Banner
วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร
สมุทรสาคร

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครเปิดโครงการฝึกกอาชีพควั่นมะพร้าวน้ำหอม ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่กำลังขาดแคลน

การปอกมะพร้าว หลายคนอาจปอกได้ แต่การปอกให้สวยงาม น่ารับประทาน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ‘การฟั้นมะพร้าว’ หรือการปอกมะพร้าวจนเห็นเนื้อขาว รูปทรงเพชรที่เราเห็นจนชินตา เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้มะพร้าว ทั้งรูปทรงที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ยังช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี จนสร้างรายได้จากการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้กับประเทศไทยปีละหลายล้านบาท

อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัด สมุทรสาคร พื้นที่ที่มีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นจำนวนมาก แม้ว่ามะพร้าวน้ำหอมจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น พร้อม ๆ กับสถานประกอบการในท้องถิ่นที่ยังต้องการแรงงานสำหรับการฟั้นมะพร้าวเพื่อการส่งขาย แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันคนในพื้นที่หลายคนตัดสินใจเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำ แทนการหางานที่ใกล้กับแหล่งชุมชน ด้วยความขาดแคลนแรงงานและอาชีพสำหรับคนในชุมชน จึงเป็นโจทย์สำคัญของพื้นที่นี้ในการพลิกฟื้นอาชีพท้องถิ่นเพื่อให้คนในพื้นที่ยังคงอยู่ในชุมชนของตัวเอง

จากช่องว่างระหว่างความต้องการของแรงงานและจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอนี้เอง วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครจึงจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการฟั้นมะพร้าวน้ำหอม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้หยิบอาชีพฟั้นมะพร้าวซึ่งเป็นฐานชุมชนนี้มาสร้างหลักสูตรการอบรม เพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพท้องถิ่น คือ การฟั้นมะพร้าว โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนแรงงานที่สามารถฟั้นมะพร้าวได้อย่างมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับปริมาณมะพร้าวที่จำเป็นต้องส่งออกไปขายพื้นที่อื่น เป็นตัวกลางที่ช่วยจับคู่คนและงาน ระหว่างแรงงานกับล้งมะพร้าว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยโครงการได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาในตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครที่สนใจเข้าร่วมการอบรมการฟั้นมะพร้าว 

สำหรับหลักสูตรการอบรมฟั้นมะพร้าว จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ลงมือปฏิบัติจริง สำหรับหลักสูตรการฟั้นมะพร้าวมีทั้งหมด 3 แบบ คือ ฟั้นเขียว ฟั้นตลาด และฟั้นขาว ความแตกต่างของทั้ง 3 แบบนี้คือ น้ำหนักของแต่ละแบบและความสวยงาม โดยฟั้นขาวจะมีน้ำหนักน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่เฉือนเปลือกมะพร้าวสีเขียวออกไปทั้งหมดจนเห็นเนื้อสีขาว เพื่อเป็นการลดน้ำหนักระหว่างการขนส่ง ส่วนฟั้นเขียวและฟั้นตลาดจะมีความคล้ายคลึงกัน คือมีการเว้นส่วนเปลือกเขียวไว้ เพื่อความสวยงาม อย่างที่เราเคยเห็นเป็นประจำ

ขณะเดียวกัน สำหรับภาคทฤษฎีของหลักสูตรดังกล่าว แบ่งเป็น 3  หัวข้อใหญ่ คือการทำบัญชีครัวเรือน การรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายในชุมชน และการหาแหล่งทรัพยากร โดยวิทยากรจากสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร จนกลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้จริง พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพภายในชุมชน เช่นการฟั้นมะพร้าว 

สะท้อนให้เห็นว่า โครงการ ฯ ดังกล่าวนี้ สามารถเพิ่มทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนได้จริงบนฐานของต้นทุนชุมชนเอง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านการกระจายงานและรายได้ จนเกิดแนวคิดต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านน้ำแพ้ว และนำไปสู่เป้าหมายที่คนชุมชนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองภายในพื้นที่อันเป็นรากเหง้าความเป็นตัวตนของคนในชุมชนให้ยังคงอยู่สืบไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพการฟั้นมะพร้าวน้ำหอม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร

  • โทร: 089-0056076
  • ผู้ประสานงาน: นายชานนท์ ประชุมชื่น

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน และรูปแบบการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่าย
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการฝึกทักษะ ทางด้านอาชีพการฟั้นนมะพร้าวน้ำหอมตลอดจนส่งเสริมให้สามารถมีงานทำ
  3. เพื่อพัฒนาทักษะการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ
  4. เพื่อพัฒนาเจตคติในการประกอบอาชีพเป็นผู้ฟั้นมะพร้าวน้ำหอม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส