ข้อมูลเชิงลึก ทำให้มีเป้าหมายในการลงไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ตรงตามความต้องการ

ข้อมูลเชิงลึก ทำให้มีเป้าหมายในการลงไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ตรงตามความต้องการ

การที่เราได้ข้อมูลเชิงลึก มีข้อเท็จจริงที่ดีจะทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย และตรงความต้องการของเด็ก ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เรานำมาวิเคราะห์ข้อมูลและเห็นว่าเคสไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเข้าไปให้การช่วยเหลือ จัดหมวดหมู่ ส่งต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ​นี่จึงเป็นความสำคัญของข้อมูลที่หากไม่มีก็จะทำให้เราไม่มีเป้าหมายลงไปช่วยเหลือ

ด้วยความร่วมมือร่วมใจของ​ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ทำให้ภารกิจติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ และ เด็กปฐมวัยในพื้นที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เด็กๆ จนปัจจุบันหลายคนได้กลับมาเรียนต่อ หลายคนได้ฝึกทักษะอาชีพ ตามที่พวกเขาต้องการ​หลายคนมี​งาน มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ และอนาคตดีขึ้น

ขณะนี้ภารกิจติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ และ เด็กปฐมวัย ในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดน่าน ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องเป็นปีที่สองด้วยพลังความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่ช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

หนึ่งในจุดเด่นของจังหวัดน่านที่ทำให้กลไกการทำงานในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นเพราะระบบฐานข้อมูลตั้งต้นที่นำมาสู่การบูรณาการร่วมกันกับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ  เพื่อความถูกต้องพร้อมแบ่งแยกพื้นที่ช่วยให้การลงไปติดตามค้นหารวดเร็วขึ้น เมื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดจากเด็กแล้วก็นำมาสู่การประมวลผล จัดแผนความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

บูรณาการฐานข้อมูลทุกหน่วยการศึกษาในจังหวัด

ปาลิกา คำวรรณ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดน่าน กับอีกบทบาท ในฐานะ IT Manager ของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดน่าน เล่าให้ฟังว่า ข้อมูลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้าไปติดตามช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะ​ในพื้นที่ซึ่งมีทั้งเด็กนอกระบบและเด็กปฐมวัยร่วมหมื่นคนในพื้นที่การอาศัยข้อมูลเพื่อวางแผนเข้าไปช่วยเหลือจึงมีความสำคัญ

ขั้นตอน​การทำงานจะตั้งต้นจากข้อมูลของ กสศ. เป็นข้อมูลสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ ทร.14 ของเด็กในพื้นที่จากนั้นก็จะมาดูว่าเด็กคนไหนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยตรวจทานกับข้อมูลกับทุกหน่วยการศึกษาในจังหวัด ทั้งข้อมูล DMC ของ สพฐ, ข้อมูล กศน., ข้อมูลระบบสารสนเทศทางการศึกษาท้องถิ่น (LEC), ข้อมูลของโรงเรียนเอกชน  และ ข้อมูลเด็กอาชีวะ ก็จะทำให้พบว่าเด็กคนไหนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา

จากจำนวนเด็กนอกระบบ และเด็กปฐมวัย ทั้งหมด ​10,300 คน ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและข้อมูลล่าสุด ซึ่งบางคนได้กลับมาเรียนแล้ว ทำให้เหลืออยู่ 8,850 ราย ที่จะเข้าไปสำรวจและวางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยตั้งเป้าว่าจะให้การช่วยเหลือให้ได้ 2,000 คน

 

​​ประมวลข้อมูลที่ได้ จำแนก ประสาน ส่งต่อ
ช่วยเหลือเด็กตามความต้องการ

ปาลิกา อธิบายว่า ขั้นตอนต่อจากนั้นจะมาสู่การจัดข้อมูลแยกเป็นรายอำเภอว่าเด็กคนไหนอยู่ในอำเภอไหนเพื่อให้สะดวกต่อการลงพื้นที่และเก็บข้อมูล​โดยส่วนตัวแล้วก็จะลงพื้นที่ไปช่วยเก็บข้อมูลด้วย รวมทั้งมีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปร่วมสำรวจในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับมีกลุ่มไลน์ของผู้สำรวจทั้งหมดเพื่อให้สามารถพูดคุยสอบถามรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค ในแต่ละพื้นที่

​สำหรับคนที่จะลงพื้นที่ไปหาเด็กและพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจะมีหลายส่วนช่วงแรกจะเป็นครู กศน. ส.อบต. อสม. แล้วแต่พื้นที่ โดยเน้นเรื่องการรู้จักเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ภารกิจของ IT manager ยังต้องคอยติดตาม ดูรายละเอียดหลังจากได้รับข้อมูลมาแล้ว พร้อมจัดแบ่งกลุ่มความต้องการของเด็ก บางคนอยากเรียนต่อ บางคนอยากฝึกอาชีพ  บางคนอยากเรียน กศน. บางคนขอรับเงินทุนช่วยเหลือ​ทางผู้จัดการรายกรณี (CM) ก็จะเข้าไปช่วยเหลือตามความต้องการของเด็ก โดยบางครั้งต้องประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล
ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ละเดือนภาคีเครือข่ายและคณะทำงานจะประชุมสรุปข้อมูลการช่วยเหลือว่าเด็กกลุ่มไหนควรจะประสานกับหน่วยงานไหนให้เข้ามาช่วยดูแล  เช่น เด็กพิการก็จะประสานศูนย์การศึกษาพิเศษ เด็กยากจน ก็จะประสาน พมจ. และภาคีเครือข่าย โดยจะให้ข้อมูลกับหน่วยงานนั้นไปวางแผนการช่วยเหลือเช่นมีเด็กบางกลุ่มที่จะไปเรียนต่อ กศน. ก็จะไปประสานไปยัง กศน.ในแต่ละพื้นที่

สำหรับปัญหาที่ผ่านมาพบว่าจากการจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบ บางเคสยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำให้เมื่อนำมาพิจารณาวางแผนให้ความช่วยเหลือไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในปีนี้จึงสร้างความเข้าใจให้กับผู้สำรวจในการกรอกให้ข้อมูลรายละเอียดให้เยอะที่สุด เพื่อให้มีรายละเอียดเพียงพอนำมาวางแผนช่วยเหลือ รวมทั้งยังได้บูรณาการความช่วยเหลือ เช่น เยาวชนที่ได้รับการฝึกอาชีพเย็บจักรอุตสาหกรรมได้ก็จะส่งต่อไปยังร้านจำหน่ายตัดเย็บเสื้อผ้ากีฬาในจังหวัดน่าน

ปาลิกา อธิบายว่า อีกปัญหาที่พบคือข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน ทั้งประเด็นเรื่องของระยะเวลาที่ได้ข้อมูลมาและนำข้อมูลที่ได้ลงไปสำรวจในพื้นที่บางครั้งเด็กบางคนก็กลับไปเรียนต่อ หรือออกนอกพื้นที่ไปแล้วทำให้ติดตามตัวไม่พบ รวมไปถึงเรื่องความผิดพลาดของข้อมูลเช่นข้อมูลเด็กปฐมวัยจาก ศพด. ที่มาจาก DMC เมื่อนำมาตรวจสอบจะพบว่ามีการรวมไฟล์กันไม่ได้แยกมาเป็นรายจังหวัด ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการประสานกับ ศพด. ในพื้นที่ขอไฟล์ข้อมูลมารวมเอง จนการติดตามช่วยเหลือสามารถเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

ข้อมูลเชิงลึก ทำให้มีเป้าหมายในการลงไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่

ดังนั้น ข้อมูลจึงเป็นการตั้งต้นให้ความช่วยเหลือที่สำคัญยิ่งในปีนี้ได้ขยายฐานการช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นจาก 5 อำเภอเป็น 7 อำเภอ จากเดิม​คือ  อำเภอเมือง แม่จริม บ้านหลวง สันติสุข เวียงสา  ปีนี้จะเพิ่มอีก 2 อำเภอคือ ภูเพียง และ ท่าวังผา

“การที่เราได้ข้อมูลเชิงลึก มีข้อเท็จจริงที่ดีจะทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย และตรงความต้องการของเด็ก ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เรานำมาวิเคราะห์ข้อมูลและเห็นว่าเคสไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเข้าไปให้การช่วยเหลือ จัดหมวดหมู่ ส่งต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ​นี่จึงเป็นความสำคัญของข้อมูลที่หากไม่มีก็จะทำให้เราไม่มีเป้าหมายลงไปช่วยเหลือ”

ดังนั้น ในการทำงานจะบอกกับผู้ที่ลงไปสำรวจว่าชุดคำถามมีความสำคัญ ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การที่เราได้มีโอกาสเข้ามาทำงานตรงนี้ ทำให้ได้ภาคีการทำงาน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานนอกกรอบของการทำงานในหน้าที่ราชการปกติ ตรงนี้ถือเป็นกำไร เป็นโอกาส ที่ได้ทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติที่ทุกภาคส่วนควรจะเข้ามาร่วมมือให้ความช่วยเหลือ

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค