สัญญาทุนเดินทางไปถึงในไซต์งานก่อสร้าง

สัญญาทุนเดินทางไปถึงในไซต์งานก่อสร้าง

สิ่งที่ประทับใจผมที่สุดคือวันเซ็นสัญญาเป็นนักศึกษาทุน ผมไปทำงานอยู่ในไซต์งานก่อสร้างบนตึกชั้น 27 ที่จังหวัดนครปฐม แล้วอาจารย์เขาเดินทางจากสัตหีบเพื่อเอาสัญญามาให้เซ็นถึงที่เลย จำได้ว่าพออาจารย์มาถึงก็โทรเข้ามา ผมก็รีบเดินลงบันไดมาจากชั้น 27 ทั้งสูงทั้งเหนื่อย แต่ในใจตอนนั้นคือรู้สึกยินดีมาก

ปิดเทอมใหญ่หลังจบ ม.3 ‘น้องแบงค์’ จักรกฤษ กัณฑะวงค์ มีกิจกรรมเหมือนกับทุกฤดูร้อนที่ผ่านมา คือต้องไปช่วยพ่อกับแม่ทำงานในไซต์งานก่อสร้าง ขณะที่อนาคตเรื่องการเรียนยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าจะไปทางไหน

ช่วงเวลานั้นเอง ได้มีเรื่องราวพิเศษที่เกิดขึ้นกับเขา เมื่ออาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โทรมาบอกว่าแบงค์ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนักศึกษา ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ รุ่น 2 จากตรงนั้น จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอีกสายหนึ่ง ที่แบงค์บอกว่า “ผมรอโอกาสนี้มานานมากแล้ว”

 

‘เส้นทางการศึกษาที่ไม่เคยง่าย’

แบงค์เล่าว่าเขาโตมาในจังหวัดนครราชสีมาด้วยการเลี้ยงดูของตากับยายที่รับจ้างเก็บข้าวโพด เก็บมัน และเผาถ่าน โดยครอบครัวมีฐานะไม่ค่อยดี แบงค์จึงมีทางเลือกในการเรียนไม่มากนัก

แบงค์เรียนที่โคราชถึง ป.2 ก็ย้ายมาชลบุรีพร้อมกับยาย เข้าเรียนที่โรงเรียนบริษัทไทยกสิกรสงเคราะห์ถึง ป.4 ระหว่างนั้นตากับยายก็เสียชีวิต แบงค์จึงได้มาอยู่กับพ่อกับแม่ จากนั้นได้บวชเณรเพื่อเรียนที่วัดจนจบชั้น ป.6 แล้วจึงเรียนต่อชั้น ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48 จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ “พ่อกับแม่ผมทำงานก่อสร้าง ต้องย้ายที่ไปเรื่อยๆ ผมจึงเรียนหนังสือจากวัดและโรงเรียนประจำ ตั้งแต่ขึ้นชั้น ม.1 ทุกปิดเทอมผมจะไปช่วยพ่อกับแม่ทำงานในไซต์ พวกงานแบกปูนหรือผสมปูน จนถึงปิดเทอมใหญ่หลังจบ ม.3 ผมก็ยังไปทำงานก่อสร้างเหมือนทุกครั้ง” แบงค์เล่า

 

ความสนใจชัดเจน แต่เส้นทางกับเลือนลาง

ย้อนไปช่วงเรียน ม.ต้น แบงค์พยายามพาตัวเองเข้าไปใกล้ศาสตร์ที่เขาสนใจ คือเรื่องของหุ่นยนต์ โดยที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ ได้จัดงานชุมนุมหุ่นยนต์และตั้งชมรมขึ้น แบงค์จึงสมัครเข้าร่วมและศึกษาจากช่องทางที่ทำได้อย่างจริงจัง 

“ผมชอบหุ่นยนต์ สนใจเรื่องกลไกมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ แต่ไม่เคยได้เรียนรู้จริงๆ พอมีชมรมก็เห็นว่าเป็นโอกาส จากนั้นผมก็รู้เลยว่านี่เป็นสิ่งที่ผมชอบและทำได้ดี ก็พยายามศึกษาจนได้โอกาสไปงานแข่งขัน”

การได้เข้าแข่งขันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าแบงค์ไม่ได้เพียงสนใจเรื่องหุ่นยนต์กลไกเท่านั้น แต่เขายังมีทั้งความสามารถและความพยายามที่การันตีด้วยรางวัลเหรียญทองแดงจากการเข้าร่วมแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภาค 2 ปีซ้อน

แต่แม้จะรู้ว่าตนเองสนใจและถนัดอะไร แบงค์ก็ยังไม่รู้ว่าจะพาตัวเองไปทางไหนต่อหลังจบชั้น ม.ต้น

“ตอนจะจบ ม.3 ผมเริ่มคิดว่าถ้าจะเรียนด้านที่สนใจก็ต้องใช้ทุนเยอะมากซึ่งแม่ไม่น่าจะส่งเสียไหว เป็นจังหวะเดียวกับที่อาจารย์แนะแนวแนะนำว่ามีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ที่เป็นทุนระยาว 5 ปี นั่นหมายความว่าถ้าผมได้รับเลือก จะได้เรียนต่อจนถึงระดับ ปวส. ก็รีบสมัครเลยครับ” แบงค์ย้อนถึงช่วงเวลาของการตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

สัญญาทุนเดินทางไปถึงในไซต์งานก่อสร้าง

ในที่สุดแบงค์ได้รับเลือกให้เป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ระดับชั้น ปวช. ในแผนกแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ หากสิ่งที่แบงค์จดจำได้ดีที่สุดเกี่ยวกับช่วงเวลาแรกที่เขาได้เป็นนักศึกษาทุนฯ คือวันที่เขาได้เซ็นสัญญา

 

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แบงค์บอกว่าหลังจากเข้ามาเป็นนักศึกษาทุนฯ ครอบครัวของเขาก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ความเครียดกังวลของพ่อกับแม่เกี่ยวกับอนาคตของเขาเริ่มลดน้อยลง ส่วนแบงค์ก็สามารถดูแลตัวเองได้ เริ่มมีเงินออม และในอนาคตเมื่อต้องเรียนหนักขึ้น เขาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องที่ต้องไปช่วยพ่อกับแม่ทำงานเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว พร้อมมองถึงเส้นทางหลังเรียนจบไว้ว่าอยากทำงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในส่วนที่ใช้เทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์ รวมถึงหากมีโอกาสก็อยากจะเรียนต่อในสายแมคคาทรอนิกส์ให้ไกลที่สุด

ผมมองว่าทุนนี้มีความสำคัญมากสำหรับคนที่มีความฝันที่จะเรียนในสาขาที่สนใจแต่ไม่มีทุน เพราะทุนไม่ได้ช่วยเฉพาะแค่เรื่องการเรียนหรือแค่ตัวเรา แต่ยังรวมถึงครอบครัวของเราและส่วนประกอบอื่น ๆ ทางการศึกษา รวมถึงยังมอบประสบการณ์ต่างๆ ที่เราจะได้รับอีกด้วย นั่นทำให้เราสามารถมุ่งสมาธิและความตั้งใจทุกอย่างไปที่การเรียนอย่างเต็มที่ได้จนเรียนจบ แบงค์กล่าว

 

ทุนฯ จะยิ่งทวีความสำคัญ หากเราได้ส่งไปถึงถึงคนที่ต้องการจริงๆ

ดร.คมสรรค์ ภูทอง อาจารย์หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีธุรกิจดิจิตอล วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ผู้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้น้อง ๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมาตั้งแต่รุ่น 1 และเป็นหนึ่งในพลังผลักดันที่ทำให้น้องแบงค์ได้มุ่งสู่เส้นทางการเรียนสายอาชีพดังที่หวังไว้ เล่าว่า การได้ใกล้ชิดดูแลและร่วมค้นหานักศึกษาทุน ฯ ทั้ง 2 รุ่น ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า มีน้องๆ ที่ลำบาก ขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก 

จากการได้สัมภาษณ์ ได้รู้ประวัติของเด็ก และได้ลงไปเยี่ยมบ้าน พบว่าหลายคนมีผลการเรียนที่ดี มีความตั้งใจศึกษาต่อ รวมถึงรู้ว่าตนเองถนัดหรือสนใจในสาขาวิชาใด แต่เหมือนว่าเขายังหาทางไม่เจอว่าจะไปต่อในขั้นตอนที่ถัดจากการศึกษาภาคบังคับอย่างไร ทั้งที่แต่ละคนต่างก็มีศักยภาพ เด็กกลุ่มนี้ถ้าเขาเข้าไม่ถึงทุนการศึกษา เขาจะไม่มีโอกาสเรียนต่อเลย บ้างอาจยังได้เรียนในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ แต่อีกหลายคนก็ต้องหยุดเส้นทางแค่นั้น แล้วออกไปทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว

“เช่นกรณีของน้องแบงค์ที่เราได้เห็นจากข้อมูลในใบสมัครว่าเขาต้องไปช่วยครอบครัวทำงานก่อสร้าง ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านเขา ตอนนั้นน้องไปทำงานอยู่ไซต์งานที่จังหวัดนครปฐม จนได้รู้ว่าเขาไม่มีเงินเรียนต่อ ไม่มีความพร้อม แต่เขามีความตั้งใจและมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเรียนต่อในสาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ ในที่สุดแบงค์ก็ผ่านการคัดเลือกได้เป็นนักศึกษาทุนฯ รุ่น 2 วันที่ต้องเซ็นสัญญารับทุน เราตัดสินใจว่าต้องเดินทางไปหาเขา ไปเพื่อโน้มน้าวให้เขาเรียนให้ได้ ซึ่งตอนนั้นน้องย้ายไปทำงานที่ไซต์งานในกรุงเทพ ฯ แล้ว”

“ถึงตอนนี้ เราก็ดีใจที่ได้เห็นเขาได้เรียนในสาขาที่ตั้งใจ ได้เข้ามาอยู่หอพักที่วิทยาลัยซึ่งช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปในอีกทางหนึ่ง เรามองว่านี่คือความสำคัญจริงๆ ของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. เพราะยังมีเด็กๆ อีกมากที่เขาเฝ้ารอโอกาสอยู่ ดังนั้นการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำโอกาสเข้าไปส่งมอบให้ถึงมือของคนที่เขาต้องการจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าทุนนี้มีความสำคัญเพียงใด”

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค