ใช้ชุมชนเป็นฐานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ใช้ชุมชนเป็นฐานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท คือหนึ่งในการรวมตัวของคนในพื้นที่ ในโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ประสบผลสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่ง โดยโครงการในขวบปีแรกสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 100 คน ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นราว 1, 200 บาทต่อคน/สัปดาห์ แม้เป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19

ขณะที่นอกเหนือไปจากการเป็นที่พึ่งพิงของประชากรวัยแรงงานแล้ว ผลจากโครงการยังสามารถสะท้อนไปถึงกลุ่มเด็กนักเรียนทุนเสมอภาค ที่เคยสุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์

สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองสนิท จ.สุรินทร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ ฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นรวบรวมสมาชิกเข้ามาสู่กลุ่มพัฒนาอาชีพ โครงการฯ ได้วางกลุ่มเป้าหมายหลักไว้คือกลุ่มแม่บ้านที่มีบุตรหลานในวัยเรียน รวมถึงส่วนใหญ่ยังมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ความที่เป็นครอบครัวแหว่งกลาง แม่บ้านกลุ่มนี้จึงต้องทำงานนอกบ้านและผลักภาระในการดูแลบุตรหลานไปที่ผู้สูงอายุ

ขณะที่แม้จะทุ่มเททำงานอย่างหนัก รายได้ก็ไม่เคยแน่นอน เด็กๆ ในบางครอบครัวจึงจำเป็นต้องออกไปช่วยผู้ปกครองทำงานหาเงินอีกแรงหนึ่ง นำมาซึ่งการขาดเรียนบ่อยๆ ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนตกต่ำ และในที่สุดก็มองไม่เห็นว่าจะไปต่อได้อย่างไรบนเส้นทางการศึกษา

“ทุกคนในครอบครัวเหล่านี้มักต้องจมอยู่กับความเครียดกังวลเรื่องปากท้อง มีหนี้สิน หรือปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่ตลอดเวลา ผลการเรียนของเด็กกลุ่มนี้จึงต่ำกว่ามาตรฐานมาก บางคนที่ขาดเรียนบ่อยเข้าก็ไม่ได้ไปสอบ ไม่ตามงาน แล้วก็ตัดสินใจเลิกเรียนไปเอง” หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองสนิท กล่าว

 

ปรับทัศนคติ สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเอง

พอชุมชนของเรามองเห็นปัญหาร่วมกันแล้ว ก็มาคิดกันว่าจะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายมีอาชีพเลี้ยงตัวได้เร็วที่สุด โดยโครงการฯ เราเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ที่เรามีชุมชนเป็นฐานพร้อมรองรับทั้งความรู้ พื้นที่ และต้นทุนอื่นๆ คือทางออกที่จะพาให้ไปถึงเป้าหมายได้ แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น เราต้องเริ่มที่การปรับทัศนคติ สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายมองเห็นว่าต้นทุนที่เขามีในชุมชนจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพได้จริง

“วิธีที่เราใช้คือแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 5-6 คน คละคนที่มีทักษะ วิธีคิด และประสบการณ์รวมกับคนที่ยังไม่เคยผ่านงานด้านเกษตรอินทรีย์มาก่อน เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลและหนุนเสริมผลักดันระหว่างกันในหมู่สมาชิกกลุ่ม พร้อมกันนั้นคือมุ่งหาความถนัด จุดเด่น และสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจให้พบ ตลอดจนหาวิธีการที่น่าสนใจในการสร้างความรู้ ความสนในงานด้านการเกษตร และต้องทำให้ทุกคนมีแรงบันดาลใจเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาตนเอง”

ในเวลาไม่นาน กลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยคิดว่าตนจะสามารถทำการเกษตรได้ ก็กลับกลายมาเป็นคนชอบปลูกผักและหารายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ได้ หรือบางส่วนที่ยังค้นหาตนเองไม่พบจริงๆ ทางโครงการฯ ก็สนับสนุนให้เปิดร้านขายอาหารและร้านขายน้ำในพื้นที่โครงการฯ บ้างกลายเป็นอาชีพหลัก บ้างก็เป็นงานเสริม ซึ่งช่วยขจัดความเครียดกังวลที่สะสมเรื้อรังมานานได้ ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่พร้อมปลูกผักขาย ก็เริ่มทดลองทำแปลงผักเล็กๆ ในบริเวณบ้านไว้บริโภคเอง ซึ่งถึงแม้ยังไม่ก่อรายได้แต่ก็ช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารในแต่ละเดือน จนมีเงินเหลือพอสะสมเพิ่มขึ้น

 

ไม่ใช่แค่งานหรือรายได้ หากสิ่งสำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ‘เวลา’

ผู้รับผิดชอบโครงการฯ สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท กล่าวว่า การทำโครงการฯ ขึ้นมา ในทีแรกเราคิดเพียงว่าจะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวที่แน่นอน แต่กลับกลายเป็นว่ามีผลลัพธ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็น หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น คือผลการเรียนของเด็กๆ ที่ดีขึ้น เนื่องจากได้ไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และมีผู้ปกครองช่วยดูแลเรื่องการบ้านการเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากการที่กลุ่มเป้าหมายมี ‘เวลา’ เพิ่มมากขึ้น

“เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มเป้าหมายว่าการปลูกผักอินทรีย์ไม่เพียงก่อรายได้ แต่ยังทำให้พวกเขามีเวลาคุณภาพเพิ่มขึ้น ไม่ต้องออกจากบ้านแต่เช้ากลับดึกดื่นเหมือนอย่างเคย สิ่งที่ตามมาคือความสัมพันธ์ในครอบครัวเขาก็ดีขึ้นไปด้วย นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลไปถึงเด็กๆ เพราะเวลาที่เพิ่มขึ้นมาทำให้พวกเขาได้รับการเอาใจใส่เรื่องเรียนจากผู้ปกครองมากกว่าเมื่อก่อน ส่วนรายได้ที่เพียงพอก็ทำให้ไม่ต้องออกไปช่วยทำงานหาเงิน เด็กมีเวลาเรียนมากขึ้น ไม่เครียดกังวลก็มีสมาธิ เรียนทันเพื่อน มีผลการเรียนดีขึ้น โอกาสออกจากโรงเรียนกลางคันก็ลดลง”

 

มุ่งค้นหากลุ่มเป้าหมายที่มีเด็กๆ ทุนเสมอภาคเพิ่มขึ้น

และจากผลลัพธ์ในปีแรก การก้าวสู่ปีที่สองของโครงการฯ จึงได้มีการสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่มีบุตรหลานวัยเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มทุนเสมอภาคของ กสศ. มากขึ้น เพื่อรับทราบปัญหา และเชิญชวนให้เข้ารับการอบรมฝึกอาชีพในสหกรณ์ชุมชนพืชผักหนองสนิทต่อไป

“ตอนนี้เรามั่นใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการคือ ‘คุณภาพชีวิต’ ซึ่งหมายความรวมหมดทั้งงานอาชีพ รายได้ที่เพียงพอ เวลา และบรรยากาศการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ในชุมชน เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ในชุมชนใดก็ตาม เด็กๆ ก็จะไปโรงเรียนได้อย่างไม่กังวล คนวัยแรงงานก็อยู่ได้อย่างสบายใจ ด้วยความเชื่อที่ว่า อย่างน้อยถ้าบ้านเรายังมีผัก มีน้ำพริก มีไก่ มีไข่ เราก็อยู่ได้โดยไม่ต้องกลัววิกฤตเรื่องปากท้องอีก แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเป็นขาลงก็ตาม” หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองสนิท กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค