สร้างจุดเด่น จากฐานเข้มแข็งทรัพยากรในพื้นที่

สร้างจุดเด่น จากฐานเข้มแข็งทรัพยากรในพื้นที่

เราไม่ได้ทำสบู่แค่เพื่อขายสบู่ แต่เราต้องการให้สบู่เป็นหน้าต่างบานหนึ่งเพื่อเปิดไปหาหมู่บ้านและไปเจออาชีพต่างๆ ในชุมชน กล่องสบู่ที่ออกแบบมา จะเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยว ชูจุดเด่นทั้งหมด ​เราจะมี QR Code ที่มีลิ้งค์เข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคนในชุมชน

ขมิ้นฤาษี หรือ ขมิ้นเครือ นับเป็นของดีประจำถิ่นซี่งพบได้มากในพื้นที่ น้ำตกจำปูน ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร และด้วยสรรพคุณลดการอักเสบ รักษาแผลพุพอง ชาวบ้านในพื้นที่จึงร่วมกันคิดค้นพัฒนาจนออกมาเป็น สบู่สมุนไพรน้ำผึ้งออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “แม่จำปูน” สร้างรายได้เสริมจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน

เดิมทีชาวบ้านทำสบู่ใช้กันเองในครัวเรือนแต่ยังเป็นสบู่ธรรมดาที่ไม่ได้มีมาตรฐานเท่าไหร่ จนกระทั่ง ทีมงานจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เข้ามาช่วยพัฒนาเริ่มต้นทำเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

จากสภาพชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ถนนยังเป็นลูกรัง ในช่วงที่ฝนตกหนักถนนจะถูกตัดขาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฟ้าฝน การสร้างอาชีพเสริมจึงเป็นอีกหนทางช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ว่างงานและผู้สูงอายุ 

 

สร้างจุดเด่น จากฐานเข้มแข็งทรัพยากรในพื้นที่

ดร.ศุทธิกานต์ คงคล้าย อาจารย์สาขาบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า ​​น้ำตกจำปูน เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนตั้งแต่เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในครัวเรือนไปจนถึงการทำการเกษตร​อีกทั้งปัจจุบันน้ำตกแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ซึ่งนำมาสู่การมีธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งโฮมสเตย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับ  

ทั้งนี้ เมื่อทางโครงการเข้ามาทำงานกับชาวบ้านได้พยายามหาจุดเด่นที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ จนชาวบ้านเสนอว่า​“ขมิ้นฤาษี” เป็นพืชสมุนไพรที่พบได้มากในพื้นที่น้ำตกจำปูน ​ซึ่งพืชชนิดนี้จะขึ้นเฉพาะป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ชาวบ้านจึงช่วยกันคิดนำจุดเด่นนี้มาเป็นจุดขายเพื่อบ่งบอกว่าหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ที่จะขยายผลไปถึงเรื่องการท่องเที่ยว

“เราไม่ได้ทำสบู่แค่เพื่อขายสบู่ แต่เราต้องการให้สบู่เป็นหน้าต่างบานหนึ่งเพื่อเปิดไปหาหมู่บ้านและไปเจออาชีพต่างๆ ในชุมชน กล่องสบู่ที่ออกแบบมา จะเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยว ชูจุดเด่นทั้งหมด ​เราจะมี QR Code ที่มีลิ้งค์เข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคนในชุมชน”​ ดร.ศุทธิกานต์กล่าว

 

เป้าหมายสู่ธุรกิจยั่งยืนของชาวบ้านอย่างแท้จริง

เป้าหมายของโครงการนี้คือช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่คิดและลงมือปฏิบัติทำธุรกิจของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ทีมงานจะเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยให้คำปรึกษา เช่น เดิมสบู่ที่ชาวบ้านทำแบบไม่มีมาตรฐาน หรือมีต้นทุนที่สูงเพราะทำจากกลีเซอรีน ก็เปลี่ยนมาทำจากนำมันพืชที่มีราคาต่ำลง  

“เราจะสอนหมดเลยว่า น้ำมันแต่ละตัวมีคุณสมบัติอย่างไร เพราะแต่ละตัวมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ตัวทำละลายแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ตัวไหนเพิ่มฟอง ตัวไหนใช้แล้วผิวกระด้าง ผิวแข็ง ถ้าลดตัวนี้จะเป็นอย่างไร ​เราจะเน้นให้เขาเข้าใจและนำไปพัฒนาต่อไปเอง อย่างสูตรที่ขายอยู่ปัจจุบันก็เป็นสูตรที่ชาวบ้านช่วยกันพัฒนาขึ้นมาเอง เขาจะใส่สมุนไพรเท่าไหร่ เราแค่บอกวิธีการเขาต้องไปทดลองปรับปรุงเอง ก่อนขายเขาก็ต้องไปทดลองใช้กันเองจนมั่นใจ”

 

เลี้ยงผึ้งโพรง ฐานอาชีพใหม่รองรับธุรกิจชุมชน

การทำสบู่ยังขยายผลไปยังการสร้างอาชีพเลี้ยงผึ้งที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบนำมาทำสบู่ ด้วยสรรพคุณลดการอักเสบ และทำให้ผิวเนียนนุ่ม เดิมชาวบ้านจะใช้ผึ้งป่า แต่ถ้าใช้น้ำผึ้งเลี้ยงก็จะสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้อีกทาง​ ดังจะเห็นว่าเริ่มมีชาวบ้านเลี้ยงผึ้งกันมากขึ้น ซี่งปัจจัยสำคัญคือหากชาวบ้านใช้สารเคมีผึ้งก็จะบินไปที่อื่น ดังนั้นแม้จะไม่มีมาตรฐานออแกนิกส์ แต่การใช้น้ำผึ้งจากพื้นที่ก็จะเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าปลอดสารเคมี

สำหรับการขายจะมีทั้งการตั้งตัวแทนดูแลรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่เพื่อประสานไปวางขายในแต่ละจุด​​ รวมทั้งเปิดขายออนไลน์อีกทาง ซี่งจะต้องอบรมเสริมแบบไม่บังคับว่าให้ลองทำแบบนี้ดูไหม เพื่อให้ต่อไปหากวันหนึ่งที่โครงการถอนตัวออกมา ชาวบ้านก็จะดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ชาวบ้านมีเพจแม่จำปูน ที่เปิดขายสบู่ทางออนไลน์

 

เชื่อมโยงธุรกิจในพื้นที่ เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

แม้ธุรกิจสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งจะสามารถเดินหน้าไปได้ แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือการเชื่อมโยงธุรกิจในพื้นที่ ในปีต่อไปในพื้นที่ได้วางแผนที่จะเน้นไปยังธุรกิจกล้วยหอมทองฉาบที่จะเป็นอีกธุรกิจที่เสริมขึ้นมา เพราะชาวบ้านปลูกกล้วยหอมทองจำนวนมาก เมื่อนำมาพัฒนาเป็นกล้วยฉาบก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างรายได้เสริมควบคู่ไปอีกทางเพิ่มเติมที่จะเติบโตไปพร้อมกัน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค