลุ่มเป้าหมายตลอดกระบวนการช่วยเหลือ
3. ทีมสหวิชาชีพจะรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัคร ประเมินผล ออกแบบความช่วยเหลือเป็นรายคน วางแผนว่าจะช่วยอย่างไรให้ต่อเนื่อง พร้อมประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเฉพาะทาง เช่น คณะแพทย์ นักกายภาพบำบัด รวมถึงการประสานภาคเอกชนเข้ามาช่วยด้านการฝึกวิชาชีพด้วย
4. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ จะเป็นผู้กำหนดภาพรวมโครงการ ตรวจสอบข้อมูลและแผนความช่วยเหลือ มองหาแนวทางช่วยเหลือระยะยาว ทั้งการเรียนในระดับสูงขึ้นและการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพึ่งพาตนเองได้
ซึ่งผลแห่งพลังความร่วมมือและความทุ่มเทนี้ก็ทำให้พบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ในเขต อ.เมืองนครราชสีมาจำนวน 11,610 คน คัดกรองจนได้กลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด 172 คน ดำเนินการส่งเข้าเรียนใน กศน. ทันที 3 คน ส่งเด็กวัยเรียนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 41 คน
ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนวางแผนให้ความช่วยเหลือรายกรณี ตามความเหมาะสม ทั้งส่งกลับเข้าเรียนในระบบการศึกษา เข้าอบรมในโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ หรือจัดหางานและมอบทุนประกอบอาชีพ รวมถึงกลุ่มที่จำเป็นต้องบำบัดรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย ก่อนมองหาแนวทางช่วยเหลือในลำดับถัดไป
นี่เป็นกระบวนการทำงานของจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับ กสศ. โดยใช้บริบทพื้นที่เป็นสารตั้งต้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้นพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ก็สามารถนำแนวทางนี้เป็นตัวอย่างในการออกแบบให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ เพื่อร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม