เมื่อเด็กวันนี้จะอายุ 105 ปี เจาะเทรนด์การศึกษาไทย โตไปทางไหนดี?

เมื่อเด็กวันนี้จะอายุ 105 ปี เจาะเทรนด์การศึกษาไทย โตไปทางไหนดี?

การเกษียนอายุที่ 60 ปี ทำให้ผู้ใหญ่วันนี้เติบโตมากับการรีบเรียน รีบจบ รีบทำงาน แต่สำหรับเด็กที่เกิดวันนี้จะมีอายุยืนขึ้นมาก การศึกษาจะไปต่ออย่างไร?

โดยเฉพาะในห้วงวิกฤตที่ทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนผ่าน (Disruption) ยิ่งทำให้ทิศทางการศึกษาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการประชุม “เข็มทิศการศึกษา พัฒนาประเทศไทย” EdCompass : Empowered Education ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

จะมาชี้ปัจจัยที่มีผลต่อการศึกษา และแนวทางที่ประเทศไทยต้องเดินต่อจากนี้

เจาะเทรนด์โลกที่มีผลต่อการศึกษา

  • อนาคตเราจะใช้ชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-stage Life) เด็กที่เกิดในวันนี้มีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะมีอายุยืนเกิน 105 ปี รูปแบบการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่ต้องเร่งเรียนเร่งจบ อย่างในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรป เมื่อจบมัธยมก็ออกไปค้นหาตัวเอง ไปทำงาน แล้วค่อยกลับมาเรียนปริญญาตรี จึงทำให้ในช่วงชีวิตของเราควรมีหลายอาชีพ ควรมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับทั้งระบบ
  • ความสามารถในเรื่อง Digital Literacy ทั้งในเรื่อง AI, Hyperautomation, Cloud Solution, Metaverse หรือ Data Analysis การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ทำให้บางอาชีพหายไปและมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอาชีพในด้านสังคมใหม่ ๆ ด้วย เช่น คนให้คำปรึกษาด้านอาชีพ, ผู้สนับสนุนด้านอารมณ์, นักพูด, ผู้บำบัดเรื่องคู่ชีวิตคู่สมรส รวมถึงงานด้านสุขภาพจิต
  • ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นผลมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย โดยงานวิจัยสะท้อนชัดเจนว่ายิ่งเด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้นานขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาจะมีโอกาสหลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้มากขึ้น
  • การเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลกที่ไม่เฉพาะเจาะจงที่ฝั่งตะวันตก แต่ย้ายขั้วมายังฝั่งตะวันออก ภาคการศึกษาจะเตรียมคนให้พร้อมได้อย่างไร? เช่น การเลือกเรียนภาษาต่างประเทศ หรือการทำให้ประเทศไทยซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ จะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางในฝั่งซีกโลกตะวันออกนี้
  • สงครามการแย่งชิงคนเก่ง (The Talent War) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศจีนเรียกคนเก่งให้กลับมาทำงานในประเทศ ส่วนคนเก่งของไทยถูกดูดไปทำงานยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเองจะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดคนเก่งกลับมา หรือทำให้การเดินทางระหว่างประเทศสะดวกขึ้นเพื่อให้พวกเขาสามารถเดินทางไปทำงานได้หลายประเทศ
  • การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก Climate Change ที่ส่งผลโดยตรงต่อทั้งการบริโภคและเศรษฐกิจ ต้องเน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า สิ่งเหล่านี้จะมีผลอย่างมากในการที่จะออกแบบทักษะในการเรียนรู้ของคนในอนาคต หรือ Skill Set
  • การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล Opened Access ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลในการออกแบบชีวิตตัวเองได้ เช่น เด็กต้องการรู้ว่าอาชีพไหนจบไปแล้วได้เงินเดือนเท่าไหร่ เพื่อให้พวกเขาเลือกหลักสูตรที่เรียนได้ถูกต้อง ใช้ในการคำนวนค่าเล่าเรียน หรือเลือกใช้ระบบกู้ยืมเงินเพื่อเรียนต่อได้อย่างเหมาะสม

การศึกษาไทยจะเดินต่ออย่างไร?

  • Competency-based การสร้างการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้หรือความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าเนื้อหาตามหลักสูตร
  • Co-Creation การออกแบบการศึกษาที่ดึงภาคเอกชน ผู้จ้างงาน หรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบการศึกษา
  • Employability-oriented การปรับรูปแบการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าให้ความสำคัญกับปริญญา เช่น การพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System)
  • Global-Perspective การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล การเตรียมคนไทยให้มีความเป็นพลเมืองโลก และมีโอกาสออกไปหางานทำในต่างประเทศ
  • กระจายโอกาสทางการศึกษา เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาทั้งในเชิง Accessibility และ Affordability
  • ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายและจ่ายไหว
  • ซึ่งสุดท้ายนโยบายของภาครัฐจะต้องสร้างกลไกให้การศึกษาไทยสามารถเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้ และต้องผลักดันนโยบายผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และจากที่เคยอุดหนุนทุนการศึกษาในรูปแบบเฉลี่ยรายหัวเท่า ๆ กัน ก็ควรเพิ่มการสนับสนุนเป็น Demand-Directed Finance เพื่อแบ่งทุนอุดหนุนตามความต้องที่แตกต่างกันอีกด้วย

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม