‘สาม’ หัวดีกว่าหัวเดียว: นวัตกรรมการศึกษาของรัฐ ทุน และชุมชน
โดย : ชลิดา หนูหล้า
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

‘สาม’ หัวดีกว่าหัวเดียว: นวัตกรรมการศึกษาของรัฐ ทุน และชุมชน

เมื่อเกิดปัญหายากแก้ไขเกินกำลัง ไม่ว่าใครย่อมต้องการ ‘มือไม้’ คอยให้ความช่วยเหลือ  และเมื่อมีไม่มีใครรู้คาถาแยกเงาพันร่าง หรือมีสิบหน้ายี่สิบมือเหมือนทศกัณฑ์ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาจึงจำเป็น

ปัญหาการศึกษาเป็นอีกหนึ่งปัญหา ‘ใหญ่’ เรื้อรัง และเห็นชัดว่าไม่มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือท้องถิ่นใดแก้ไขได้โดยลำพัง การเสาะหาหุ้นส่วนผู้พร้อมระดมกำลังและความคิดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจึงจำเป็น แม้ค่านิยม แนวทางการดำเนินงาน และเป้าหมายที่แตกต่างกันชัดเจนจะเป็นอุปสรรค ทว่าหุ้นส่วนทางการศึกษาต่อไปนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า อุปสรรคดังกล่าวไม่ใช่อุปสรรคที่สาหัสเกินแก้ไข ไม่ว่าเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่นำความหวังมาสู่ระบบการศึกษาไทย หรือความปรารถนาดีที่เดินทางไกลข้ามพรมแดน

รัฐ ทุน และชุมชน: ทางเลือกเพื่อการศึกษาเสมอภาค

“โรงเรียนไม่ควรเป็นเพียงสถานที่เล่าเรียน ทว่าเป็นสถานที่ฝึกฝน พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการประกอบอาชีพของเด็กๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในอนาคตด้วย” มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ โรงเรียนทางเลือกในเครือมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวในการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) วันที่ 10-11 กรกฎาคม

นักเรียนคือผู้บริหาร: แนวทางการบริหารโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่

“โรงเรียนต้องเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาชุมชนรอบๆ โรงเรียน” มีชัยเสริม “เมื่อชุมชนรอบๆ โรงเรียนมีความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ นักเรียนจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในภูมิลำเนาหลังสำเร็จการศึกษา โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน”

‘ทักษะชีวิต’ ของนักเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนานั้น ถูกปลูกฝังผ่านการเป็นผู้บริหารโรงเรียนร่วมกับชุมชน โดยโรงเรียนมีชัยพัฒนามี ‘คณะมนตรีนักเรียน’ เป็นผู้บริหารและจัดสรรงบประมาณในโรงเรียน นักเรียนเหล่านี้จึงได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองผ่านการจัดซื้ออาหาร วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร รวมถึงอุปกรณ์การเรียน โดยเป็นผู้เลือกสินค้า ตรวจสอบคุณภาพสินค้า และนำส่งสินค้าสู่โรงเรียนด้วยตนเอง

“นอกจากนี้ นักเรียนยังเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนา” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอธิบายเพิ่มเติม “ครูที่ต้องการถูกจ้างงานต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยคณะมนตรีนักเรียน สาธิตการจัดการเรียนรู้แก่พวกเขา โดยคณะมนตรีนักเรียนจะเป็นผู้ประเมินผลการสาธิตการจัดการเรียนรู้ของครู และจ้างงานครูด้วย”

โรงเรียนมีชัยพัฒนาไม่มีค่าเล่าเรียน อย่างไรก็ตาม “ผู้ปกครองและนักเรียนต้องร่วมกันชำระค่าเล่าเรียนด้วยการบริการชุมชน และปลูกต้นไม้” เพราะต้นไม้หนึ่งต้นนั้นสร้างรายได้แก่ชุมชน และรายได้ของชุมชนก็จะหมุนเวียนกลับมาที่โรงเรียน ผ่านการประกอบธุรกิจเกษตรของนักเรียน เช่น การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชไร้ดิน การเพาะถั่วงอก การติดตามะนาว การเลี้ยงผึ้ง ฯลฯ โรงเรียนและชุมชนจึงเกื้อกูลกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยคณะมนตรีนักเรียนและผู้แทนชุมชนจะร่วมหารือเพื่อกำหนดเป้าหมายระยะกลาง (3-5 ปี) แก่โรงเรียนและชุมชน รวมถึงแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนมีชัยพัฒนาจึงเป็นต้นแบบการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เน้นการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนทางเลือกกว่า 76 โรงเรียน และเริ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ

“โรงเรียนสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่พวกเราคิด” มีชัยย้ำตลอดการอภิปราย “และโรงเรียนไม้ไผ่คือคำตอบของคำถามที่ว่า โรงเรียนจะเป็นมากกว่าสถานที่เล่าเรียนได้อย่างไร”

โรงเรียนมีชัยพัฒนาไม่ใช่รูปแบบเดียวของความร่วมมือระหว่างรัฐ ทุน และชุมชนเพื่อยกระดับระบบการศึกษา ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือกสศ. และนวัตกรผู้รวบรวมทุนจากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมกิจการสตาร์ทอัปที่มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษา ผ่านการใช้เทคโนโลยีในโครงการเอ็ดดูเคชั่น ดิสรัปชั่น แฮกกาธอน ครั้งที่ 2 (Education Disruption Hackathon 2)

โครงการดังกล่าวเป็นการประกวดนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา โดยผู้ชนะจะมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือโครงการสตอร์มเบรกเกอร์ เวนเจอร์ (StormBreaker Venture) ซึ่งรวบรวมทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมนวัตกรผู้ปรับปรุงการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยี

ตัวอย่างนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการดังกล่าว เช่น Vonder หรือโปรแกรมแชตบอต (chatbot) เพื่อการเรียนรู้ โดยรวบรวมบทเรียนและแบบทดสอบแก่ผู้เรียนซึ่งสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันสนทนาบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เรียนเลือกเรียนรู้หรือทบทวนเนื้อหาที่ตนสนใจได้ และ insKRU หรือพื้นที่รวบรวมและแลกเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศบนอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

แนวความคิดของผู้ก่อตั้ง Vonder ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19

ทว่า แม้มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างโชกโชน เรืองโรจน์ พูนพล ผู้ริเริ่มโครงการสตอร์มเบรกเกอร์ เวนเจอร์ ก็ยอมรับในการประชุมนานาชาติว่า การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนยังมีอุปสรรคสำคัญบางประการ

“คุณต้องเข้าใจว่า หน่วยงานภาครัฐมีข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินงานโดยรวมถึง 200,000 ข้อ” เขาหัวเราะ “ผมพูดความจริง บางข้อไม่เคยถูกแก้ไขตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คุณต้องยอมรับว่าการดำเนินงานของพวกเขาอาจล่าช้า เท่ากับที่ต้องยอมรับว่าหน่วยงานภาครัฐมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชนมากกว่า พวกเขามีข้อมูล รู้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ผลิตภัณฑ์บางชนิด นวัตกรรมบางประเภทดูดีบนกระดาษ แต่ล้มเหลวเมื่อนำไปใช้ ในที่สุด คุณต้องยอมรับข้อจำกัดของชุมชน และให้ชุมชนเป็นแกนนำแก้ไขปัญหาของตนเอง”

เลิร์นนิ่ง พาสปอร์ต: ความร่วมมือไร้พรมแดนและปราการวัฒนธรรม

นอกจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนในประเทศ ยังมีความร่วมมือระหว่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย

เลิร์นนิ่ง พาสปอร์ต (Learning Passport) เป็นโครงการซึ่งมีที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ทั่วโลก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) ไมโครซอฟต์ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยแม็ค โกลวินสกี้ (Mac Glovinsky) ผู้แทนจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติอธิบายในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ว่า โครงการดังกล่าวมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งเด็กๆ ที่ขาดการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และรัฐบาล เป็นเครื่องมือกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพสู่พื้นที่ต่างๆ แม้มีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ “พวกเราต้องการเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาที่ดีที่สุดของรัฐบาล” เขาย้ำ

โครงการเลิร์นนิ่ง พาสปอร์ตมุ่งให้การเรียนรู้แบบดิจิทัลแก่เด็กๆ ทั่วโลกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื้อหาบทเรียนในแต่ละประเทศจึงต้องถูกปรับปรุงในสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาเนื้อหา และได้กำหนดแนวทางปรับปรุงเนื้อหาบทเรียนโดยเน้นบูรณาการภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในบทเรียน รวมถึงเคารพวัฒนธรรมเหล่านั้น

หน้าแรกของเว็บไซต์โครงการในติมอร์-เลสเตที่ใช้ภาษาเตตุมเป็นภาษาราชการ

คู่มือการปรับปรุงเนื้อหาบทเรียนของโครงการระบุชัดเจนว่า เนื้อหาที่ถูกดัดแปลงต้องมีการใช้ตัวอย่าง หรืออ้างถึงวัตถุในสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนอาศัย โดยหากผู้เรียนเป็นผู้อพยพ ตัวอย่างที่ถูกใช้หรือวัตถุที่ถูกอ้างถึงควรมีความสัมพันธ์กับภูมิลำเนาหรือชาติพันธุ์ของผู้เรียน ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรู้จักตนเอง และเชื่อมโยงตนเองกับประชาคมโลกผ่านองค์ความรู้สากล ซึ่งจะพัฒนาทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง

คู่มือดังกล่าวยังกล่าวถึงการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ ในรัฐอะแลสกา พบว่าการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัย การเพาะปลูก การบอกตำแหน่งวัตถุท้องฟ้า การถนอมอาหาร เป็นต้น ส่งผลให้เด็กๆ รับมือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติได้ดีขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวิถีชีวิตและท้องถิ่นของตนเอง

การตากปลาซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีถนอมอาหารเพื่อบริโภคในฤดูหนาว (ค.ศ. 1901-1911) ซึ่งยังพบทั่วไปในรัฐอะแลสกา

การปรับปรุงเนื้อหาที่ท้าทายที่สุด คือ การปรับปรุงเนื้อหาบทเรียนวิวัฒนาการมนุษย์ การวางแผนครอบครัว และอนามัยเจริญพันธุ์ พร้อมๆ กับเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งนอกจากการตัดทอนรายละเอียดบางอย่าง และการบรรจุเนื้อหาดังกล่าวในบทเรียนระดับชั้นที่สูงกว่าปกติ คู่มือยังแนะนำว่าการเปลี่ยน ‘เลนส์’ ที่ใช้ในการพิจารณาประเด็นนั้นๆ ช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยเลนส์ดังกล่าวควรมีความสอดคล้องกับปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองชาวอินเดียยอมรับบทเรียนการคุมกำเนิดซึ่งเดิมถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสมได้ หากบทเรียนดังกล่าวเน้นประโยชน์ของการคุมกำเนิดต่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้ปกครองชาวโซมาเลียก็ยอมรับบทเรียนข้างต้นได้เช่นกัน หากเนื้อหาบทเรียนชี้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากการล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร

นอกจากนี้ คู่มือยังเน้นการบรรจุภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ที่หลากหลายในเนื้อหาบทเรียน โดยเฉพาะของชนพื้นเมือง ซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้าใจของเด็กๆ เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของตนเองและพัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วย

แม้เลิร์นนิ่ง พาสปอร์ตจะให้การเรียนรู้แบบดิจิทัลที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ทว่า โกลวินสกี้ชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างองค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลนั้นไม่อาจมีประสิทธิภาพเต็มที่ หากปราศจากความร่วมมือของชุมชนที่เข้มแข็ง รวมถึงความร่วมมือของสมาชิกครอบครัวของผู้เรียน “ความร่วมมือเหล่านี้จะไม่มีความหมาย หากในที่สุด สภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนอาศัยไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ สมาชิกชุมชน ครู เพื่อน และครอบครัวของผู้เรียนต้องสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วย”

เห็นได้ชัดว่าหัวใจของการเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาของรัฐ ทุน และชุมชน ทั้งในและระหว่างประเทศ คือการให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือ ความเชี่ยวชาญ และเข้าใจข้อจำกัดของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม เพราะการยกระดับการศึกษาย่อมไม่อาจสัมฤทธิ์ผลในข้ามคืน หากเป็นโครงการระยะยาวที่พึ่งพาการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานภาคเอกชนและท้องถิ่นย่อมต้องการความริเริ่มและข้อเสนอเชิงนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐและชุมชนย่อมต้องการเทคโนโลยีและทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน และทั้งสองหน่วยงานย่อมต้องการภูมิปัญญาของชุมชนเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ไม่ละเลยใคร ไม่ว่าเด็กๆ ในเมืองใหญ่ หรือเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด

เพราะรัฐ ทุน ชุมชนต่างเป็นองคาพยพของสังคม ความเป็นมาและเป็นไปของฝ่ายหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง การพัฒนาระบบการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมจึงไม่อาจถูกขับเคลื่อนโดยลำพัง เมื่อการพัฒนาสังคมเป็นภารกิจที่ทุกคนมีร่วมกัน การสร้างฉันทามติเพื่อนำไปสู่ความตระหนักในภารกิจ และความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของภารกิจนั้น จึงเป็นทั้งความท้าทายและกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world