สอนนักเรียนให้ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน

สอนนักเรียนให้ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน

“ช่วยเขาให้เขาช่วยเหลือตัวเอง”

เป็นพระราชปณิธานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ “ครูกุหลาบ  เกิดสิน” ครูโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ยึดเป็นแนวทางตลอดชีวิตของการเป็นครู

ในห้วงแรกของเส้นทางสายนี้ ครูกุหลาบเริ่มต้นเป็นครูที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2541 ต่อด้วยการเป็นครูในโรงเรียนเอกชน แต่ในขณะนั้นเธอรู้ใจตัวเองดีว่าความต้องการที่แท้จริง คือการเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล เพื่อส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในชนบท 

“ก่อนเลือกที่จะมาเป็นบรรจุเป็นครูสพฐ. ครั้งแรกที่โรงเรียนสามสบ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ตอนนั้นสอนชั้นประถมศึกษา เราได้สอนให้เด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ อ่านภาษาไทย พูดภาษาไทยได้ จากเดิมที่อ่านไม่ได้ เราสอนให้เขาอ่านออกเขียนได้ มันสัมผัสได้เลยว่าเรามีความสุขมาก” ครูกุหลาบย้อนความหลังในสมัยที่รับราชการครูใหม่ๆ

 

ระยะแรกที่ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ไม่มีวันไหนที่ไม่เสียน้ำตา

ต่อมา ครูกุหลาบได้ย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี  อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย 

“เราไปเห็นเขาลำบากมาก เด็กส่วนใหญ่ยากจน ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ เติบโตมากับปู่ย่าตายาย หรือเครือญาติ บางคนอยู่กับย่าที่แก่มากๆ ย่ายังต้องเข้าป่าไปฟันไม้ไผ่ ลากออกมาเหลา มาสานเป็นของไปขาย บางคนบ้านหลังนิดเดียวอยู่กันแปดคน ย่ายายเจอครูก็ร้องไห้ บอกให้ช่วยหลานเขาด้วย”

สิ่งนี้จุดประกายให้ครูกุหลาบ เริ่มมองหาการให้การช่วยเหลือกับนักเรียน โดยการช่วยเหลือนั้นต้อง “ยั่งยืน” นั่นก็คือจะทำอย่างไรให้นักเรียนเหล่านี้สามารถดูแลตัวเองได้

 

สอนเสริมทักษะอาชีพ สร้างรายได้ให้นักเรียน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเด็กในพื้นที่ห่างไกล จะมีเด็กเพียง  10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดเท่านั้นที่ได้เรียนต่อ ที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เรียนต่อ “การเสริมทักษะอาชีพ” เป็นสิ่งจำเป็น

การสอนของ “ครูกุหลาบ” จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะตามที่หลักสูตรวางไว้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเติมการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียนอีกด้วย

“ด้วยความที่ครูเป็นครูศิลปะ ทำให้มองว่า งานศิลปะ หัตถกรรม และงานฝีมือ ถ้าถ่ายทอดให้นักเรียน จะสามารถนำไปต่อยอดให้นักเรียนมีรายได้เสริมได้ เราก็เริ่มสอนนักเรียนที่สนใจ ให้มารวมกลุ่มในชุมนุมศิลปะ จะถามแต่ละคนเลยว่าสนใจอะไร ทั้งการวาด ปัก เย็บ รวมถึงงานฝีมืออื่นๆ ถ้าสนใจสิ่งไหน ถนัดสิ่งไหนเราก็จะส่งเสริมให้เขาได้หัดลองทำในสิ่งนั้น”

เมื่อนักเรียนมี “ฝีมือ” ในระดับที่สามารถวางขายได้ ผลิตภัณฑ์ก็จะถูกนำไปวางขาย โดยเด็กที่ทำจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานชิ้นนั้นๆ

 

สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยึดโยงเอกลักษณ์วัฒนธรรมชนเผ่า

ส่วนคนไหนมีความเชี่ยวชาญ และสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองก็สามารถทำได้ เพราะครูจะให้คำแนะนำในการผลิตผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และยึดโยงกับเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่

“ที่จริงเราสนุกกับการทำงานกับเด็กชาติพันธุ์ ทั้งอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ เพราะเขามีอัตลักษณ์ในประเพณีวัฒนธรรมและศิลปะ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพให้กับเขาได้ เพียงแต่เราแนะนำ ชี้ช่องทาง ให้การสนับสนุน เด็กๆ ก็จะเดินได้เองตามสิ่งที่พวกเขาถนัด ยึดโยงกับต้นทุนที่เขามีอยู่แล้ว”

สินค้าที่เด็กๆ เหล่านี้ผลิต จะถูกนำไปวางขายบริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงพระตำหนักดอยตุงที่จะมีพื้นที่ขายของให้กับชนเผ่าสามารถขายสินค้าที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้หากเด็กคนไหนไม่ถนัดในการผลิต แต่ชอบในการให้บริการ ก็สามารถเลือกที่จะเป็นพนักงานขายของได้ โดยจะได้รับค่าตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนราคาสินค้า เด็กบางคนมีรายได้ถึงหลักหมื่นเลยทีเดียวจากการขายสินค้าในเทศกาลสีสันดอยตุงในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

 

ยึดหลัก “เมตตา” เป็นแนวทางการทำงาน

ซ้าย: ครูกุหลาบ  เกิดสิน โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

ครูกุหลาบ เปรียบว่า สิ่งที่เธอทำก็คือ การสอนให้จับปลา เพื่อให้นักเรียนสามารถมีรายได้เสริมดูแลตัวเองระหว่างเรียน หรือถ้าใครไม่มีโอกาสเรียนต่อก็จะได้ใช้เป็นอาชีพดูแลครอบครัวได้อย่างสุจริต

จนในระยะหลังมีนักเรียนที่ถนัดในงานปักผ้า ขอย้ายโรงเรียนมาเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เพราะทราบว่าที่นี่ส่งเสริมทักษะอาชีพด้วย

แต่หากนักเรียนคนไหน ตั้งใจเรียนต่อ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ “ครูกุหลาบ” ก็จะช่วยเหลือดำเนินการขอทุนการศึกษาให้

“หลักในการทำงานมีคำเดียวเลย คือเมตตา สงสารเขา ตอนแรกไม่รู้หรอกว่าคือความเมตตา ครั้งแรกแค่เป็นความอยากช่วยเขา มีใจที่อยากช่วย ตอนหลังเพิ่งมาเห็นว่าความอยากช่วยของเรา คือความเมตตา” ครูกุหลาบกล่าว