อาชีพใหม่ “ผู้สูงอายุ” เพิ่มความน่าเชื่อถือ-ขยายลูกค้าผ่านออนไลน์

อาชีพใหม่ “ผู้สูงอายุ” เพิ่มความน่าเชื่อถือ-ขยายลูกค้าผ่านออนไลน์

บางคนบอกว่าความคิดเขาไม่เหมือนเดิมหลังจากเข้ารับการอบรม จากเดิมที่เคยคิดว่าหมอนวดเป็นอาชีพที่ถูกดูถูก แต่ตอนนี้ทัศนคติเขาเปลี่ยนไปกลายเป็นเป็นความภูมิใจ มีคุณค่า เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ยั่งยืน ทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน​

จาก​การนวดแบบครูพักลักจำหรือได้รับการถ่ายทอดกันมาในครอบครัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกนำมาขยายผลต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จ.พิจิตร  จนปัจจุบันมีหลายคนที่ออกไปเปิดร้านนวดของตัวเอง หลายคนใช้พื้นที่บ้านตัวเองรับนวดให้ลูกค้า เล็กๆ น้อยๆ ขณะที่บางคนรวมกลุ่มกันเพื่อทำอาชีพนวดอย่างจริงจัง

บางคนที่แม้จะไม่ได้นำทักษะอาชีพที่เรียนรู้ไปประกอบกิจการสร้างรายได้ แต่ได้นำความรู้ที่ได้นั้นมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน สามารถทุ่นค่าใช้จ่ายจากเดิมที่เคยต้องจ้างคนมานวด และอีกด้านหนึ่งยังเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในครอบครัวไปพร้อมกัน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​​ ที่มีเป้าหมายสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส สามารถมีรายได้ เลี้ยงดูตัวเองได้

 

ฝึกนวด 150 ชม  ทฤษฎี – ปฏิบัติ – จรรยาบรรณ

สำหรับจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชาชนในวัยสูงอายุ ถึง 19 % ของประชาชนทั้งหมดในจังหวัด ทางกลุ่มจึงได้กำหนดให้ผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักร่วมกับ เกษตรกรปลูกข้าว ปลูกมะนาวที่มีรายได้ไม่แน่นอน

มนตรี พันธ์กสิกร ผู้ประสานงานโครงการ เล่าให้ฟังว่า จากการสอบถามผู้ที่เข้าร่วมโครงการสนใจจะฝึกหัดนวดแผนไทยเพราะไม่ต้องลงทุนมาก หลายรายเคยมีประสบการณ์นวดมาอยู่บ้าง แต่ไม่มีใบรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ทางโครงการเปิดจัดอบรมนวดแผนไทย 150 ชั่วโมง ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทั้งหมด 64 คน ผ่านการอบรมจนได้รับใบประกอบอาชีพทั้งหมด

 

ภูมิใจไม่เป็นภาระของลูกหลาน

ใน 150 ชั่วโมงของการอบรม กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการฝึกนวดตามหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพซึ่งได้รับการรับรองจาก สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ทั้งการนวดเชลยศักดิ์ การนวดราชสำนัก การจับเส้น การดัดตน การทำยาสมุนไพร การตรวจร่างกาย ซักประวัติไปจนถึงเรื่องกฎหมายและจรรยาบรรณของหมอนวดพร้อมได้ลงมือปฏิบัตินวดจริง

“เราเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เพราะการนวดไม่ต้องใช้แรงเยอะ  เราต้องการเน้นให้คนกลุ่มนี้ที่เดิมเคยอยู่แต่กับบ้าน มีความภาคภูมิใจว่าเขาไม่ใช่ภาระของลูกหลาน แต่สามารถมีอาชีพมีรายได้ของตัวเอง”​

 

สร้างความน่าเชื่อถือผ่านโซเชียลมีเดีย
ขยายช่องทางการสื่อสารหาลูกค้า

นอกจากการอบรมเรื่องการนวดแผนไทยแล้ว​อีกด้านหนึ่งยังเปิดอบรมเรื่องบัญชีครัวเรือนเพื่อให้เขาสามารถบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเรื่องช่องทางการสื่อสารออนไลน์เพื่อหนุนเสริมให้เขาสามารถติดต่อรับงานได้หลายช่องทางกว้างขวางขึ้นมากกว่าเดิมที่เคยสั่งจองคิวกันโดยตรงหรือโทรนัดหมายเท่านั้น  ไปจนถึงเรื่องการถ่ายรูปตอนนวดลงโซเชียลมีเดีย หรือให้ลูกค้ามารีวิวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

จนถึงปัจจุบันคนที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพ สามารถออกไปประกอบอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น บางคนทำเป็นงานประจำมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 12,000 บาท บางคนทำเป็นอาชีพเสริมวันละ 200-500 บาท

 

สร้างอาชีพให้คนตกงานจาก COVID-19

อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้คนที่เคยออกไปทำงานรับจ้างในเมืองต้องมาอยู่บ้านแบบไม่มีรายได้  7-8 ราย ​ซึ่งเป็นจังหวะดีทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนวด จนปัจจุบันคนกลุ่มนี้ออกไปเปิดร้านหรือรับจ้างนวดในร้านสปาต่างพื้นที่ ​มีอาชีพ มีรายได้ ไม่ต้องไปรับจ้างใช้แรงงานเหมือนเดิม

“หลังการอบรมเราได้ถอดองค์ความรู้ บางคนเขียนบอกว่าความคิดเขาไม่เหมือนเดิมหลังจากเข้ารับการอบรม จากเดิมที่เคยคิดว่าหมอนวดเป็นอาชีพที่ถูกดูถูก แต่ตอนนี้ทัศนคติเขาเปลี่ยนไปกลายเป็นเป็นความภูมิใจ มีคุณค่า เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ยั่งยืน ทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน” 

 

ขยายผลสู่ “พืชสมุนไพร” ต่อยอดเติมเต็มสุขภาพ

สำหรับโครงการที่จะดำเนินการต่อในปีถัดไปนี้จะขยายผลจากการนวดไปยังเรื่องสมุนไพรที่สอดรับกันกับเรื่องสุขภาพ คือการปลูกพืชสมุนไพรทั้งนำมาทำลูกประคบ ​รวมทั้งการทำเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ให้กลุ่มเป้าหมายเริ่มคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าเขาอยากจะทำอะไร มีต้นทุนอะไร เพื่อจะได้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้เหมาะสม ซึ่งทางโครงการจะไม่ยัดเยียดว่าของต้องทำอะไรแต่ให้กลุ่มเป้าหมายคิดและลงมือทำในสิ่งที่อยากทำอย่างแท้จริง

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค