เส้นทางสู่ความฝัน จากโอกาสทางการศึกษา ก้าวข้ามกับดักความยากจน

เส้นทางสู่ความฝัน จากโอกาสทางการศึกษา ก้าวข้ามกับดักความยากจน

“ผมมักคิดเสมอว่าถ้าไม่ได้เรียนต่อ ตัวผมในวันนี้จะอยู่ตรงไหน คงวนเวียนอยู่แถวบ้าน ทำงานอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่น่ามีโอกาสต่อยอดไปไหน …จำได้ว่าตอนนั้นเคว้งมาก เพิ่งจบ ม.6 มองไม่เห็นทางไหนเลย ใจคืออยากเรียน แต่ด้วยสถานการณ์ที่บ้าน แม่บอกว่าไม่มีเงินส่งให้เรียนแล้ว”

ตูน’ อานนท์ เจริญสุข ที่วันนี้เป็นช่างเทคนิคประจำหน่วยงานวิศวกรรมปศุสัตว์ ในเครือบริษัทเบทาโกร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เล่าถึงทางแยกสำคัญของชีวิต ก่อนเข้ามาเป็นนักศึกษาโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 หลักสูตร ปวส. 2 ปี สาขาช่างกลเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย

หลังจบ ม.6 ที่บ้านเกิดในจังหวัดพิษณุโลก ตูนพยายามหาทางให้ตัวเองได้เรียนต่อ ลองค้นหาข้อมูลทุนที่มี แล้วสมัครสอบโดยหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน แต่เหมือนโอกาสมาไม่ถึงเสียที จนเขามาพบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ที่เปิดรับนักศึกษาเป็นปีแรก เมื่อเห็นว่ามีสาขาช่างกลเกษตร ซึ่งเป็นทางที่เขาสนใจ จึงตัดสินใจได้ทันที

“ตัวผมจบสายสามัญก็จริง แต่ส่วนตัวผมชอบงานช่าง ทำเป็นงานอดิเรกมาตลอด พอเห็นว่าทุนมีสายช่างกลเกษตรเลยรีบคว้าไว้ คิดว่าถ้าได้เรียนในสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้วยังไงก็น่าจะไปได้ ผมมองว่าทุนนี้พิเศษตรงที่พอเข้าไปแล้วเรามั่นใจว่าได้เรียนจนจบแน่นอน เพราะนอกจากค่าเทอมแล้วยังมีเงินสนับสนุนด้านอื่นด้วย ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลยตลอดสองปี

‘พิษณุโลก-เชียงราย-โคราช’
จากบ้าน ไปเรียน ปวส. ถึงชีวิตในฟาร์ม ความเปลี่ยนแปลงบนทางที่ทอดยาว

ในฐานะนักศึกษาทุน ตูนบอกว่า 2 ปีที่เรียน ปวส. คือช่วงเวลาที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ เมื่อการจากบ้านที่พิษณุโลกไปเรียนถึงเชียงราย นับว่าเป็นการห่างจากครอบครัวเป็นครั้งแรก ขณะที่ประสบการณ์ตอนเรียน ได้ยกระดับตัวเขาในเรื่องการรักษาระเบียบ ดูแลตัวเองให้มีวินัย ความอดทน ขัดเกลาทักษะสังคมจนสามารถปรับตัวเข้ากับผู้คนได้ทุกรูปแบบ จนได้เอามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในชีวิตการทำงาน ณ ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา

“ผมจบ ปวส. ต้นปี 64 แล้วตัดสินใจทำงานเลย ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งปีเต็มแล้วครับ งานที่ทำตอนนี้ก็ตรงสายที่เรียนเลย เป็นช่างเทคนิค ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตร ผมโชคดีที่พื้นฐานแน่น เพราะตอนเรียนกับฝึกงานได้อาจารย์ติวมาดีครับ มีสอนเพิ่มนอกเวลาเรียนด้วย มันก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่หาจากในชั้นเรียนไม่ได้”

“ถ้าย้อนไปที่จุดเริ่มต้นว่าอยากเรียนต่อ เหมือนเส้นทางมันค่อยๆ ต่อยอดมาเอง พอฝึกงานเสร็จใกล้เรียนจบ ก็มีบริษัทเข้าไปคัดเลือกนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ตัวผมเองจริงๆ ตั้งใจไว้ว่าจะเรียนต่อ แต่ช่วงเวลานี้อยากหาประสบการณ์จากการทำงาน เพราะคิดว่าในสายอาชีพ การได้อยู่หน้างานจริง ลงมือทำทุกวัน น่าจะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่ายิ่งกว่าเรียนในชั้นเรียนอย่างเดียวครับ”

ตูนบอกว่าเขาอยากทำงานสักพัก เก็บเงินทุนเรียนต่อด้วยตัวเอง แล้วจึงค่อยนำประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดในการเรียนระดับที่สูงขึ้น ส่วนแผนการสำหรับชีวิตในอนาคต เขาตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาตรีเกี่ยวกับระบบติดตั้งดูแลแอร์ในโรงงานขนาดใหญ่ เพราะเป็นสายงานที่ถนัด แล้ววันหนึ่งเมื่อสะสมทั้งทุนทรัพย์และความรู้เพียงพอ ก็จะเปิดกิจการเล็กๆ ที่บ้านในจังหวัดพิษณุโลก

“ผมอยากมีร้านของตัวเอง เป็นร้านทำระบบแอร์โรงงานและรถยนต์ด้วย ตอนนี้ก็คิดว่าจะทำงานไปอีกสักปีแล้วเรียนปริญญาตรีต่อ กับวันนี้ หนึ่งปีผ่านมาสำหรับโลกการทำงาน ผมคิดว่ามันต่างกันมากครับ ที่ชัดเลยคือเรื่องแรงกดดันต่างๆ ซึ่งเราต้องปรับตัวรับให้ได้ รู้จักการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน มีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้รับมอบหมาย

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ทำงานมาครบหนึ่งปีเต็ม ตูนบอกว่า “เหนื่อยเหมือนกันครับ …มีบ้างที่รู้สึกท้อ แต่แป๊บเดียวก็หาย เพราะยังไงเราก็ต้องไปต่อ เราอยากทำงานตรงนี้ แล้วตั้งแต่เป็นนักศึกษาทุน ผมได้เห็นว่าฐานะครอบครัวเริ่มดีขึ้น แม่ดูผ่อนคลาย ไม่กังวลเรื่องผมแล้ว มันก็ทำให้มีแรงสู้ต่อ ตอนนี้ผมดีใจที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านได้ คือวันนี้อาจยังพูดไม่ได้ว่าดีที่สุด แต่ถ้าผมไปต่อตามที่คิดไว้ได้ อนาคตมันก็จะดีได้มากกว่านี้แน่นอนครับ”

“…ก็เลยได้แต่บอกตัวเองตลอด ว่าถ้าเราหยุด ใครจะดูแลพวกเขา”

หนึ่งความภูมิใจคนแรกของครอบครัว ที่ไต่ระดับการศึกษาจนจบสูงกว่าขั้นพื้นฐาน

เราชวนตูนกล่าวอะไรสักอย่างในฐานะนักศึกษาทุน ฯ รุ่นแรก ที่เคยผ่านความลังเลสงสัยต่ออนาคต จนผ่านพ้นถึงวันที่ได้ภาคภูมิใจในตัวเอง ในฐานะสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าขั้นพื้นฐาน ได้มองเห็นทางไปต่ออีกมากมายทั้งในการงานอาชีพ หรือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปอีก

“ผมคิดว่าทุนนี้คือ ‘โอกาส’ สำหรับคนที่หาทางไปไม่เจอ ด้วยสถานะครอบครัว จังหวะชีวิต หรืออะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคกับการเรียน ทั้งที่เราเองมีฝัน มีความตั้งใจ ทุนทำให้เราได้ต่อยอดในการเรียนรู้ มีระบบดูแลที่ช่วยให้เราดึงความสามารถในตัวเองออกมา มีอาจารย์ มีเพื่อน มีทีมสนับสนุน คอยให้กำลังใจ ที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ก็เริ่มจากได้รับเลือกเป็นนักศึกษาทุนในวันนั้น”

“ตัวผมเองมาจากครอบครัวที่ไม่มีใครจบสูง พ่อแม่ผมเรียนแค่ ป.4 ส่วนพี่จบ ม.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เรารู้ว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้เราต้องหยุดไว้แค่นั้น วันนี้ผมจึงภูมิใจ ที่ได้เป็นคนแรกในบ้านที่ข้ามชั้น ม.6 ไปถึง ปวส. ได้ ทั้งยังมีโอกาสที่จะไปไกลกว่านั้นอีก”

และนี่คือเรื่องราวของตูน นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นแรก ที่ไขว่คว้าโอกาส แล้วมุ่งมั่นลงมือทำความฝันจนสำเร็จ ทั้งยังเป็นผลผลิตของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีเป้าหมายตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วรุ่น ยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในระยะยาว