‘ความพ่ายแพ้’ ที่ผลักดันให้ก้าวไปถึงอันดับหนึ่งของประเทศ’

‘ความพ่ายแพ้’ ที่ผลักดันให้ก้าวไปถึงอันดับหนึ่งของประเทศ’

ตอนรู้ว่างานของพวกเราทำได้ที่ 1 ดีใจมาก เพราะเป็นงานชิ้นแรกที่เรามีส่วนร่วมแล้วไปได้รางวัลระดับชาติ ยิ่งมองย้อนถึงเส้นทางที่ผ่านมา ว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้น เราต้องพยายาม ต้องผิดหวัง ต้องกลับมาปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นอยู่หลายครั้ง ความสำเร็จครั้งนี้จึงมีความหมายกับเรามากๆ

น้องแป้ง วันวิสา จันทบุรี นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ชั้น ปวช.2 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เผยความรู้สึก หลังพาผลงาน ‘อุปกรณ์ตากปลาอินทรีเค็มด้วยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์’ ไปรับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ในปีการศึกษา 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

 

นวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์คนในชุมชน

น้องแป้งเล่าว่าจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์ตากปลาอินทรีเค็มด้วยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ คือต้องการแก้ปัญหาเรื่องการตากปลาอินทรีในพื้นที่ โดยต้องเท้าความไปถึงชุมชนรอบๆ วิทยาลัยที่รายล้อมด้วยหมู่บ้านชาวประมง มีวิถีชีวิตคือการหาปลา นำปลาที่จับได้มาตากเพื่อถนอมอาหาร ซึ่งแต่เดิมคนในชุมชนทำกันอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งส่งผลต่อการสัญจรบนท้องถนน รวมถึงยังเกิดกลิ่นรบกวนชุมชนรอบข้าง กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในวิทยาลัย ที่นำโดยกลุ่มรุ่นพี่ชั้น ปวส.1 และ 2 (ปีการศึกษาที่แล้ว) จึงช่วยกันออกแบบเครื่องมือสำหรับตากปลาที่มีลักษณะเป็นรูปโดมขึ้น

“ทีแรกอุปกรณ์ที่ออกแบบไว้จะเป็นโดมพลาสติกใส มีจานสะสมความร้อนอยู่ข้างใน ซึ่งก็ช่วยเรื่องการจัดการพื้นที่และเรื่องกลิ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจารย์ที่ดูแลโครงการมองว่าเครื่องมือยังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านั้น แล้วเห็นว่าเราสนใจงานด้านนี้ ก็เลยดึงเข้าไปร่วมด้วย ตอนนั้นเลยเป็นน้องเล็กที่มาจากชั้น ปวช.1 คนเดียวที่ได้เข้าทีม”

 

คิดค้น ‘Scomber Capsule’ จิ๊กซอว์ที่มาช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพ

การได้น้องแป้งเข้ามาเสริมในทีม กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เครื่องมือที่ออกแบบไว้สมบูรณ์ขึ้น เมื่อน้องแป้งเป็นผู้คิดค้น Scomber Capsule อันเปรียบเสมือนชิ้นส่วนที่ช่วยยกระดับการทำงานของโดมให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เรามองว่าการมีแคปซูลจะช่วยในเรื่องการเร่งกระบวนการตากปลา เป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น ก็เลยเริ่มมองหาวัสดุที่เป็นรูปทรงกระบอกยาว ๆ ไว้ใส่ปลา ทีแรกลองใช้ขวดน้ำอัดลมก่อน ซึ่งไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ ก็ไปปรึกษากับอาจารย์จนมาจบที่โหลพลาสติกใส่ขนม เราเอามาตัดส่วนก้นออก แล้วนำมาต่อกัน พอไปลองใช้จริงก็ได้ผล จากที่ปกติปลาต้องตากแดดไว้ราว 7 วัน แต่พอเรามีแคปซูลมาช่วย ระยะเวลาก็ร่นลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 3-4 วันเท่านั้น”

 

เปลี่ยนความผิดหวังเป็นพลัง: ความพ่ายแพ้ในการแข่งขันระดับภาค ได้ผลักดันให้ก้าวไปประสบความสำเร็จระดับประเทศ

ก้าวแรกของอุปกรณ์ตากปลาอินทรีเค็มด้วยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ โดยน้องๆ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี บนเส้นทางการประกวดสิ่งประดิษฐ์นับว่าประเดิมได้ยอดเยี่ยม เมื่อได้รางวัลที่ 1 ระดับจังหวัดมาอย่างไม่ยากเย็นนัก

หากความเชื่อมั่นของพวกเขาก็ต้องสะดุดลงในงานแข่งขันระดับภาค เมื่อผลงานที่ทุกคนต่างภาคภูมิใจได้เพียงรางวัลที่ 2 พร้อมคำวิจารณ์ที่หล่นโปรยไว้ของคณะกรรมการ ซึ่งทำให้น้องๆ ต้องกลับมาครุ่นคิด

“ในโมเดลแรกๆ ชุดแคปซูลและแผ่นจานสะสมความร้อนของเรายังไม่สามารถหมุนเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งการตากได้ และเป็นคำแนะนำที่คณะกรรมการได้มอบให้กับพวกเรา หลังได้รับการประกาศให้ได้รางวัลอันดับ 2 ระดับภาค แน่นอนว่าในเวลานั้นทุกคนผิดหวัง แต่สิ่งที่เราทำต่อมาก็คือ เดินหน้าปรับปรุงผลงานให้พร้อมที่สุด สำหรับงานแข่งขันระดับชาติซึ่งเป็นเวทีต่อไป” น้องแป้งระบุ

นั่นเองจึงเป็นที่มาของการคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ชุดแคปซูลและจานสะสมความร้อนหมุนช้าๆ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งปลาที่ตากให้โดนแสงได้มากขึ้น พร้อมตั้งเวลาการหมุนได้ตามกำหนด ซึ่งได้นำพาให้นวัตกรรมชิ้นนี้ ก้าวไปคว้าตำแหน่งชนะเลิศเหรียญทองอันดับ 1 บนเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ ของ สอศ. ได้ในที่สุด

ด้วยคำประกาศจากคณะกรรมการให้เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดต้นทุนพลังงานและเวลา ช่วยป้องกันพาหะนำโรค สิ่งปลอมปนในอากาศ และกลิ่นรบกวนชุมชน ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพตามมาตรฐานกระบวนการผลิตอาหาร(GMP) และที่สำคัญคือตอบโจทย์การใช้งานจริงในพื้นที่ ทั้งในด้านชุมชนสังคม และการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม

 

บทเรียนที่สอนให้คิด ว่า ‘ไม่มีสิ่งใดที่ดีพร้อมสมบูรณ์ที่สุด’

“อย่างที่บอกว่าเมื่อมองย้อนไปถึงตอนเริ่มต้นจนถึงวันประสบความสำเร็จ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ เพราะกว่าจะถึงจุดนั้นเราต้องปรับปรุงพยายามและผ่านความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง แต่ในทางกลับกัน ข้อบกพร่องที่เรามองไม่เห็นนี่เองที่พาให้สิ่งประดิษฐ์ที่เราทำเดินไปข้างหน้าได้ คือเหมือนสิ่งที่เราคิดว่าดีแล้ว แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ คือเราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก” น้องแป้งกล่าว

บทเรียนนี้เองที่น้องแป้งเก็บมาบันทึกไว้เพื่อสอนใจตนเอง ว่าหลังจากนี้ เธอตั้งใจจะต่อยอดผลงานไปอีกระดับหนึ่งให้ได้ โดยหลังจากทีมรุ่นพี่ที่ช่วยกันสร้างเครื่องมือร่วมกันบางส่วนจบออกไปแล้วและอีกส่วนหนึ่งที่กำลังจะจบการศึกษาตามไป ขณะที่น้องแป้งกำลังจะก้าวขึ้นไปเป็นรุ่นพี่ชั้น ปวช.3 ในปีการศึกษาหน้า จึงอยู่ในช่วงเวลาของการมองหาน้องๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนางานไปด้วยกันต่อ

“เราตั้งใจว่าจะพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นตอนนี้โดมเราใส่ได้สูงสุด 18 แคปซูล ก็จะทำให้บรรจุได้เยอะขึ้น ที่สำคัญคือต้องตอบสนองการใช้งานจริงๆ ให้ได้มากที่สุด หลังจากได้รางวัลมา เราได้นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทดลองใช้ และขายไปได้ 3 เครื่อง ซึ่งถือเป็นผลตอบรับที่ดี แต่เราคิดว่าอยากให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อคนในพื้นที่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วถึง เพราะปลายทางของนวัตกรรมไม่ใช่รางวัลที่ได้รับ แต่ความสำเร็จต้องวัดผลจากการใช้งานจริง” เจ้าของรางวัลชนะเลิศงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค