การศึกษาไม่ขาดช่วง เชื่อมผู้ปกครองและโรงเรียนช่วงหยุดอยู่บ้าน

การศึกษาไม่ขาดช่วง เชื่อมผู้ปกครองและโรงเรียนช่วงหยุดอยู่บ้าน

“โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนการสอนหยุดไม่ได้”

แนวคิดสำคัญที่ทำให้คุณครู​ ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นตั้งใจค้นหากลไกการทำงานเพื่อทำให้​การเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

ปัญหาอยู่ที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมักเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำให้หลายครอบครัวไม่อาจเรียนผ่าน DLTV หรือ การเรียนการสอนแบบ On air ในขณะที่การเรียนการสอนแบบ On site ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณครูที่จะไปส่งใบงานแบบฝึกหัดยังบ้านนักเรียนที่อยู่ห่างไกลและบางพื้นที่เดินทางยากลำบาก

อาสาสมัครการศึกษา หรือ อสม.การศึกษา จึงเป็นอีกกลไกสำคัญที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้าน ด้วยจุดเด่นที่ใช้คนในพื้นที่เข้ามาเป็นตัวกลางประสานระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครอง

ที่ผ่านมาหลายพื้นที่นำโมเดลนี้ไปใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดชะงัก รวมทั้งยังช่วยดูแลด้านสุขภาวะ และชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมรวบรวมข้อมูลที่ได้แจ้งกลับมายังสถานศึกษาเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียน

 

รร.ส่วนใหญ่ในอีสานขนาดเล็กครูน้อย
ไม่เพียงพอจะนำสื่อใบงานไปให้เด็กทั่วถึง

อนุกลู ศรีสมบัติ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 3 เล่าให้ฟังถึงการทำงานช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเขตพื้นที่อีสานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 รอบที่แล้ว เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง รองผอ.สพป.เลย เขต 1 ซึ่งมีเด็กหลายกลุ่มทั้งเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนภูเขาสูง ในไร่ ในสวนยางพารา ​ด้วยสภาพพื้นที่ทำให้เด็กจำนวนมากไม่สามารถเรียนรู้แบบ Online หรือ On air ได้ เพราะบางบ้านไม่มีทีวี บางบ้านมีอินเตอร์เน็ต บางบ้านไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า

โรงเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่อีสานเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครู 3-4 คน การจะให้ครูออกไปดูนักเรียน ทำแบบฝึกหัด คงไปได้ไม่ทั่วถึงครบทุกคนแน่นอน ดังนั้น การมีจิตอาสาในพื้นที่ซี่งเป็นคนในชุมชนเองเข้ามาช่วยเหลือดูแลนักเรียน ไปดูว่าแต่ละบ้านมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร มีไฟฟ้าไหม มีทีวีไหม เรียนออนแอร์ได้ไหม พร้อมช่วยครูนำสื่อใบงาน แบบฝึกหัดไปให้เด็ก เป็นตัวกลางเชื่อมครูกับนักเรียน

“อาสาสมัครเหล่านี้จะเป็นเหมือนไปรษณีย์ที่ไปรับส่งเอกสาร​เขาอาจไม่ได้ตรวจแบกฝึกหัดใบงาน แต่จะเป็นคนที่นำมาส่งให้คุณครูหากเด็กมีปัญหาก็จะนำมาสอบถามแล้วกลับไปบอกเด็ก หรือเรื่องไหนง่ายๆ เขาก็จะตอบได้เพราะเป็นความรู้ระดับประถม อีกด้านเขาจะช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ เพราะในพื้นที่ครูจะเดินไปหาเด็กทุกคนก็ยาก ยกตัวอย่าง อ.ด่านซ้าย จ.เลยแต่ละโรงเรียนห่างกัน 60-70 กม. แต่ละหมู่บ้านก็ห่างกัน อยู่กันคนละยอดดอย”

 

ไม่ใช่แค่ดูเรื่องการศึกษา
แต่ดูแลสุขภาพอนามัย ชีวิตความเป็นอยู่

 ส่วนใหญ่อาสาสมัครการศึกษาจะเป็นคนในหมู่บ้านทั่วไป เป็นคนที่ไม่ได้ทำงานอายุประมาณ​ 30-35 ปี  ครูก็จะไปหาคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เขาอยากจะเข้ามาทำตรงนี้ เริ่มต้นจะมีการปฐมนิเทศแยกกันในแต่ละจังหวัด วางแนวทางการทำงานที่เป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นว่าจะต้องทำอะไรบ้าง​อีกด้านหนึ่งก็จะมีรายละเอียดของแต่ละโรงเรียนที่จะเพิ่มเติมขึ้นมา โดยจิตอาสาจะได้รับค่าตอบแทนเช่นค่าดูแลนักเรียน ค่าน้ำมัน เบี้ยประชุมที่รวมแล้วก็ไม่ได้มาก แต่ก็พอให้เขาทำงานได้

นอกจากเรื่องการศึกษา อาสาสมัครกลุ่มนี้ยังต้องดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยคอยสอดส่องดูกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้ปกครอง จ.เลย ที่ออกไปขายล็อตเตอรี เมื่อกลับเข้ามาในพื้นที่ก็ต้องคอยให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง รวมทั้งคอยให้คำแนะนำเด็กเรื่องการดูแลป้องกันตัวเองด้วย 7-8 ขั้นตอนการป้องกันความเสี่ยง เช่น เรื่องการใช้หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ ซึ่งจะทำงานควบคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน​​

 

การศึกษาไม่ขาดช่วง
เชื่อมผู้ปกครองและโรงเรียนช่วงโควิด

รวมถึงเรื่องการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ว่าจะมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือได้ เช่น บางครั้งเด็กนักเรียนอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย มีปัญหาเรื่องจานดาวเทียม อาสาสมัครก็จะไปช่วยติดตั้ง ช่วยปรับจูนให้เขาเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมได้ ​และช่วงที่โรงเรียนกลับมาเปิดสอนได้อาสาสมัครเหล่านี้ก็ยังมาช่วยดูแลเรื่องสุขอนามัย แสกนอุณหภูมิ และช่วยเหลือคุณครูในด้านอื่นๆ 

“อาสาสมัครกลุ่มนี้ช่วยทำให้การศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลไม่ขาดช่วง ด้วยสภาพพื้นที่ครูที่มีจำนวนน้อยยากที่จะไปเยี่ยมบ้านเด็กได้ครบในขณะที่การเรียนออนไลน์ อออนแอร์ ยังไม่สมบูรณ์แบบ อาสาสมัครกลุ่มนี้จะเป็นทั้งไปรษณีย์​​ เพราะใบงานเองแม้จะมีข้อดีแต่ก็ยังไม่ดีเท่าเรียนในห้องเรียน  แต่ก็ดีกว่าให้เด็กนั่งดูทีวีอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเด็กทำได้ ไม่ได้ แต่ถ้าให้เด็กทำแบบฝึกหัด ใบงานแล้วให้ผู้ปกครองช่วยดู หรือบ้านไหนมีแต่ตายายจิตอาสาก็จะเข้ามาช่วยดูก็จะช่วยผู้ปกครองได้มาก” 

ความสำเร็จทีเกิดขึ้ทำให้​นักเรียน 7,993 คน จาก 51 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเขตพื้นที่อีสาน ได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ผ่านอาสาสมัครการศึกษา 102 คน ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดตัว รวมทั้งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย  มีสุขอนามัยที่ดี ทั้งหมดมาจากความร่วมมือของบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ ภายใต้โครงการหนุนเสริมการเรียนรู้และสุขภาวะสำหรับนักเรียนพื้นที่ห่างไกลในสถานการณ์ COVID-19 (โรงเรียนเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)​ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค