Banner
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย
บุรีรัมย์

กลุ่มอีโต้น้อยผุดโครงการฝึกทักษะอาชีพและทัศคติที่ดีให้กับชาวบ้านโคกล่าม เพื่อฝ่าฟันภัยแล้งในชุมชนอย่างยั่งยืน

ปัญหาภัยแล้ง คือปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความลำบากยากเข็ญให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน อย่างเกษตรกรในชุมชน ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือพวกเขาต้องประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงติดต่อกันมาถึง 2 ปี

ความยากลำบากที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การไม่มีน้ำใช้ในงานเกษตร แต่ผลของภัยแล้งยังทำให้น้ำอุปโภคบริโภคในชุมชนเหือดแห้งจนหมดสิ้น เมื่อแล้งน้ำก็แล้งผลผลิต ข้าวในนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มขาดแคลน ทำให้คนในชุมชนต้องไปจับจ่ายใช้เงินกับสิ่งของที่ไม่เคยจำเป็นต้องซื้อมาก่อน เช่น ข้าวและน้ำ หากใครโชคดียังมีเรี่ยวแรงหรือมีลูกหลานก็จะทยอยกันเข้าไปทำงานในตัวเมือง แต่ใครก็สูงอายุเลยวัยทำงานไปแล้วก็จะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้คนในชุมชนต้องช่วยกันหาทางออก ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อยซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นที่เคารพของคนในชุมชน จึงได้พยายามคิดค้นอาชีพที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนระหว่างที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตจากการทำนาได้

กลุ่มอีโต้น้อยได้เล็งเห็นจุดเด่นของชุมชนคือเป็นชุมชนที่มี ‘ต้นทุน’อยู่แล้วในหลายด้านเช่น การมีป่าชุมชน มีศูนย์นวดแผนไทยและการใช้สมุนไพรรักษาทำให้ทิศทางการพัฒนาค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการ ‘เพาะกล้า’ ที่เป็นสมุนไพรและพืชที่มีความต้องการทางการตลาดสูง อย่าง ยางนา พยุง แดง ประดู่ สัก สะเดา รวมถึงพืชผักผลไม้อย่างมะกรูด มะนาว เพราะในปัจจุบันราคาของกล้าไม้เศรษฐกิจเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น   อีกทั้งการเพาะกล้าไม้ป่า และพืชสมุนไพรยังใช้น้ำไม่มาก เลี้ยงต้นประมาณ หนึ่งถึง สามเดือน ก็สามารถจำหน่ายได้

โครงการ ‘สร้างปัญญาฝึกทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพผู้ด้อยโอกาส’จึงเกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาในชุมชน โดยตัวโครงการจะมีทั้งการฝึกฝนทักษะด้านการทำงานและฝึกฝนทักษะด้านทัศนคติ ซึ่งทั้งสองทักษะนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่กัน เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่คนในชุมชน

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือการนำแรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้สูงอายุรวม 50 คนเข้ามาฝึกฝนอบรมทักษะอาชีพผ่านฐานการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงอย่าง ฐานการเลี้ยงจิ้งหรีด ฐานการปลูกผักหวานป่า ฐานการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนที่ฐานการเพาะกล้าไม้ ซึ่งทุกฐานจะมีวิทยากรผู้ฝึกเป็นครูที่ประสบการณ์ในการอบรมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี  นอกจากเรื่องของทักษะอาชีพแล้ว ตัวโครงการยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ใช้เงินเป็นศูนย์กลาง และฝึกวิธีคิดทำงานอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ฝึกฝนได้เห็นคุณค่าของงานที่ตัวเองได้ลงมือทำ

ถึงแม้ว่าภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งจะสร้างปัญหาและความยากลำบากให้กับชุมชนโคกล่าม แต่การร่วมมือกันของผู้คนผ่านศูนย์การเรียนรู้อีโต้น้อยที่มีองค์ความรู้และเครือข่ายกว้างขวาง ย่อมทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของชุมชน นั่นคือการสร้างรายได้ในอาชีพอื่นนอกเหนือไปจากการทำนา อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้ามาฝึกฝนทักษะอาชีพและปรับทัศนคติให้มีวิธีคิดการทำงานอย่างยั่งยืนและตั้งใจ ส่งผลต่อมาเป็นความความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เกื้อกูลกันและมีความเหนียวแน่นมากขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สร้างปัญญาฝึกทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพผู้ด้อยโอกาส

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

  • โทร: 080-1495708
  • ผู้ประสานงาน: นายวีระ สิทธิสาร

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. กลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีความรู้ด้านทักษะอาชีพตามความสนใจและมีทัศนคติในการพึ่งตนเอง
  2. ผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงานเกิดอาชีพและรายได้เพิ่ม
  3. เกิดกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่รวมตัวกันและคอยให้กำลังใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส