7 เคล็ดลับสำหรับการตลาดยุคโควิด-19 สำหรับหน่วยพัฒนาอาชีพวิสาหกิจชุมชน

7 เคล็ดลับสำหรับการตลาดยุคโควิด-19 สำหรับหน่วยพัฒนาอาชีพวิสาหกิจชุมชน

“โครงการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของครอบครัวผู้มีลูกพิการทางสติปัญญา จังหวัดนครปฐม” เป็นโครงการที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ค่อนข้างน้อย การดำเนินงานสามารถบริหารจัดการต่อไปได้อย่างราบรื่น ภายใต้สภาวะตึงเครียดของสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้เรามาลองสำรวจดูซิว่าที่นี่มีเทคนิคอย่างไร ในการรักษาความมั่นคงทางด้านรายได้

1. เลือกสินค้าที่เหมาะสมและหลากหลาย
เนื่องจากสมาชิกเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องอยู่ติดบ้านตลอดเวลาเพื่อดูแลลูก นางสาวสาริศา เปียงาม ประธานชมรมคนพิการทางสติปัญญา จึงนึกถึงสินค้าที่สามารถนั่งทำที่บ้านอย่างง่ายๆ และจัดส่งทางไกลได้โดยไม่เสี่ยงต่อความชำรุดเสียหาย ได้แก่ สบู่ ของชำร่วยชนิดต่างๆ กระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋าผ้าดิบ กระเป๋าใส่แก้วเยติ พวงกุญแจ และสายคล้องหน้ากากอนามัย ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่พิจารณาแล้วว่าอย่างไรก็ขายได้ อีกทั้งมีความหลากหลายเพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค

2. อบรมขั้นตอนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน
ฐานลูกค้าจะมั่นคงได้ สินค้าต้องมีมาตรฐานสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ โครงการจึงจัดอบรมทักษะการทำสินค้าทุกชนิดแก่สมาชิก และมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกชิ้น ไม่ว่าจะผลิตมาจากครัวเรือนใด จึงมีรูปลักษณ์และคุณภาพดีเหมือนกันหมด

3. สร้างแบรนด์หรือตราสินค้า
โครงการสร้างแบรนด์สินค้าในชื่อ “ปัญญายิ้ม” เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในท้องตลาด

4. ขายทั้งออฟไลน์/ออนไลน์
ในส่วนของตลาดออนไลน์ ทางโครงการโพสต์ขายสินค้าในเพจปัญญายิ้ม ส่วนตลาดออฟไลน์ โครงการได้ติดต่อตลาดน้ำทั้ง 3 แห่งในจังหวัดนครปฐม คือ ตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดน้ำวัดไร่ขิง และตลาดน้ำวัดสรรเพชญ เพื่อวางจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ยังมีร้านของชำร่วยทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ไปช่วยเสนอขายให้กับลูกค้า ออร์เดอร์สินค้าทั้งหมด ทางโครงการจะแจกจ่ายให้แก่สมาชิกอย่างเท่าเทียม โดยใช้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นที่กระจายสินค้า

5. สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ
โครงการมีภาคีเครือข่ายอื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น อบต.ทรงคะนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สภาสังคมสงเคราะห์ พัฒนาสังคมจังหวัด และอีกหลายหน่วยงาน ที่เมื่อมีงานออกบูธขายสินค้าก็จะมาชวนให้ไปร่วมออกบูธแสดงสินค้า

6. สร้างการต่อยอด
มีการเติมทักษะด้านตลาด การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการสื่อสารออนไลน์ เพื่อให้สมาชิกสามารถนำไปต่อยอด เปิดเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง รับออร์เดอร์ได้เอง โดยไม่ต้องรอรับออร์เดอร์จากทางโครงการเหมือนที่ผ่านมา

7. เฉลี่ยรายได้อย่างเท่าเทียม
โครงการมีอุดมการณ์แน่วแน่ว่าสมาชิกทุกคนต้องมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือน จึงมีการแจกจ่ายออร์เดอร์เท่าๆ กัน และเมื่อได้รายได้มาแล้ว ก็จะส่งให้ทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียมกัน เฉลี่ยครัวเรือนละ 500 บาทหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับกำไรรวมในแต่ละเดือน

เลือกช้อปสิ้นค้าแบรนด์ “ปัญญายิ้ม”
www.facebook.com/panyayum9

ติดตามข้อมูลโครงการเพิ่มเติม : ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม