ทิศทางการศึกษาไทยในยุค “โลกป่วน”

ทิศทางการศึกษาไทยในยุค “โลกป่วน”

ในยุคโลกป่วน ประชากรที่มีรายได้น้อยซึ่งมีทักษะที่สามารถแทนที่ได้ง่ายโดยเทคโนโลยี คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรอบด้านนี้ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อะไรคือกุญแจนำประเทศไทยผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงได้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมสัมมนาวิชาการในหัวข้อ Disruption and Education: Challenges, Dynamics, Way Forward ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่า London School of Economics and Political Science (LSE) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ โดยมี Dame Minouche Shafik ผู้อำนวยการ LSE ได้ให้เกียรติเดินทางมาแสดงปาฐกถาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

____________________________________________________________

หลายคนอาจคุ้นเคยกับวลีที่ว่า “Education for All” แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาอาจไม่รู้ว่าหลักการนี้ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน หรือ World Conference on Education for All ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดกับองค์การยูเนสโก ธนาคารโลกและองค์การยูนิเซฟเป็นครั้งแรก ที่หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ในปี 2533 และนำมาสู่การประกาศ “ปฏิญญาจอมเทียน” ว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน

สำหรับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การประชุมครั้งนั้น ไม่เพียงเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการการศึกษาโลก แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาไทยที่แม้จะผ่านมาเกือบสามทศวรรษแล้ว แต่ภารกิจนี้ก็ยังไม่เสร็จสิ้นและเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนไม่เพียงนักการศึกษาหรือกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องสานต่อภารกิจที่ยังค้างคานี้ให้บรรลุเป้าหมายของปฏิญญาจอมเทียน ทั้งเรื่องการขยายการดูแลเด็กปฐมวัย การขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึงและการปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

“Education for All” เป็นหลักการที่หน่วยงานด้านการศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญมาก และยิ่งสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในหลายมิติหรือที่บางคนเรียกว่า ยุค “โลกป่วน” (Disruptive world) แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ พันธสัญญาเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีต่อเด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพภายศตวรรษที่ 20 นั้นยังไม่ได้รับการบรรลุเป้าหมายแม้เวลาจะล่วงเลยเข้ามาสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วถึงเกือบ 2 ทศวรรษแล้วก็ตาม

 

“ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรอบด้านนี้ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ”กสศ.จึงให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย และการแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเพราะมีเด็กจำนวนมากที่เข้าเรียนช้ากว่าที่ควรจะเป็นเราทุ่มเทกับการค้นหาเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเหล่านี้ พร้อมกับหาคำตอบว่าครอบครัวและเด็กต้องการการสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อที่เด็กจะได้เข้าเรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพทุกคน” ดร.ไกรยส กล่าวในเวทีสัมมนาวิชาการจัดโดยสมาคมศิษย์เก่า London School of Economics and Political Science (LSE) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธปท. โดยมี Dame Minouche Shafik ผู้อำนวยการ LSE ได้ให้เกียรติเดินทางมาแสดงปาฐกถาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในหัวข้อ Disruption and Education: Challenges, Dynamics, Way Forward โดยมีคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ร่วมอภิปราย

 

__________________________________________________________

การปฏิรูป “หลักสูตร” และ “ครู” ความจำเป็นเร่งด่วนในยุคนี้
__________________________________________________________

 

Dame Minouche ได้นำเสนอภาพอนาคต “โลกป่วน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า ภายในปี 2030 งานที่เคยใช้คนมากกว่า 375 ล้านคนจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเช่น Automation และ Artificial Intelligence และนักเรียนที่เข้าประถมศึกษาในวันนี้กว่าร้อยละ 65 จะต้องไปทำงานที่ยังไม่เคยมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นอัตราการเปลี่ยนงานในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 20 ตำแหน่งงานตลอดชีวิตการทำงาน โดยประชากรที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดคือประชากรที่มีรายได้น้อยซึ่งมีทักษะที่สามารถแทนที่ได้ง่ายโดยเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่รวดเร็วและรุนแรงเช่นนี้หากไม่ได้รับการวางแผนและจัดการที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดวิกฤตการทางการเมืองและสังคมได้ ดังตัวอย่างเช่นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่รัฐบาลประชานิยมได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับนานาชาติ

เธอเสนอว่าทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูป “หลักสูตร” และ “ครู”
​“หลายประเทศยังคงใช้หลักสูตรแบบเก่าที่เน้นให้เด็กท่องจำเพื่อไปสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์และเสียเวลาของทุกฝ่าย ในโลกยุคนี้เราต้องการหลักสูตรที่กระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงวิเคราะห์และรู้จักการทำงานเป็นทีม และหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการะบบการศึกษาล้วนแต่ให้ความสำคัญกับครู เช่น ในสิงคโปร์และฟินแลนด์ ครูจะต้องมีคุณภาพและได้รับค่าตอบแทนสูง”

 

__________________________________________________________

3 เรื่องสำคัญที่ต้องจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนสู่อนาคต
__________________________________________________________

 

ผู้อำนวยการ LSE กล่าวว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาโลกป่วนนี้ต้องเริ่มจากการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อการเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศสู่อนาคตใน 3 กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

  • การลงทุนเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยตั้งแต่ในระดับปฐมวัย ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันก่อนที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเกิดขึ้น (Predistribution Investment) ที่จะช่วยให้ประชากรรุ่นใหม่ของครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้ทุนพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนเริ่มศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และใช้คืนกลับผ่านระบบภาษีรายได้ในอนาคต ประสบการณ์ที่ได้ผ่านกระบวนการนี้จะช่วยให้การลงทุนในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในหลายมิติ
  • มาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทที่ลงทุนพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ๆให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้นายจ้างมีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาลูกจ้างเดิมแทนที่จะให้ออกและจ้างคนใหม่ รวมถึงมาตรการสนับสนุนผู้ว่างงานให้มีงานทำโดยเร็วภายใน 1 ปีหลังออกจากงาน เพื่อป้องกันปัญหาการว่างงานที่จะลดหย่อนสมรรถนะการทำงานของกำลังคนในระยะยาว

 

__________________________________________________________

Equity-Based Budgeting ปฏิรูปการลงทุนด้านการศึกษา
กุญแจนำประเทศไทยผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงได้
__________________________________________________________

 

ในช่วงการอภิปราย ดร.ไกรยส กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของ ผู้อำนวยการ LSE ว่าความเข้าใจของผู้กำหนดนโยบายต่อความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดของประเทศหรือกลุ่ม “Bottom 40” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

“ข้อเสนอการปฏิรูปการลงทุนด้านการศึกษาก่อนจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Predistribution Policy) หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่าการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่างเสมอภาค (equity-based budgeting) คือกุญแจที่จะนำพาประเทศไทยให้เดินทางผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพของประชากร 40 เปอร์เซนต์ที่มีรายได้ต่ำสุดกลุ่มนี้ เพื่อผลักดันให้พวกเขาได้รับโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ออกจากกับดักความยากจน และเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในโลกที่ปั่นป่วนในอนาคต” ดร.ไกรยสกล่าว          ​

เหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ อีกทั้งยังมีงานใหม่ๆ ที่ต้องการชุดทักษะใหม่ ๆ (skill set) เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งคำถามที่ท้าทายทุกฝ่ายในวงการการศึกษาโลกวันนี้คือ
การศึกษาและการเรียนรู้แห่งอนาคตคืออะไร ?
ลูกหลานของเราจะเรียนรู้อะไรในอีก 50 ปีข้างหน้า ?
“ทุกวันนี้ ไม่ว่าไปที่ไหนเราจะพบแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือห้างสรรพสินค้า ล้วนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่สถานที่หนึ่งที่แทบไม่เปลี่ยนไปเลยคือโรงเรียนและห้องเรียน โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล ทุกอย่างยังเหมือนเดิม” ดร.ไกรยสตั้งข้อสังเกต “ถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนอย่างจริงจังว่า การศึกษาและการเรียนรู้แบบไหนที่เราต้องการ”

คุณอริยะ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เห็นด้วยว่าระบบการศึกษาของไทยมีจุดที่ต้องเสริมความเข้มแข็งอีกหลายจุด หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาทักษะของเด็กเพื่อรองรับงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เขาเล่าประสบการณ์ของ LINE ในการสรรหาบุคคลมาทำงานนตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายสติกเกอร์” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่ “สติกเกอร์” ในแอพพลิเคชั่น LINE ได้รับความนิยมมาก

“หัวหน้าฝ่ายสติกเกอร์ฟังดูเหมือนไม่ใช่งาน แต่มันเป็นงานที่สำคัญมากเพราะคนๆ นี้ต้องดูแลธุรกิจที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ตำแหน่งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่ LINE”