6 เรื่องเล่าที่มีบทบาทในช่วง 20 ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษาไทย

6 เรื่องเล่าที่มีบทบาทในช่วง 20 ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษาไทย

ใครๆ ก็บอกว่าอยากที่จะปฏิรูปการศึกษา ใครๆ ก็กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำ และสำคัญยิ่ง

การปฏิรูปการศึกษาไทยคือนโยบายสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา จนกลายเป็นคำ ‘ช้ำ’ ที่มองไม่เห็นปลายทางของการเดินทางบนถนนแห่งการศึกษา

ส่วนประกอบของการปฏิรูปไม่ใช่แค่ผู้นำ คณะกรรมการ บทนโยบาย หรือการยึดโยงแต่กับกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบไปด้วยเรื่องเล่า (Narratives) เพื่อทำให้ความจริงทางนโยบายนั้นสมเหตุสมผล เพราะเรื่องเล่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสังคม

‘โครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน’ คลิก โดยความร่วมมือศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. พาทุกคนไปสำรวจ 20 ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ผ่านมา พบ 6 เรื่องเล่า (Narratives) ที่เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากในกระบวนการกำหนดนโยบายการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นถนนสายหลักๆ ที่ทำให้เส้นทางแห่งการศึกษาไทยมาถึงปัจจุบันนี้

เรื่องเล่าที่ 1 ช่วงปี 2538 : โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของโลก

“โลกาภิวัตน์” ปรากฏขึ้นในแวดวงการศึกษาในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติกำลังจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544)

ช่วงที่เรื่องเล่าโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น นับเป็นช่วงปีที่ประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศมากในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเน้นการก้าวสู่ความทันสมัยของโลก จนกลายเป็นบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544)

กรอบแนวคิดโลกาภิวัตน์นี้เองทำให้มีการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ก้าวทันโลก โดยงานวิจัยสรุปการเชื่อมโยงเรื่องเล่านี้กับการศึกษาออกเป็น 2 รูปแบบคือ

  • การเชื่อมโยงกับนานาชาติเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษา เช่น “รัฐควรจัดทำแนวทางความร่วมมือระหว่างการศึกษาเอกชนนอกระบบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ประสบความสำเร็จเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ และนำมาต่อยอด และพัฒนาประเทศ​
  • การศึกษาควรพัฒนาไปในแนวทางที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่เป็นสากลมากขึ้น เช่น โรงเรียนนานาชาติหรือการเปิดหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียน

เรื่องเล่าที่ 2 ช่วงปี 2540 : ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในช่วงเวลาเดียวกับการตื่นตัวของเรื่องเล่าโลกาภิวัตน์ และการเชื่อมต่อไทยกับนานาชาติ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการพัฒนาคนก็ถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นปัจจัยเสริมกันและกัน หากต้องการให้ไทยทัดเทียมกับสากล ก็ย่อมต้องสร้างคนให้มีคุณภาพ

สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และการใช้คำว่าโลกาภิวัตน์ในแวดวงการศึกษา กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษามุ่งเน้น 3 เรื่อง โดยใจความสำคัญคือมุ่งให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเอื้อให้คนไทยที่อยู่ในประเทศไทยได้เรียนรู้ ได้มีการศึกษาที่มีคุณภาพตลอดชีวิต

เช่นเดียวกับ สังข์ทอง ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น กล่าวว่า “ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการศึกษาและมีส่วนร่วมในการศึกษา โดยสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

เรื่องเล่า และแนวคิดที่ว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาด้านต่างๆ ในขณะนั้น

  • กระบวนการเรียนรู้ก็เปลี่ยนแปลงไป การเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ ทุกแห่งและคนทุกวัยก็สามารถเรียนรู้ได้ “การให้ ‘ความรู้’ อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องให้ความรู้อย่างลึกซึ้งที่ผู้เรียน สามารถพัฒนาไปสู่การเกิดปัญญาได้
  • การพัฒนาครูให้เข้าใจปรัชญาของการเรียนการสอนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ความจำเป็นนี้เปิดโอกาสให้ปัญหาและความล้าสมัยเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกเล่าออกมา
  • โรงเรียนไม่ใช่สถานที่เดียวที่การเรียนรู้เพิ่งเกิดขึ้น เด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเรียนรู้ตามวัยซึ่งนั่นคือผู้ปกครองต้องมีส่วนในการจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวและส่งเสริมด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษาเป็นอีกหนทางสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุเกินเข้าโรงเรียน

เรื่องเล่าที่ 3 ช่วงปี 2541 : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาไทย

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่ชาวไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510 ในพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยสรุปเป็นหลักการง่ายๆ คือ “3 ห่วง 2 เงื่อนไข”

อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ศึกษาการวางแผนการศึกษาไทย รวมถึงเจ้าของหนังสือ ‘ความฝันของแผ่นดิน’ เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาผสมกับการศึกษา เขากล่าวว่า “ใน ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ นี้ เราต้องการกำลังปัญญาที่จะสร้างดุลยภาพใหม่ในสังคมไทยที่มีความพอดีระหว่างความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเจริญของจิตใจ และความมีสันติสุขในสังคมแบบของไทยเราเอง”

ในปี 2545 แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2559) ได้บรรจุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาหลักของแผน โดยระบุว่า “ปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ยึดทางสายกลางที่อยู่บนพื้นฐานของความสมดุล พอดี รู้จักพอประมาณอย่างมีเหตุผล มีความรอบรู้เท่าทันโลก เป็นแนวทางในการดำเนิน ชีวิตของคนไทย เพื่อมุ่งให้เกิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย’”

งานวิจัยสรุปบทบาทของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวงการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

  • ปฏิรูปการศึกษาที่เน้นให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว การสอดแทรกภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งที่เหมาะตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นการจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรในโรงเรียน และปลูกฝังเยาวชนในสถานศึกษาทุกระดับให้รังเกียจการทุจริตและตระหนักถึงโทษภัยของการทุจริตคอรัปชั่น
  • สถานศึกษาและสังคมแห่งการเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาไทยจะต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของ ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะ เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน
  • การประยุกต์ใช้จริยธรรมของเศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นความประหยัด ความสามัคคีระหว่างบุคลากรในโรงเรียน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เรื่องเล่าที่ 4 ช่วงปี 2543 : เก่ง ดี มีสุข และการศึกษาไม่ได้มีเพียงด้านวิชาการ

เก่ง ดี มีสุข เป็นคำขวัญสำหรับการพัฒนาการศึกษาที่ปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงต้นทศวรรษ 2540 และปรากฏเป็นรูปธรรมในแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2559)

ชีวิตที่ดี เก่ง และมีความสุข เป็นวิสัยทัศน์ของการศึกษาไทย โดยมีนิยามคือ “คนดี คือคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออก คนเก่ง คือ คนที่มีสมรรถภาพสูงในการดำเนินชีวิต โดยมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือรอบด้าน หรือความสามารถพิเศษเฉพาะทาง คนมีความสุข คือ คนที่มีสุขภาพดีทั้งกายและจิต เป็นคนร่าเริงแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง มีมนุษยสัมพันธ์ มีความรักต่อทุกสรรพสิ่ง…”

เป้าหมายของการศึกษาแนวคิดนี้จึงไม่ได้มุ่งให้นักเรียนมีความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว โดยแนวคิดเก่งดีมีสุข ถูกเสนอโดย ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เด็ก “เป็นพลเมืองที่ฉลาด เป็นคนดี และมีความสุข” ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ว่า

“การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ดังนั้น การเรียนรู้จึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่อยู่ในตำราหรือการไปโรงเรียน แต่หมายถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต”

เก่ง ดี มีสุข เข้ามามีบทบาทการพัฒนาการศึกษา และภาคสังคมอื่นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ระดับสถาบันครอบครัว แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ คือ

  • มีการผลักดันให้ปฏิรูปพ่อแม่ เพื่อสร้างฐานที่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยก่อนเข้าเรียน ดึงให้พ่อแม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสามารถสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ คิดเป็นทำเป็นให้กับเด็ก รวมทั้งยังต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดู และครูได้มีความรู้และความเข้าใจการพัฒนาของเด็กตามหลักจิตวิทยาและวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กทุกคนในสภาวะต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามวัย ผ่านสื่อการฝึกอบรมต่าง ๆ
  • มีการพัฒนากระบวนการแนะแนวและการพัฒนาครูเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจจิตวิทยาเด็กมากขึ้น การใช้นิทานเป็นสื่อการสอนเพื่อการพัฒนาสมองและการเสริมแง่คิดทางจริยธรรมและการเข้าใจเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงแพร่หลาย รวมถึงมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนมีการพัฒนา EQ ควบคู่ไปด้วย
  • สังคมคุณธรรม และการเรียนรู้ ส่วนประกอบสำคัญที่ถูกกล่าวถึงคือ “สังคมคุณภาพ” ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของสังคมที่จะสร้างคนที่เก่ง ดี มีสุข ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล การปกครองที่เปิดกว้างโปร่งใสตามระบอบประชาธิปไตย สังคมที่มีคุณธรรม ระเบียบวินัย สันติ และความเอื้ออาทร การมีจิตสำนึกและความภูมิใจในชาติ เป็นสังคมที่มีการสะสมความรู้สืบทอดกันมาจากอดีตและผู้คนสนใจที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

เรื่องเล่าที่ 5 ช่วงปี 2560 : ประเทศไทย 4.0

ประเทศไทย 4.0 เกิดขึ้นช่วงหลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2557 โดยให้ความสำคัญในด้านตอบโจทย์ขีดความสามารถในการผลิตเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศ

ประเทศไทย 4.0 เข้ามามีบทบาทในวงการศึกษาจาก วิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวถึงการสร้างคนเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และภาวะการว่างงานที่เกิดขึ้น จนเกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

งานวิจัยสรุปว่ามีเรื่องเล่าประเทศไทย 4.0 ในบริบทที่แตกต่างกัน 2 บริบท โดยมองว่าประเทศไทย 4.0 ในฐานะภาพของประเทศไทยและของโลกในอนาคต การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะสูงเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน ของประเทศในเวทีโลก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา โดยมีเรื่องเล่าต่อว่า หากการศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน คนไทยจะเสียประโยชน์

และประเทศไทย 4.0 ในฐานะนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทย 4.0 คือสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารพยายามคิดให้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ในตำแหน่งของตัวรัฐบาลเอง ประเทศไทย 4.0 จึงถูกเล่าให้อยู่ในรูปของแผนการและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งนั่นก็คือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีส่วนผสมของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

คำว่าประเทศไทย 4.0 ได้พยายามผูกโยงความทันสมัยเข้ากับแนวคิดท้องถิ่นนิยม คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” ที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สองเรื่องนี้ปรากฏทั่วไปรวมถึงในแวดวงการศึกษาด้วย เช่น “Thailand 4.0 ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

เรื่องเล่าที่ 6 ช่วงปี 2561 : ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำ (หรือที่ถูกเรียกด้วยคำอื่น เช่น ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค หรือความไม่เท่าเทียม) ด้านการศึกษาเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมานานแล้วในแวดวงการศึกษา ในอดีต ฉากแห่งความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาคือ พื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงเรียน

ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำถูกขยายพูดครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือเรื่องโอกาสที่ไม่เท่ากันของนักเรียนในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา นั่นคือ ครอบคลุมประเด็นด้านคุณภาพของการศึกษา เรื่องพื้นที่ เรื่องการขยายโอกาส สรุปเป็นความหลากหลายของความเหลื่อมล้ำ

ตลอดช่วงทศวรรษ 2540 จนถึงต้นทศวรรษ 2550 ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาเป็นหนึ่งในปัญหานานาประการของการศึกษาไทย ด้วยเหตุนี้ช่วงปี 2561 ในแวดวงการศึกษา ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากกว่าปัญหาอื่นๆ แต่เป็นปัญหาหนึ่งที่พึงแก้ไขเช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ

จนมีการก่อตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54ซึ่งพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ

ข้อมูลจากงานวิจัยสรุปถึงข้อสังเกตจากเรื่องเล่าทั้ง 6 เรื่องว่าเรื่องเล่าต่างๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่สร้างอำนาจแต่ไม่ได้สร้างอำนาจแก่ทุกคนในระดับที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ เก่ง ดี มีสุข ถูกเข้าใจว่าการศึกษาต้องหมายถึงการที่ผู้เรียนต้องมีสุขภาพจิตที่ดี อำนาจในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการระบุว่าการศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไรจึงตกอยู่กับนักจิตวิทยาการศึกษาหรือผู้ที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กในขณะที่ครูที่เห็นผลการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญก็จะมีอำนาจน้อยลง

หรือเพื่อสร้างอำนาจให้แก่กลุ่มคนที่มีความเกี่ยวพันกับคนกลุ่มนี้ และลดทอนอำนาจของคนกลุ่มอื่น เช่น หากเราพิจารณาว่าคนที่มีตำแหน่งสูงเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทุนหรือผู้ประกอบการมากกว่าแรงงาน เราจะเห็นว่าการเล่าถึงการศึกษาในยุคประเทศไทย 4.0 ทำให้ภาระตกอยู่แก่โรงเรียนและผู้เรียนที่จะต้องพัฒนาทักษะให้ทันความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งๆ ที่จริงๆ ทักษะอาชีพอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียน และหากการศึกษาตลอดชีวิตคือเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ประเทศไทย 4.0 กลับให้ไม่ได้บอกว่านายจ้างผิดที่ไม่สามารถให้ความรู้ลูกจ้างได้ แต่กลับเป็นลูกจ้างผิดที่ไม่สามารถพัฒนาความรู้ทันที่นายจ้างต้องการ

นอกจากนี้เรื่องเล่ามีความสอดคล้องกัน แต่ก็ไม่ได้สอดคล้องกันทั้งหมด เช่นเรื่องเล่าว่าด้วยโลกาภิวัตน์สื่อความหมายถึงความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษาให้เท่าทันความรู้ของโลก แต่ก็หลักขัดแย้งกับเรื่องเล่าว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความหมายไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือ การให้ความสำคัญกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือหากเราพิจารณาว่าเรื่องเล่าว่าด้วยประเทศไทย 4.0 หมายถึงการพัฒนาการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งก็ขัดแย้งกับเรื่องเล่าว่า เก่ง ดี มีสุข ที่สื่อความไปในทำนองว่าการก้าวทันเทคโนโลยีไม่ได้สำคัญเท่ากับการพัฒนาผู้เรียนให้มีวุฒิภาวะและมีความสุข

“สุดท้ายแล้วหลักสำคัญที่ทำให้ปัญหาเรื่องการศึกษา และการปฏิรูปการศึกษายังมีปัญหาใหญ่ๆ คือเรื่องเล่าต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปการศึกษามองถึงผู้ที่ประสบปัญหาโดยการเล่าในฐานะเหยื่อของเรื่อง โดยที่องค์กรของรัฐบาลทำหน้าที่เป็นวีรบุรุษของเรื่องในการยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ โครงเรื่องโดยรวมก็คือ สภาพสังคมในปัจจุบันร่วมกับการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เหยื่อของเรื่องประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต วีรบุรุษจึงต้องก้าวเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา โดยคติสำคัญของเรื่องนั้นก็คือการศึกษาต้องการการปฏิรูป” ธร ปีติดล ผู้เขียนและหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวสรุป

อ้างอิง รายงานโครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน, ธร ปีติดล และคณะ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม(CRISP) ,คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565 ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม