Banner
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
เลย

ยกระดับชีวิตของคนพิการด้วยการออกแบบ ‘แผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล’ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับคนพิการ

ทุกข์ของคนพิการไทย นอกจากต้องทรมานจากความบกพร่องทางร่างกายแล้ว การอยู่อย่างไร้อาชีพ ไม่มีรายได้ ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตเป็นไกัญญารัตน์่างไร้ความหวัง ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานเกือบ 900,000 คน ทว่า มีคนพิการในวัยดังกล่าว 200,000 คนเท่านั้น ที่สามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองได้

มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม คือองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการ เพื่อทำงานในชุมชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือที่เรียกว่า ‘การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม’ มาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำ ‘โครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลย’ ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

กัญญารัตน์ เทพบุญ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า ที่ผ่านมามูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จะทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างคนพิการ บริษัท ภาครัฐ และเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ระบุให้นายจ้างรับคนพิการเข้าทำงานตามสัดส่วนที่กำหนด 

“โดยสาเหตุที่เลือกทำโครงการนี้ในพื้นที่จังหวัดเลยนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิธิดาเมตตาธรรม สาขาเลย มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเขาแยกตัวออกมาเป็นชมรมคนพิการจังหวัดเลย และด้วยความเข้มแข็งของพื้นที่ ที่มีทั้งทุนบุคลากร ทุนความรู้ และทุนความเชี่ยวชาญ จึงเห็นโอกาสว่าจังหวัดเลยน่าจะเป็นพื้นที่ที่เราสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้คนพิการได้” 

ซึ่ง ‘โนราห์’ มะโนลา พึ่งอำนวย ประธานชมรมเพื่อคนพิการ จังหวัดเลย เสริมว่า การมีอาชีพสามารถเปลี่ยนคนพิการได้ เพราะแม่ของเธอที่อายุ 70 กว่าปี ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองจนพิการ ส่งผลให้แม่เครียดมาก แต่พอแม่ได้มาทำสวน ปลูกผักอินทรีย์ เช่น ปลูกมะเขือ ปลูกมะละกอ แม่ก็ฟื้นตัวได้ดีขึ้น “พอมีงานทำ มีรายได้ แม่ก็ไม่เครียด แม่ก็มีความสุข ตอนนี้โรคความดันเอย เบาหวานเอย ไขมันเอย ไม่มีเลยด้วยซ้ำ” 

นอกจากนี้ โนราห์ ยังเล่าว่า เธอตั้งเป้าว่าจะพัฒนาอาชีพให้กับคนพิการซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จำนวน 60 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 86 หมู่บ้าน, 8 ตำบล, 5 อำเภอ ของจังหวัดเลย โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายก่อนว่า ต้องการทำอาชีพอะไร เพื่อนำมาวางแผนทำกิจกรรม โดยจัดให้มีพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแล ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี 

“เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็จะนำมาวิเคราะห์เบื้องต้น จากนั้นคณะทำงานและวิทยากรจะลงพื้นที่เป็นรายตำบล นำตัวอย่างแผนอาชีพรายบุคคลของสมาชิกมาวิเคราะห์ร่วมกัน เช่น มีคนอยากทำอาชีพขายพวงมาลัยพลาสติก เราก็จะไม่ตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้นะ แต่จะชวนให้เขามองร่วมกันว่า ตลาดมีไหม มีร้านรับซื้อหรือเปล่า สุดท้ายถ้ามีแค่ร้านเดียว และร้านนั้นใกล้ปิดกิจการแล้ว ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เพราะถ้าถึงเวลาแล้วทำไม่ได้จริง งบที่ได้มาก็หมดไปเปล่าๆ” กัญญารัตน์ อธิบาย 

ปัจจุบัน กลุ่มเป้าหมายเริ่มเดินหน้าทดลองทำอาชีพในพื้นที่ของตนเองตามแผนที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอาชีพที่หลากหลาย ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดย สุภีร์ โสภาภักดิ์ อายุ 63 ปี กรรมการชมรมคนพิการ ตำบลกกดู่ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนพิการที่ขาหักจากอุบัติเหตุรถยนต์ เลือกอาชีพเลี้ยงไก่ เพราะว่าเป็นความถนัด และเหมาะกับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านของเธอมากที่สุด 

“ฉันก็เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ผสมผสานกันไป แต่ก่อนเลี้ยงไปตามพื้นที่ที่เรามีในบ้าน พอได้เข้าร่วมโครงการ ได้เงินทุน ก็เอามาสร้างโรงเรือน ตอนนี้มีเป็ดและไก่ที่เลี้ยงอยู่เกือบ 500 ตัว ซึ่งพอมีโรงเรือนจะเลี้ยงได้ดีกว่า เพราะว่ามีระบบให้อาหาร สามารถขุนไก่ให้โตได้เร็ว แค่ 3-4 เดือน ก็โตและขายหมดแล้ว ถ้าเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติจะโตช้า และไก่จะไม่สมบูรณ์เท่าไร ตัวที่หากินเก่งก็จะอ้วน ส่วนตัวที่หากินไม่เก่งก็ผอม ซึ่งจะขายยาก”

ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการมีอาชีพของคนพิการไม่ใช่แค่รายได้ แต่มันคือ ‘ความสุข’ เพราะสุภีร์ เล่าว่า เธอมีความสุขมากขึ้น เพราะสามารถเลี้ยงไก่มาขายจุนเจือครอบครัว ขายผักบ้าง ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 5,000 บาท ซึ่งก็พออยู่ได้ “แต่อาจยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะต้องส่งลูกเรียนด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยงานรัฐมาสนับสนุนอย่างจริงจัง ถ้าคนพิการมีอาชีพ มีรายได้ จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ก็จะได้ดีขึ้นไปกว่านี้” 

ด้าน สงกรานต์ แก้วผ่าน อายุ 59 ปี ประธานชมรมคนพิการ ตำบลท่าสวรรค์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนพิการทางสายตา เสริมว่า ตาขวาของเธอเริ่มมองเห็นเลือนรางและบอดสนิทเมื่ออายุ 34 ปี แต่เดิม ประกอบอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมันขายอยู่ที่บ้าน แต่ขายไม่ได้ราคา จึงมาเข้าร่วมโครงการ โดยตัดสินใจเลือกอาชีพ ‘ปลูกผักก้านจอง’

ซึ่ง สงกรานต์ เล่าว่า สาเหตุที่เลือกการปลูกผักขาย เพราะไม่ได้หวังจะรวย “แต่เพียงแค่อยากลดรายจ่าย ด้วยการมีผักกินเอง และมีรายได้เลี้ยงชีพไปพร้อมๆ กัน การที่มีโครงการแบบนี้ขึ้นมา มันทำให้มีกำลังใจ มีแรงผลักดัน เมื่อก่อนมีแต่ความเครียด ปวดหัวจนต้องกินยาคลายเครียดตลอด เพราะไม่รู้จะทำอะไรเลี้ยงชีพ ไม่รู้จะมีหนทางตรงไหน ไม่รู้ว่าใครจะมาดูแลเรา แต่ตอนนี้ก็ดี เริ่มมีความหวังบ้างแล้ว” 

แม้ว่าวันนี้ ความสำเร็จของโครงการอาจยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่ความเข้มแข็ง ความมุ่งมั่น และความไม่ย่อท้อ ของคนพิการ ก็ทำให้คณะทำงานต่างรู้สึก ‘ภูมิใจ’ ซึ่งกัญญารัตน์ เสริมว่า การทำโครงการเช่นนี้ จะประสบผลสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าปราศจากสิ่งสำคัญอย่าง ‘การมีส่วนร่วม’ ของกลุ่มเป้าหมายและคนรอบข้าง “เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ ต่อให้มีองค์ความรู้มากแค่ไหน ถ้ากลุ่มเป้าหมายไม่เปิดใจเรียนรู้กับเรา ก็ไม่มีประโยชน์ อีกทั้งการทำงานกับวิทยากรก็ต้องเน้นคนที่มีใจเหมือนกัน” 

สุดท้ายนี้กัญญารัตน์หวังว่า ต่อให้โครงการจะจบลงไปแล้ว แต่กลไกของโครงการจะส่งผลให้คณะทำงานที่อยู่ในพื้นที่คอยดูแลช่วยเหลือกัน เพราะการ ‘มอบโอกาส’ ให้คนพิการได้รับการพัฒนาทักษะความสามารถในการประกอบอาชีพได้อย่างอิสระนั้น จะทำให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามความบกพร่องของร่างกาย แล้วลุกขึ้นมาทำงานสร้างรายได้ และสร้างคุณค่าให้กับชีวิตตนเองได้อย่างแท้จริง 

“การที่มีโครงการแบบนี้ขึ้นมา มันทำให้มีกำลังใจ มีแรงผลักดัน เมื่อก่อนมีแต่ความเครียด ปวดหัวจนต้องกินยาคลายเครียดตลอด เพราะไม่รู้จะทำอะไรเลี้ยงชีพ ไม่รู้จะมีหนทางตรงไหน ไม่รู้ว่าใครจะมาดูแลเรา แต่ตอนนี้ก็ดี เริ่มมีความหวังบ้างแล้ว” สงกรานต์ แก้วผ่าน อายุ 59 ปี ประธานชมรมคนพิการ ตำบลท่าสวรรค์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนพิการทางสายตา

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

เสริมศักยภาพคนทำงานและเครือข่ายคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลย

มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

  • โทร: 089-5210864
  • ผู้ประสานงาน: นางมนิษา อนันตผล

เป้าประสงค์

  1. คนพิการสามารถประกอบอาชีพของตนได้อย่างยั่งยืน (มีความรู้/ทักษะ มีรายได้/กำไร มีการบริหารจัดการเงินที่ดี มีแผนการลงทุนต่อยอด) สามารถเป็นต้นแบบด้านการจัดการอาชีพได้
  2. เกิดกลไกดำเนินงานด้านการส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพและมีงานทำ ระหว่างองค์กรคนพิการและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส