‘เสรีภาพ’ มาตรวัดการพัฒนาในทรรศนะ ‘อมาตยา เซน’
โดย : ชลิดา หนูหล้า

‘เสรีภาพ’ มาตรวัดการพัฒนาในทรรศนะ ‘อมาตยา เซน’

ในการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 หนึ่งในไฮไลท์สำคัญที่คนให้ความสนใจคือ การกล่าวนำของ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษาในโลกอันผันผวนจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 (Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic?) โดยเซนกล่าวถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางการศึกษาในการป้องกันและรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

อมาตยา เซน

เซนเชื่อว่าการเข้าถึงการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมทั้งในระดับมหภาคและระดับบุคคล โดยนอกจากเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม สังคมที่มีความเข้มแข็งเช่นนั้นย่อมเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองมากกว่า ดังนั้น พื้นที่ที่รับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้ดีกว่า จึงมีแนวโน้มเป็นพื้นที่ที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย อาทิ รัฐเกรละในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุด

แม้เซนจะใช้เวลาในการพูดไม่นาน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเส้นแบ่งเวลาและระยะทาง แต่สารอันกระชับที่เขาสื่อกับที่ประชุมก็ชวนให้เรากลับไปครุ่นคิดถึงปรัชญาพื้นฐานของการพัฒนา ซึ่งอยู่เบื้องหลังความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลผู้นี้

เพราะเหตุใดเซนจึงเชื่อว่าความเสมอภาคทางการศึกษาจะนำมาซึ่งความสามารถในการรับมือและแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในการรับมือโรคอุบัติใหม่และการเข้าถึงการศึกษาย่อมเลือนลางกว่าระหว่างการพัฒนาระบบสุขภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกอธิบายอย่างครอบคลุมใน Development as Freedom (การพัฒนาคือการสร้างเสรีภาพ) หนึ่งในงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา

อาจกล่าวได้ว่า อมาตยา เซนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้พัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่การยกระดับทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจเป็นผลของความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง เซนเติบโตในรัฐเบงกอลตะวันตกอันเป็นหนึ่งในรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และนำมาซึ่งความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม โดยในรัฐเบงกอลตะวันตกนั้นมีประชากรผู้นับถือศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ คริสต์ เชน และซิกข์ รวมถึงผู้พูดภาษาเบงกาลี ฮินดี สันถาลี อูรดู ฯลฯ ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐเบงกอลตะวันตกอาศัยในชุมชนเล็กๆ และมากกว่าครึ่งของจำนวนที่เหลืออาศัยในเมืองหลวงคือโกลกาตา[1] ประสบการณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งผูกพันกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของเซนจึงให้กำเนิดงานเขียนและงานวิจัยที่สำคัญด้านความยากจนและการพัฒนาเป็นจำนวนมาก โดย Development as Freedom เป็นหนึ่งในงานเขียนเหล่านั้น

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวของเซนคือการกระทำความรุนแรงต่อชายชาวมุสลิมระหว่างการแบ่งอินเดีย (Partition of India) ในละแวกที่เขาเติบโต โดยเซนเห็นชายชาวมุสลิมผู้เป็นลูกจ้างรายวันซวดเซด้วยบาดแผลฉกรรจ์บนหลังจากการถูกแทงด้วยมีด เซนเชื่อว่าหากครอบครัวของชายคนดังกล่าวมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เขาจะไม่ต้องดั้นด้นหางานในพื้นที่อาศัยของชาวฮินดูขณะที่ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมทวีความรุนแรง และถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต

การจลาจลในโกลกาตา ค.ศ. 1946 อันเป็นการปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม
ก่อนการแบ่งอินเดีย 1 ปี มีผู้เสียชีวิตราว 4,000 คน[2]

ในงานเขียนข้างต้น เซนกล่าวถึงการพัฒนาว่าเป็นกระบวนการเพิ่มพูนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ดังนั้น ขอบเขตของเสรีภาพจึงเป็น ‘มาตรวัด’ หรือเครื่องบ่งชี้ระดับการพัฒนาในสังคมนั้นๆ ไม่ใช่สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร โดยเสรีภาพของเซนหมายถึงการไม่ถูกกีดกันจากทางเลือกที่หลากหลาย มีอิสระและความปลอดภัยในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของตนเอง หรือปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการมีความเป็นอยู่ที่ดีนั่นเอง[3]

เสรีภาพของเซนจึงครอบคลุมเสรีภาพทางการเมือง อันหมายถึงความสามารถในการตรวจสอบและสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการมีผู้แทนของตนในรัฐสภา การได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจอันครอบคลุมการได้รับจัดสรรทรัพยากรและการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขและการศึกษา รวมถึงมีความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการดำเนินชีวิต

ก่อนการตีพิมพ์งานเขียนดังกล่าว ‘เสรีภาพ’ ข้างต้นมักถูกพิจารณาเป็น ‘เส้นชัย’ ของการพัฒนา ทว่าใน Development as Freedom นั้น เซนแย้งว่าเสรีภาพในงานเขียนของเขาเป็นทั้งเส้นชัยและแนวทางการพัฒนาสังคม เพราะเสรีภาพในมิติที่แตกต่างกันเหล่านี้จะเกื้อกูลกัน เป็น ‘ต้นสาย’ และ ‘ปลายเหตุ’ อันไม่รู้จบของกันและกัน โดยการเพิ่มพูนเสรีภาพหรือ ‘ความสามารถของปัจเจกบุคคลอันนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี’ ในมิติหนึ่ง ย่อมนำไปสู่การส่งเสริมเสรีภาพในมิติอื่นๆ อาทิ การพัฒนาระบบสุขภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาย่อมส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจะมีการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่รอบคอบกว่า เข้าใจสิทธิพลเมืองและการเมืองของตนเองมากกว่า

จากแนวความคิดดังกล่าว ความเสมอภาคทางการศึกษาจึงไม่เพียงยกระดับทรัพยากรมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ให้สามารถรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพ การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม และการมีรายได้ที่มั่นคง ทว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับการพัฒนาในมิติอื่นๆ ของสังคมนั้นๆ ที่นำมาซึ่งประสิทธิภาพในการรับมือโรคอุบัติใหม่นี้ด้วย ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ผู้เรียนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจนสามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันหรือไม่ ประชากรได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาหรือไม่ อย่างไร มีความตระหนักในสิทธิพลเมือง และความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

แม้การวิพากษ์ปัญหาอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใน Development as Freedom จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ครอบคลุมนัก อย่างไรก็ตาม งานเขียนและงานวิจัยของเซนที่เน้นการลดปัญหาความยากจนด้วยการปฏิรูปสังคมโดยเชื่อว่าความก้าวหน้าและเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขจะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนยังได้รับความสนใจจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ประสบปัญหาการจัดสรรทรัพยากรจำนวนมาก

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาผู้นี้ จึงควรแก่การศึกษาทั้งในฐานะ ‘เส้นชัย’ ของการพัฒนาสังคมอย่างครอบคลุม และ ‘แนวทาง’ ของการพัฒนาในมิติต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งสังคมเปี่ยมคุณภาพ พร้อมรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน


อ้างอิง

[1] ที่มา: West Bengal – Britannica

[2] ที่มา: India’s Muslims and the Price of Partition

[3] David Seddon, “Book Review: Development as Freedom,” Global Social Policy 1, no. 2 (August 2001): 240, doi:10.1177/146801810100100209.


หมายเหตุ

ความเห็นของอมาตยา เซนว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษากับการจัดการปัญหาโรคระบาดมาจากงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา หัวข้อ “Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic? ความเสมอภาคทางการศึกษา: หมายถึงอะไร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางการระบาดโควิด-19” โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world