สร้างพื้นที่ต้นแบบจากชุมชนดึง ‘แก๊งหัวโจก’ ออกจากมุมมืด

สร้างพื้นที่ต้นแบบจากชุมชนดึง ‘แก๊งหัวโจก’ ออกจากมุมมืด

ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โอกาสดึง ‘แก๊งหัวโจก’ ออกจากมุมมืด ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาสูงถึงประมาณ 1,050,000 คน เสี่ยงหลุดสูงสุดใน กทม. ประมาณ 137,000 คน

นี่คือโจทย์ใหญ่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมหาทางป้องกันและแก้ไข เรื่องนี้ ‘ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ให้ความเห็นว่าผู้ที่จะแก้โจทย์ปัญหานี้ได้ดีที่สุด ก็คือ คนในชุมชน เพราะอยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด

เรียกได้ว่านี่คือ ‘การส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งเราจะลุกขึ้นมาโอบอุ้มพวกเขาด้วยหัวใจที่ยืดหยุ่น ไม่ตีตรา เปิดใจ ยอมรับ พูดคุย ฟังเขาให้ลึก ฟังให้เป็น และฟังด้วยหัวใจ

สำคัญที่สุด คือ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ตรงความต้องการและตอบโจทย์ชีวิต สามารถอยู่ร่วมและอยู่รอดในสังคมได้ ซึ่ง กสศ. เอง กำลังผลักดันให้เกิดการ ‘เปลี่ยนห้องเรียนเชิงบังคับ’ สู่ ‘ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น’ ห้องเรียนที่ไม่ใช่แค่ให้นักเรียนเรียนตามตารางสอน ใครไม่ไหวก็หลุดออกไป แต่เปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นด้วยโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 ระบบ ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เมื่อเราสนับสนุนให้เด็กได้คิด ได้วางแผนถึงสิ่งที่อยากจะทำด้วยตัวเอง โดยไม่ยัดเยียดสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้ เมื่อนั้นเขาจะเกิดการตั้งคำถามและมีแรงบันดาลใจอยากทำสิ่งดี ๆ เพื่อท้องถิ่นและชุมชนของตัวเองแน่นอน”

ส่วนหนึ่งจาก “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบการบูรณาการขับเคลื่อนตัวแบบความร่วมมือระดับท้องถิ่นในการสร้างโอกาสทางการศึกษา-เรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา”