ไทยจะลงจาก top 3 ประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลกได้อย่างไร ?

ไทยจะลงจาก top 3 ประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลกได้อย่างไร ?

ทางออกลดเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มที่ตรงไหน ?

ถอดบทเรียนจาก Global Wealth Report
โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ภาพโดย Frank Holleman

ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในเวทีนานาชาติที่วิเคราะห์โดยกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินเครดิตสวิส (Credit Suise’s) แสดงข้อมูลที่ทั้งน่าตกใจ และชี้ให้เห็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วนหลายประเด็น

รายงาน Global Wealth Report ของกลุ่มเครดิตสวิสแสดงข้อมูลให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศอยู่ในอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศรัสเซียและประเทศอินเดีย เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่แย่กว่าประเทศอินโดนีเซีย บราซิล หรือประเทศรายได้น้อยหลายสิบประเทศทั่วโลก โดยการถือครองสินทรัพย์ของประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% แรกของประเทศไทยสูงถึง 58% หรือเกินกว่าครึ่งนึงของสินทรัพย์และความมั่งคั่งของทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าคนไทยอีก 99% หรือเกือบจะทั้งประเทศที่เหลือถือครองสินทรัพย์และความมั่นคั่งเพียงแค่ 42% ของประเทศ หรือไม่ถึงครึ่งประเทศ หรือหากคิดในอีกมุมหนึ่ง คนไทยเพียง 670,000 คนที่รวยที่สุดของประเทศถือครองสินทรัพย์เกือบ 60% ของประเทศ

นอกจากนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2554 ประชากรที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 1 ของประเทศไทยเคยถือครองสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 38.5 ในประเทศ แต่จากการวิเคราะห์ของรายงาน Global Wealth Report โดยกลุ่มธนาคารเครดิตสวิสในปี 2559 ที่ผ่านมากลับพบว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยกลับเพิ่มสูงขึ้น คนที่ร่ำรวยที่่สุด 1% แรกของประเทศไทยมีทรัพย์สินมากขึ้นถึง 20.5% ใน 5 ปีที่ผ่านมา เท่ากับว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการวิเคราะห์ของรายงาน Global Wealth Report

หากวิเคราะห์ลึกลงไปอีกจากข้อมูลของรายงานฉบับนี้จะพบว่าประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยซึ่งองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก (World Bank) แนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนให้มีเศรษฐสถานะดีขึ้นอย่างเร่งด่วนได้แก่กลุ่มประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน และกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศ (Bottom 40) พบว่าในประเทศไทย ประชากรกลุ่ม Bottom 40 ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งของประเทศเพียง 1.9% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม 1% แรกที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศก็จะเห็นขนาดของช่องว่างทางรายได้ของประเทศไทยที่กว้างขวางมาก ประชากรเกือบครึ่งประเทศถือครองความมั่งคั่งของประเทศน้อยกว่าถึง 30 เท่า

แล้วทางออกของการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้เหล่านี้ควรเริ่มจากที่จุดใด?

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่ประชากรวัยแรงงานถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในระยะสั้น แต่ในระยะยาวการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทางสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการส่งเสริมโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ให้มากขึ้นในประชากรทุกกลุ่มทั้งในเชิงโครงสร้างรายได้และในเชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม (Social Inclusion)

การ “ปิดช่องว่าง” ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ยิ่งปิดได้เร็วเท่าไร ยิ่งใช้งบประมาณน้อยและสามารถเกิดผลได้เร็ว ดังนั้นการส่งเสริมมาตรการพัฒนาคนตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าสู่วัยเรียน จึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากการนำเสนอข้อมูลผล           ตอบเเทนทางสังคมที่สูงถึง 7 เท่าจากการลงทุนในเด็กปฐมวัยของ Professor James Heckman รวมทั้งมาตรการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เเก่เด็กเยาวชนตั้งแต่ก่อนวัยเรียนไปจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพราะการศึกษาคือกลไกสนับสนุนการเลื่อนชั้นทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและสำคัญที่สุดที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ประชากรยังอยู่ในช่วงปฐมวัย

รัฐบาลแทบทุกประเทศทั่วโลกจึงมุ่งส่งเสริมมาตรการสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาแม้   กระทั่งประเทศที่ก้าวหน้าอย่างฟินแลนด์ที่ถือว่าความเสมอภาคทางการศึกษาคือมาตรการอันดับหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก

ความเสมอภาคของระบบการศึกษา ต้องมาก่อนความยอดเยี่ยมของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน  ซึ่งความเสมอภาคในที่นี้ คือการสร้างโรงเรียนที่ดีสำหรับเด็กทุกคน และสร้างระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จได้ โดยไม่เกี่ยวว่าพวกเขาจะมาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานแบบใด

ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นภารกิจสำคัญของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา